#บทความ คริปโท 101 อ่านได้ EP.5 รู้จักกับ Exchange กันหน่อย

27 กรกฎาคม 2564
อ่าน 4 นาที

​​

​1. exchange ทำหน้าที่อะไร 
exchange กับ broker ทำหน้าที่ไม่เหมือนกัน broker หรือธุรกิจนายหน้าสินทรัพย์ดิจิทัล เป็นนายหน้าหรือตัวแทน ซื้อขายแลกเปลี่ยนสินทรัพย์ดิจิทัลให้แก่ผู้ที่ต้องการซื้อขาย
exchange หรือธุรกิจศูนย์ซื้อขายสินทรัพย์ดิจิทัล เป็นระบบที่อํานวยความสะดวกให้ผู้ที่ต้องการซื้อขายให้ทําความตกลงหรือจับคู่กันได้
ถ้าจับคู่ตกลงราคากันได้  exchange จะทำหน้าที่ในการส่งมอบคริปโทเคอร์เรนซีและเงินให้กับผู้ซื้อและผู้ขาย ซึ่งจะลดความเสี่ยงที่จะเกิดขึ้นในกรณีที่ผู้ซื้อผู้ขายไปตกลงกันทำการซื้อขายกันนอก exchange
โดยหลัก exchange ในประเทศไทยจะทำหน้าที่อำนวยความสะดวกในการแลกเปลี่ยนซื้อขายคริปโทเคอร์เรนซี

2. อยากซื้อขายคริปโท ต้องเปิดบัญชีอย่างไร 
การซื้อขายคริปโทเคอร์เรนซี ณ ปัจจุบันทั้งในและต่างประเทศ เป็นการเปิดบัญชีแบบออนไลน์ทั้งหมด 
มีการส่งข้อมูลออนไลน์ ไม่ว่าจะเป็นรูปบัตรประชาชนหรือรูป passport เป็นต้น ซึ่งแต่ละประเทศหรือแต่ละ exchange ที่อยู่ภายใต้ประเทศนั้น ๆ จะมีความต้องการข้อมูลเพื่อเปิดบัญชีที่แตกต่างกัน
exchange ในประเทศไทยส่วนมาก จะมี call center 24 ชั่วโมง ในกรณีที่มีการเปิดบัญชี แล้วมีปัญหาเกิดขึ้น ผู้ซื้อขายสามารถที่จะโทรไปที่ exchange เพื่อที่จะแก้ปัญหาที่เกิดขึ้นได้ 
ระบบ exchange ของไทยจะอำนวยความสะดวกและดูแลผู้ซื้อขายใกล้ชิด เมื่อเปรียบเทียบกับต่างประเทศ ที่ส่วนมากจะไม่มี call center จะต้องติดต่อผ่านอีเมล หรือติดต่อผ่านระบบแชท เป็นต้น

3. exchange มาขออนุญาต มีเกณฑ์อะไรบ้างที่กำกับดูแล
การขอใบอนุญาตประกอบธุรกิจ exchange มีหลายหลักเกณฑ์ที่ผู้ขอใบอนุญาตต้องแสดงได้ว่ามีระบบในการรองรับ เช่น Chinese wall แบ่งแยกหน่วยงานและบุคลากร เพื่อป้องกันความขัดแย้งทางผลประโยชน์ เป็นต้น
รวมถึงต้องมีการรับประกันว่า ระบบของ exchange มีความมั่นคงและความปลอดภัยจากแฮ็กเกอร์ โดยต้องผ่านกระบวนการต่าง ๆ เช่น การทำ computer audit ที่เป็นลักษณะที่ทำ information technology audit การทดสอบความเสี่ยงและช่องโหว่ของระบบ (penetration testing) ทุกปี และ ต้องมีระบบการคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล (data privacy protection) ที่ทำให้ข้อมูลของลูกค้ามีความปลอดภัย ไม่ถูกเอาไปใช้ในทางที่ผิด เป็นต้น
เกณฑ์ทั้งหมดที่ ก.ล.ต. ได้กำหนดไว้สำหรับผู้ประกอบการที่มาขอใบอนุญาตประกอบธุรกิจเกี่ยวกับสินทรัพย์ดิจิทัล เพื่อที่จะทำให้นักลงทุนได้รับการปกป้อง และถ้าเกิดปัญหาจะมีวิธีการแก้ไขปัญหาให้กับลูกค้าอย่างเหมาะสม

4. สินค้าที่ซื้อขายบน exchange มีอะไรบ้าง และมีแนวทางคัดเลือกอย่างไร 
exchange ส่วนใหญ่ มีสินทรัพย์ดิจิทัลที่ซื้อขายอยู่ 4 ประเภท
(1) คริปโทเคอร์เรนซี เป็นเหรียญที่มีในลักษณะเป็น blockchain ของตัวเอง 
โทเคน ในกฎหมายประเทศไทย แบ่งออกเป็น 2 ประเภท คือ utility token และ investment token โดยหลักแล้ว โทเคน ก็คือ เป็นเหรียญที่วิ่งอยู่บนเครือข่าย หรือ blockchain ของอีกเหรียญหนึ่ง
(2) utility token คือ โทเคนดิจิทัลเพื่อการใช้ประโยชน์ เป็นข้อมูลอิเล็กทรอนิกส์ซึ่งถูกสร้างขึ้นบนระบบหรือเครือข่ายอิเล็กทรอนิกส์ ที่ให้สิทธิแก่ผู้ถือโทเคนในการได้มาซึ่งสินค้า บริการ หรือสิทธิอื่นใดที่เฉพาะเจาะจง ซึ่งถูกใช้ในตัวโครงการ หรือระบบที่ผู้สร้างได้สร้างระบบนี้ขึ้นมา โดยการจะใช้ระบบ หรือใช้บริการนี้ ต้องใช้โทเคนตัวนี้
(3) investment token เป็นเหรียญที่คล้าย ๆ กับหน่วยลงทุนที่แสดงสิทธิที่จะได้รับสิ่งหนึ่งมา ซึ่งคล้ายกับ เงินปันผล เมื่อมีกำไรเกิดขึ้นก็จะถูกแบ่งปันส่วนหนึ่งของกำไรส่งกลับมาให้กับคนที่ถือเหรียญตัวนี้ โดยโทเคนส่วนมากจะมีทรัพย์สินอยู่เบื้องหลัง (asset backed) หากมีผลตอบแทน ผู้ที่ถือเหรียญจะได้รับเงินปันผลหรือกำไรด้วย 
(4) stablecoin หรือ stable token ส่วนมากจะเป็นเหรียญที่อิงกับค่าเงินของรัฐบาล โดยในกระดานประเทศไทยส่วนมาก จะเป็น stablecoin ที่อิงกับค่าเงินดอลลาร์สหรัฐเป็นหลัก
สรุปคือ มีทั้ง (1) คริปโทเคอร์เรนซี (2) utility token (3) investment token และ (4) stablecoin 
ทั้งนี้ utility token กับ investment token สามารถที่จะรวมอยู่เป็นหนึ่งโทเคนได้ด้วยเหมือนกัน ในกรณีเหรียญบางชนิดออกแบบมาให้ทำได้ทั้งสองอย่าง 
ในส่วนของกระดานเทรด การคัดเลือกเหรียญมาซื้อขาย จะมีเกณฑ์ที่ค่อนข้างหลากหลาย แต่ที่ exchange ต้องพิจารณาเป็นหลัก คือ คุณภาพของเหรียญที่ดี ซึ่งสามารถดูได้จาก free float ของเหรียญ และเหรียญนั้นมีการซื้อขายบนกระดานซื้อขายในต่างประเทศหรือไม่  

5. ทำไมราคาซื้อขายในแต่ละ exchange ไม่เท่ากัน ทำ arbitrage ได้ไหม
ราคาที่กระดานเทรดแต่ละที่ไม่เท่ากันเป็นเพราะแต่ละที่มีการอำนวยความสะดวกในเรื่องของการให้ผู้ใช้งานหรือลูกค้าตั้งราคาเอง  เพราะฉะนั้น ในการเทรดจะไม่เอาราคามาจากกระดานเทรดอื่นถึงแม้ว่าจะอยู่ในไทยเหมือนกัน บางคนอาจเห็นโอกาสตรงนี้แล้วเลือกที่จะซื้อจากที่ราคาถูกแล้วไปขายต่อในราคาที่แพงกว่า ซึ่งเป็นการทำ arbitrage เพื่อทำกำไรส่วนต่าง 
ในช่วงที่กระดานเทรดคริปโทเพิ่งเกิดขึ้นไม่นาน ผู้เล่นที่อยู่ในตลาดนี้ยังเป็นการซื้อขาย แบบไม่ใช้โปรแกรมคอมพิวเตอร์ หรือ bot ช่วยในการเทรดระหว่าง exchange จึงทำให้ราคาในแต่ละ exchange ยังแตกต่างกันอยู่  แต่เมื่อถึงจุดหนึ่ง กระดานเทรดจะมีราคาที่ใกล้เคียงกันอยู่ตลอดเวลา 
การทำ arbitrage อาจจะทำได้ แต่ต้องคำนึงถึงค่าธรรมเนียมในการโอนด้วย เพราะการโอนเหรียญข้าม exchange จะมีค่าธรรมเนียมการโอนเกิดขึ้น และต้องคำนึงถึงเรื่องระยะเวลาในการโอนเหรียญระหว่าง exchange เพราะไม่อย่างนั้น แทนที่จะกำไร ก็อาจจะขาดทุนได้

6. กรณีที่ผู้ใช้บริการมีปัญหา exchange ช่วยแก้ปัญหาอย่างไร
ปัญหาส่วนใหญ่ที่พบ ขอยกตัวอย่าง 2 กรณี คือ เหรียญหายและเงินไม่เข้า 
ปัญหาเงินไม่เข้า เนื่องจากเราโอนเงินเข้าไปในบัญชีธนาคารของกระดานเทรดคริปโทแล้ว แต่เงินไม่โชว์ในระบบ เกิดขึ้นได้หลายสาเหตุ โดยสาเหตุหนึ่งที่พบบ่อย คือ ารโอนไปบัญชีที่ชื่อไม่ตรงกับชื่อที่ใช้สมัครไว้กับระบบ เช่น ใช้บัญชีของญาติหรือเพื่อนโอนเข้ามา
ซึ่งระบบดูแลความปลอดภัยของกระดานเทรด กำหนดไว้ว่า กรณีที่มีการโอนเงินเข้ามา จะต้องเป็นเงินของผู้สมัครใช้งานจริง ๆ (ชื่อตรงกัน) เพื่อปกป้องลูกค้าจากมิจฉาชีพที่ต้องการทำให้ลูกค้าเดือดร้อน
แนวทางแก้ไข คือ ลูกค้าสามารถติดต่อกับทาง exchange เพื่อที่จะขอเงินคืน เพราะกระดานเทรดไม่สามารถที่จะรับเงินตรงนั้นได้เหมือนกัน และการคืนเงินก็ต้องคืนเงินไปที่บัญชีต้นทางที่โอนเงินเข้ามา
ปัญหาเหรียญหาย เป็นปัญหาที่พบบ่อยจากคนเทรดใหม่ ที่เข้าใจว่า เวลาโอนคริปโทแล้วจะแสดงธุรกรรม (transaction) เข้าทันที ซึ่งในความเป็นจริงต้องเข้าใจว่า เทคโนโลยีบล็อกเชน ไม่ได้ทำงานแบบ real time จะต้องรอสักระยะหนึ่งเพื่อยืนยันธุรกรรม ซึ่งระยะเวลานานเท่าใดขึ้นอยู่กับแต่ละกระดานเทรดด้วย เช่น บิตคอยน์ เมื่อโอนจากอีกที่หนึ่งไปอีกที่หนึ่งอาจใช้ระยะเวลาโดยเฉลี่ยประมาณ 10 นาที หรือบางกระดานเทรดอาจใช้เวลาถึง 60 นาที 
อีกสาเหตุถึงที่เกิดปัญหาเหรียญหาย คือ การใส่ address ไม่ครบ ตัวอย่าง บิตคอยน์จะมีหมายเลขบัญชีของบิตคอยน์เลขเดียว แต่เหรียญอื่นที่ใช้บล็อกเชนแบบใหม่ เช่น XRP (ริปเปิล) หรือเหรียญ XLM (สเตลลาร์) จะมี tag หรือ memo เพิ่มขึ้นมา ก็จะลืมใส่ tag หรือ memo นั้น ทำให้คริปโทไม่โชว์ในระบบ ซึ่งเป็นปัญหาเรื่องความเข้าใจและความรู้พื้นฐานเกี่ยวกับลักษณะการโอนของแต่ละเหรียญ แนวทางแก้ไขคือ ติดต่อ exchange แล้วแสดงหลักฐานว่าเป็นคนโอนเข้ามาในบัญชีของเขาเองจริง ๆ ซึ่งตรงนี้ก็จะใช้เวลาค่อนข้างที่จะนาน 
และอีกสาเหตุหนึ่งที่ร้ายแรงกว่า คือ โอนผิด network แต่ละเหรียญมี network ที่แตกต่างกัน ยกตัวอย่าง Bitcoin Cash มี address หลายระบบ ในแต่ละ address จะมีรูปแบบ (format) ที่แตกต่างกันไป ทำให้หลายครั้งมีการโอนผิดระบบ ไปใช้ address ในระบบเก่า แทนที่จะโอนมาใน address ระบบใหม่ ซึ่งแต่ละ network มี address ที่แตกต่างกัน เพราะฉะนั้น ผู้ใช้งานต้องศึกษาว่า กระดานเทรดรองรับ network แบบไหนในการโอนเหรียญ เพราะหากโอนไปผิด address หรือโอนผิด network แล้ว จะกู้คืนยากมาก

7. ก่อนซื้อขายกับ exchange ต่างประเทศ ต้องระวังอะไรบ้าง
ไม่ว่าจะเป็น exchange ในประเทศไทยหรือต่างประเทศ ผู้ซื้อขายไม่ควรที่จะฝากคริปโทเคอร์เรนซีไว้กับ exchange จำนวนมาก ๆ การที่จะลดความเสี่ยงในตรงนี้ลงได้ คือการเก็บคริปโทเคอร์เรนซีของเราไปในกระดานเทรดในจำนวนที่น้อยที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้
การจะรู้ว่าเว็บเทรดต่างประเทศเป็นเว็บหลอกหรือไม่ วิธีที่ง่ายที่สุด คือ การอ่านรีวิว ซึ่งในเว็บต่างประเทศมีรีวิวค่อนข้างเยอะ ในลักษณะที่เป็น customer experience  การใช้งานของแพลตฟอร์ม เวลาที่มีปัญหาเกิดขึ้นมีวิธีการช่วยเหลือลูกค้าอย่างไร รวมถึงดูว่าทีมงานที่ทำเว็บเทรดที่อยู่ต่างประเทศนั้นเป็นใคร ถ้าเป็นทีมที่ไม่เปิดเผยตัวตน เราควรพึงระวังไว้ว่าอาจไม่มีความน่าเชื่อถือ และควรระมัดระวังในการนำคริปโทเคอร์เรนซีไปฝากไว้ 
ทั้ง exchange ไทยและต่างประเทศ จะมีหน่วยงานที่คอยกำกับดูแลอยู่ ประเทศไทยมี ก.ล.ต. ที่เป็นหน่วยงานที่กำกับดูแล  เพราะฉะนั้น ในกรณีที่ต้องการที่จะเทรด หรือซื้อขายสินทรัพย์ดิจิทัลในประเทศ ควรตรวจสอบข้อมูลของ exchange ในเว็บไซต์ของ ก.ล.ต. ว่ามีผู้ประกอบการรายใดบ้าง ที่ได้รับอนุญาตให้บริการเกี่ยวกับการซื้อขายสินทรัพย์ดิจิทัล ในกรณีที่ผู้ให้บริการที่ไม่มีรายชื่อของผู้ได้รับอนุญาต สามารถอนุมานได้ว่าผู้ประกอบการเหล่านั้นมีเจตนาที่ไม่ซื่อตรง ทำให้ต้องระมัดระวังอย่างมากในการซื้อขายสินทรัพย์ดิจิทัลกับผู้ประกอบการเหล่านั้น
_______________

อ้างอิงจากความรู้พื้นฐาน คริปโท 101 ตอนที่ 5 หัวข้อ "รู้จักกับ Exchange กันหน่อย” โดย คุณปรมินทร์ อินโสม กรรมการและผู้ก่อตั้ง บริษัท สตางค์ คอร์ปอเรชั่น เผยแพร่ครั้งแรกเมื่อวันที่ 6 พฤษภาคม 2564 ทางเฟซบุ๊กเพจ สำนักงาน กลต. และ Start-to-invest โดยข้อคิดเห็นที่ปรากฏนี้เป็นความเห็นส่วนตัวของวิทยากร มิใช่ของสำนักงาน ก.ล.ต.
สามารถดูคลิปฉบับเต็มได้ที่ https://youtu.be/_EV4oPn26sA​   

​​