ยกระดับการสกัดกั้นบัญชีม้าสินทรัพย์ดิจิทัล

31 มีนาคม 2568
อ่าน 4 นาที

​​

สำหรับท่านที่ติดตามการดำเนินงานของ ก.ล.ต. น่าจะทราบว่า ก.ล.ต. ให้ความสำคัญกับการป้องกันและ
ป้องปรามการหลอกลวงลงทุน โดยจัดทำแอปพลิเคชัน “SEC Check First” เป็นเครื่องมือให้สามารถ
ตรวจสอบรายชื่อบริษัท บุคคล ที่อยู่ภายใต้การกำกับดูแลของ ก.ล.ต. ก่อนการใช้บริการ มีการจัดตั้ง “สายด่วน
แจ้งหลอกลงทุน 1207 กด 22” เพื่อรับแจ้งเบาะแสเกี่ยวกับการดำเนินการที่น่าสงสัย หรือสงสัยว่าถูกชักชวน
หลอกลงทุน โดยนำไปสู่การประสานงานกับผู้ให้บริการแพลตฟอร์มสื่อสังคมออนไลน์เพื่อปิดกั้นบัญชีที่เข้าข่าย
หลอกลวงลงทุน และภารกิจอีกด้านหนึ่ง คือ การสกัดกั้น “บัญชีม้าสินทรัพย์ดิจิทัล” เพื่อป้องกันไม่ให้
กลุ่มมิจฉาชีพสามารถทำธุรกรรมซื้อขายสินทรัพย์ดิจิทัล และใช้สินทรัพย์ดิจิทัลเป็นช่องทางถ่ายเททรัพย์สิน
จากการกระทำความผิด

ที่ผ่านมา ก.ล.ต. ได้ทำงานร่วมกับสมาคมการค้าผู้ประกอบธุรกิจสินทรัพย์ดิจิทัลไทย (TDO) และผู้ประกอบ
ธุรกิจสินทรัพย์ดิจิทัลอย่างใกล้ชิดและต่อเนื่อง โดยได้ร่วมกันกำหนดมาตรการจัดการบัญชีม้าสินทรัพย์ดิจิทัล
เพื่อยกระดับมาตรการคัดกรองและตรวจสอบบัญชีม้าให้เข้มข้น เท่าทัน และครอบคลุมลักษณะหรือพฤติกรรม
เสี่ยงของบัญชีม้ามากยิ่งขึ้น จากเดิมที่เข้มข้นอยู่แล้วนะครับ

เพราะผู้ประกอบธุรกิจสินทรัพย์ดิจิทัลภายใต้กำกับดูแลของ ก.ล.ต. เป็น “สถาบันการเงิน” ตาม พ.ร.บ.
ป้องกันและปราบปรามการฟอกเงินฯ ผู้ประกอบธุรกิจจึงมีหน้าที่ต้องทำความรู้จักลูกค้าผ่านกระบวนการ
ทำ Know Your Customer (KYC) และ Customer Due Diligence (CDD) ในการรับลูกค้าเข้ามาเปิดบัญชี
ซื้อขายสินทรัพย์ดิจิทัลในระดับที่เข้มที่สุดตามมาตรฐานของสำนักงานป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน (ปปง.)

แต่เพื่อเป็นการยกระดับมาตรการจัดการบัญชีม้าสินทรัพย์ดิจิทัล เมื่อเดือน พ.ค. 2567 ทาง ก.ล.ต. จึงได้
ผลักดันให้เกิดการจัดทำแนวทางในการพิจารณาลักษณะลูกค้าและธุรกรรมที่ต้องสงสัยในด้านสินทรัพย์ดิจิทัล
และ TDO จึงออกแนวทางปฏิบัติงาน เรื่อง การพิจารณาบัญชีต้องสงสัยว่าถูกใช้ในการกระทำความผิด โดยหาก
พบลูกค้าหรือธุรกรรมน่าสงสัย ผู้ประกอบธุรกิจจะต้องตรวจสอบเพื่อทราบข้อเท็จจริงเกี่ยวกับลูกค้าในระดับ
เข้มข้น (Enhanced CDD)

นอกจากนี้ ก.ล.ต. ยังได้ออกหนังสือเวียนไปยังผู้ประกอบธุรกิจศูนย์ซื้อขายสินทรัพย์ดิจิทัล นายหน้าซื้อขาย
สินทรัพย์ดิจิทัล และผู้ค้าสินทรัพย์ดิจิทัลทุกแห่ง นำแนวทางปฏิบัติงานของ TDO ไปปรับใช้ เพื่อสนับสนุน
และบูรณาการการป้องกันและปราบปรามอาชญากรรมทางเทคโนโลยี รวมทั้งสร้างความน่าเชื่อถือให้แก่
อุตสาหกรรมสินทรัพย์ดิจิทัลในประเทศไทย ซึ่งต้องขอบคุณ TDO และผู้ประกอบธุรกิจที่เห็นความสำคัญ
ในเรื่องนี้ด้วยนะครับ

นอกจากนี้ ก.ล.ต. ได้ร่วมประชุมเชิงปฏิบัติการ (workshop) กับ TDO และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เมื่อวันที่
13 และ 24 ก.พ. เพื่อกำหนดมาตรการเพิ่มเติมในการจัดการปัญหาบัญชีม้า ยกระดับการป้องกันไม่ให้มี
การถ่ายเทเงินที่ได้รับจากการกระทำความผิดเข้าสู่อุตสาหกรรมสินทรัพย์ดิจิทัลไทย ตลอดจนกำหนดกรอบ
เวลาดำเนินการที่ชัดเจนของผู้ที่เกี่ยวข้อง

และสด ๆ ร้อน ๆ เมื่อวันที่ 12 มี.ค. ที่ผ่านมา ก.ล.ต. ร่วมกับ TDO และผู้ประกอบธุรกิจสินทรัพย์ดิจิทัลจัดทำ
มาตรการและออก“มาตรฐานการประกอบธุรกิจในอุตสาหกรรมสินทรัพย์ดิจิทัล” หรือ Industry Standard
เพื่อกำจัดและสกัดกั้นบัญชีม้าสินทรัพย์ดิจิทัล โดย ก.ล.ต. ได้กำหนดให้ Industry Standard ดังกล่าวเป็น
แนวปฏิบัติของศูนย์ซื้อขายสินทรัพย์ดิจิทัล นายหน้าซื้อขายสินทรัพย์ดิจิทัล และผู้ค้าสินทรัพย์ดิจิทัลตามประกาศ
ที่เกี่ยวข้อง ซึ่งช่วยป้องกันการถ่ายเทเงินของผู้เสียหายแปลงเป็นสินทรัพย์ดิจิทัลผ่านบัญชีม้าสินทรัพย์ดิจิทัล
ซึ่งครอบคลุมถึงการสกัดกั้นบัญชีม้าที่เปิดใหม่ การตรวจจับพฤติกรรมผิดปกติของลูกค้า รวมทั้งการตรวจสอบ
และดำเนินการกับบัญชีซื้อขายสินทรัพย์ดิจิทัลที่เข้าข่ายเป็นบัญชีม้า รวมถึงการแลกเปลี่ยนข้อมูลบัญชีม้า
จากภาคธนาคารและหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง นอกจากนี้ ผู้ประกอบธุรกิจสินทรัพย์ดิจิทัลมีหน้าที่ต้องตรวจสอบ
(revisit) บัญชีลูกค้าที่เปิดไว้กับผู้ประกอบธุรกิจสินทรัพย์ดิจิทัลอยู่แล้วด้วย ซึ่งจะช่วยเพิ่มประสิทธิภาพในการ
สกัดกั้นบัญชีม้าสินทรัพย์ดิจิทัล

ขณะนี้ผู้ประกอบธุรกิจสินทรัพย์ดิจิทัลหลายรายได้เริ่มนำมาตรการดังกล่าวไปใช้สกัดกั้นบัญชีม้าบ้างแล้ว
และคาดว่า ในช่วงปลายเดือน มี.ค. นี้ จะมีการนำมาตรการไปบังคับใช้อย่างเข้มข้น เพื่อให้เป็นมาตรฐาน
ของอุตสาหกรรมสินทรัพย์ดิจิทัลของไทยครับ

นอกจากผู้ประกอบธุรกิจจะดำเนินการอย่างเข้มข้นแล้ว ก.ล.ต. เองก็จะมีการตรวจสอบระบบงานทำความรู้จัก
ลูกค้าของผู้ประกอบธุรกิจผ่านการติดตามทั้งจากสถานที่ทำการของผู้ประกอบธุกิจ (on-site inspection)
และจากข้อมูลหรือรายงานต่าง ๆ (off-site monitoring) อย่างต่อเนื่อง เพื่อให้มั่นใจว่าผู้ประกอบธุรกิจ
สินทรัพย์ดิจิทัลได้ดำเนินการตามหลักเกณฑ์ มาตรการ และมาตรฐานการประกอบธุรกิจที่กำหนดไว้ด้วยครับ
พร้อมกันนี้ ยังร่วมกับ TDO ในการติดตามและประเมินผลการดำเนินมาตรการอย่างต่อเนื่อง และทบทวน
ประสิทธิผลของมาตรการที่ใช้เพิ่มเติมต่อไป เพื่อให้มาตรการต่าง ๆ มีประสิทธิภาพสูงสุด สามารถสกัดบัญชีม้า
ที่มาช่องทางนี้ให้ได้มากที่สุด

นอกจากนี้ ก.ล.ต. ในฐานะกรรมการในคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามอาชญากรรมทางเทคโนโลยี
ซึ่งประกอบไปด้วยหลายหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เช่น กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม สำนักงานตำรวจ
แห่งชาติ ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) และ ปปง. เป็นต้น ได้ร่วมพิจารณาให้ความเห็นและบูรณาการ
แนวทางในการป้องกันและปราบปรามอาชญากรรมทางเทคโนโลยีอย่างโดยตลอด

อย่างไรก็ตาม ในการสกัดกั้นบัญชีม้าให้ได้อย่างมีประสิทธิภาพ นอกจากจาก ก.ล.ต. และหน่วยงานต่าง ๆ จะ
ร่วมมือกันอย่างเข้มข้นแล้ว ก็ต้องอาศัยความร่วมมือจากทุกท่าน โดยต้องไม่รับเปิดบัญชีม้ากับธนาคารพาณิชย์
และผู้ประกอบธุรกิจสินทรัพย์ดิจิทัล เพื่อให้คนร้ายใช้เป็นเครื่องมือในการกระทำความผิด รวมทั้งต้อง
ระมัดระวังในการทำธุรกรรมทางการเงินการลงทุน ไม่ตกเป็นเครื่องมือให้กับมิจฉาชีพ ซึ่งหากพบเห็น
พฤติกรรมที่อาจเข้าข่ายบัญชีม้า สามารถแจ้งเบาะแสมาได้ที่ “สายด่วนแจ้งหลอกลงทุน” ของ ก.ล.ต.
โทร. 1207 กด 22 หรือส่งมาที่อีเมล Scamalert@sec.or.th ได้อีกช่องทางหนึ่งครับ

                                           **************************

จากบทความ "ยกระดับการสกัดกั้นบัญชีม้าสินทรัพย์ดิจิทัล" โดยนายเอนก อยู่ยืน รองเลขาธิการ และโฆษก สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.)  ในคอลัมน์ "คุยกับ ก.ล.ต." นสพ.กรุงเทพธุรกิจ