ทุกวันนี้เพียงแค่เปิดเข้าไปในสื่อสังคมออนไลน์ ก็จะมี “ข้อมูลข่าวสาร” สารพัดเรื่องหลั่งไหลเข้ามาหาเราเป็น
จำนวนมาก รวมถึงเรื่องการลงทุนในสินทรัพย์ประเภทต่าง ๆ เช่น หุ้น หุ้นกู้ ทองคำ และสินทรัพย์ดิจิทัล
รวมถึงกลุ่มมิจฉาชีพหลอกลวงให้ลงทุนที่มีวิธีการใหม่ ๆ มาหลอกล่อให้เราติดกับดักอยู่เรื่อย ๆ (ถ้าพบ
หลอกลวงแบบนี้ให้แจ้งเบาะแสที่“สายด่วนแจ้งหลอกลงทุน” ของ ก.ล.ต. โทร 1207 กด 22 ได้เลยนะครับ)
สำหรับผู้ลงทุนในหุ้นสามารถติดตามข้อมูลบริษัทจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ที่มีผลกระทบต่อราคาและ
การตัดสินใจลงทุน ซึ่งจะมีการเปิดเผยข้อมูลอย่างเป็นทางการผ่านตลาดหลักทรัพย์ส่วนคำแนะนำการลงทุน
หรือบทวิเคราะห์เพื่อประกอบการตัดสินใจลงทุน ขอให้ใช้ข้อมูลจากนักวิเคราะห์ที่ได้รับใบอนุญาตจาก ก.ล.ต.
แต่ถ้าเป็นคำแนะนำที่มาในรูปแบบ “เขาบอกว่า...” หรือ “ได้ยินมาว่า...” ต้องระวังให้มาก ๆ
โดยเฉพาะที่เขาบอกว่าเป็นข้อมูลภายในของบริษัทหรือข้อมูลลับที่ยังไม่ได้เปิดเผยที่ไหนมาก่อน เพราะ
“ข้อมูล (ที่อ้างว่า) ลับ” อาจกลายเป็น “ข้อมูลลวง” ก็ได้และที่สำคัญผู้เปิดเผยข้อมูลภายใน ผู้เผยแพร่
ข้อมูลเท็จ อาจเข้าข่ายกระทำความผิดตาม พ.ร.บ. หลักทรัพย์ฯ ด้วยนะครับ
สำหรับบริษัทจดทะเบียนและผู้เกี่ยวข้องที่สามารถเข้าถึง “ข้อมูลภายใน” หรือ “ข้อมูลที่มีผลกระทบต่อราคา
หุ้น” จะจัดการอย่างไรให้แน่ใจว่า ผู้ลงทุนได้รับรู้ข้อมูลอย่างเท่าเทียม
เรื่องนี้ ก.ล.ต. ได้จัดทำ “แนวปฏิบัติในการจัดการข้อมูลลับที่มีผลกระทบต่อราคาหลักทรัพย์” ซึ่งมั่นใจว่า
ผู้เกี่ยวข้อง เช่น ผู้บริหารบริษัท กรรมการ พนักงาน และที่ปรึกษาการลงทุน จะรับทราบแนวปฏิบัตินี้กันเป็น
อย่างดีอยู่แล้ว แต่เพื่อให้ผู้อ่านได้ทราบด้วย จึงขอนำมาย้ำกันดัง ๆ ตรงนี้อีกสักครั้งนะครับ
อ่านรายละเอียดเพิ่มเติมสามารถสแกน QR code ในภาพประกอบ หรือคลิกลิงก์นี้
สำหรับข้อมูลที่จะได้รับการพิจารณาว่าเป็น “ข้อมูลภายใน” ที่ห้ามเปิดเผยนั้นจะหมายถึง ข้อมูลของบริษัท
จดทะเบียนหรือบุคคลวงใน ที่ยังไม่ได้เปิดเผยต่อประชาชนเป็นการทั่วไป ซึ่งเป็นสาระสำคัญต่อการ
เปลี่ยนแปลงราคาหรือมูลค่าของหลักทรัพย์และเป็นข้อมูลที่มีความชัดเจนเพียงพอที่ผู้ลงทุนน่าจะนำไปใช้
ประกอบการตัดสินใจลงทุน นอกจากนี้ ยังรวมถึงข้อมูลที่ตลาดหลักทรัพย์ฯ กำหนดให้บริษัทจดทะเบียนมี
หน้าที่ต้องเปิดเผยต่อผู้ลงทุนด้วย ดังนั้น ข้อมูลที่เข้าข่ายเป็น “ข้อมูลภายใน” จะเป็นไปได้หลายประเภท เช่น
ผลการดำเนินงาน ไม่ว่าจะเป็นกำไรหรือขาดทุน รายได้ที่มีลักษณะเปลี่ยนแปลงอย่างมีนัยสำคัญ การเข้าทำ
สัญญาหรือได้มาซึ่งโครงการขนาดใหญ่การประกาศจ่ายเงินปันผล การเพิ่มทุนหรือลดทุน และการ
เปลี่ยนแปลงนโยบายการบัญชีที่สำคัญ
ในขณะนี้บริษัทจดทะเบียนมีหน้าที่เปิดเผยข้อมูลที่มีผลต่อการเปลี่ยนแปลงราคาหรือมูลค่าของหลักทรัพย์
ทันทีที่สามารถทำได้ โดยการเปิดเผยผ่านตลาดหลักทรัพย์ฯ เพื่อให้ผู้ลงทุนทุกคนสามารถเข้าถึงข้อมูลได้อย่าง
เท่าเทียมกัน แต่หากเป็นข้อมูลที่ยังไม่สามารถเปิดเผยต่อผู้ลงทุนได้ เช่น ยังไม่มีผลสรุปหรือมีความไม่แน่นอน
สูง บริษัทจดทะเบียนสามารถจัดการได้ตามแนวทาง 3 ข้อนี้
1. เปิดเผยข้อมูลทันทีที่มีความแน่นอน : สำหรับข้อมูลภายในที่ยังไม่มีผลสรุปหรือมีความไม่แน่นอนสูง เช่น
เรื่องที่อยู่ระหว่างการเจรจา บริษัทจดทะเบียนจึงยังไม่สามารถเปิดเผยข้อมูลนั้นได้เพราะอาจมีผลต่อการ
เจรจา อย่างไรก็ตาม เมื่อสามารถสรุปผลได้หรือมีความแน่นอนแล้วต้องเปิดเผยข้อมูลนั้นทันที
2. มีการรักษาความลับของข้อมูลภายในที่ยังไม่เปิดเผย : ในระหว่างที่ยังไม่สามารถเปิดเผยข้อมูลได้ บริษัท
จดทะเบียนมีหน้าที่ดูแลจัดการรักษาความลับของข้อมูลตามแนวปฏิบัติฯ เพื่อป้องกันมิให้ผู้ใดนำไปแสวงหา
ประโยชน์ หรือเปิดเผยโดยมิชอบ
3. กรณีมีความเสี่ยงที่ข้อมูลจะรั่วไหล : ในกรณีบริษัทจดทะเบียนประเมินได้ว่า มีความเสี่ยงที่ข้อมูลจะรั่วไหล
ก่อนที่จะสามารถยืนยันข้อเท็จจริงและผลกระทบที่เกี่ยวข้องได้ บริษัทจดทะเบียนควรเปิดเผยข้อมูลเบื้องต้น
เกี่ยวกับสถานการณ์นั้น โดยให้รายละเอียดเท่าที่จะสามารถระบุได้อธิบายเหตุผลที่ยังไม่สามารถให้ข้อเท็จจริง
ที่ครบถ้วน และยืนยันว่าจะเปิดเผยรายละเอียดทันทีที่ทำได้
แต่หากเกิดเหตุที่มีข้อมูลรั่วไหลออกไป ซึ่งอาจเกิดจากการเปิดเผยโดยไม่ได้ตั้งใจ หรือมีข่าวลือ บริษัทจดทะเบียน
ต้องชี้แจงหรือเปิดเผยข้อมูลตามแนวปฏิบัติฯ และหลังจากนั้นควรมีกระบวนการทบทวนการให้ข้อมูลกับ
บุคคลเฉพาะกลุ่ม เช่น การจัดกิจกรรมพบผู้ลงทุน เพื่อสอบทานว่ามีการให้ข้อมูลหรือตอบคำถามในส่วนของ
ข้อมูลภายในที่ยังไม่เปิดเผยหรือไม่
ดังนั้น หากท่านเป็น “ผู้เกี่ยวข้อง” ที่รู้ข้อมูลภายในของบริษัทต้องระมัดระวังการให้ข่าว การบอกกล่าวกับ
บุคคลอื่น และการโพสต์ข้อความในสังคมออนไลน์ โดยเฉพาะข้อมูลที่อาจส่งผลกระทบต่อราคาหุ้นหรือชี้นำ
ราคาหุ้นเพราะอาจเป็นการเปิดเผยข้อมูลภายในได้ นอกจากนี้ ผู้ที่ล่วงรู้ “ข้อมูลภายใน” แล้วนำไปใช้
ประโยชน์ในทางมิชอบ หรือมีการซื้อขายหลักทรัพย์ก็อาจเข้าข่ายเป็นการกระทำผิดตามกฎหมายได้นะครับ
ซึ่งครั้งหน้าเราจะมาคุยเรื่องนี้กัน
มีอีกเรื่องที่ต้องระมัดระวัง คือ หากข้อความที่สื่อสารหรือเผยแพร่ ไม่เป็นจริง หรืออาจทำให้ประชาชนและ
ผู้ลงทุนเข้าใจผิดเกี่ยวกับฐานะทางการเงิน ผลการดำเนินงาน ราคาซื้อขายหลักทรัพย์ หรือข้อมูลใดที่เกี่ยวกับ
บริษัทจดทะเบียน นอกจากจะทำให้บริษัทจดทะเบียนเสียหายและเข้าข่ายเป็นการกระทำอันไม่เป็นธรรม
เกี่ยวกับการซื้อขายหลักทรัพย์แล้ว ยังมีผลกระทบต่อความน่าเชื่อถือของบริษัทจดทะเบียนด้วย จึงขอย้ำเตือน
ผู้บริหารบริษัทจดทะเบียนและผู้เกี่ยวข้องทุกท่าน มาร่วมกันสร้าง Trust and Confidence ในตลาดทุน
ไทย และสร้างความเป็นธรรมต่อผู้ลงทุน โดยการให้ข้อมูลที่ครบถ้วน ถูกต้อง ทันต่อเหตุการณ์และไม่ชี้นำ
ให้ผู้ลงทุนสำคัญผิดกันนะครับ
**************************
จากบทความ "ข้อมูลภายในบริษัทจดทะเบียน ผู้บริหารเปิดเผยอย่างไรไม่ผิดกฎหมาย?" โดยนายเอนก อยู่ยืน รองเลขาธิการ และโฆษก สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) ในคอลัมน์ "คุยกับ ก.ล.ต." นสพ.กรุงเทพธุรกิจ