กองทุนสำรองเลี้ยงชีพ เป็นทางเลือกการออมเพื่อเกษียณที่ดีมากสำหรับมนุษย์เงินเดือน เพราะเป็นรูปแบบการลงทุนที่ออกแบบมาเพื่อส่งเสริมการออมระยะยาว มีเป้าหมายให้ผู้ออมมีเงินใช้หลังเกษียณ สามารถพึ่งพาตัวเองได้ ในภาวะที่ประเทศเข้าสู่สังคมผู้สูงวัย
ลักษณะของกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ เหมือนกับกองทุนรวมทั่วไปตรงที่ มีมืออาชีพบริหาร และเป็นการลงทุนในสินทรัพย์ทางการเงินซึ่งมีโอกาสสร้างผลตอบแทนสูงกว่าดอกเบี้ย ส่วนความต่างซึ่งเป็นจุดเด่นของกองทุนเพื่อการเกษียณประเภทนี้ คือ
• สร้างวินัยออมก่อนใช้โดยหักจากบัญชีทุกเดือน
• มีนายจ้างสมทบเงินเข้ากองทุนให้
• ได้สิทธิลดหย่อนภาษีตลอดเส้นทางออม จวบจนเกษียณหรืออายุ 55 ปี
• มีคณะกรรมการกองทุน (Fund Committee : FC) ช่วยดูแลประโยชน์ให้สมาชิก มีหน้าที่ติดตามดูแลการดำเนินงานของผู้จัดการกองทุนให้อีกชั้นหนึ่ง

ศิษฏศรี นาคะศิริ ผู้อำนวยการฝ่ายกำกับธุรกิจออกแบบการลงทุนและกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ สำนักงาน ก.ล.ต. กล่าวว่า แนวทางหนึ่งที่จะทำให้เงินออมในกองทุนสำรองเลี้ยงชีพงอกเงยเติบโต คือ การดูแลความเสี่ยงให้เหมาะสม โดยความเสี่ยงในที่นี้ไม่ได้หมายความผันผวนของตลาดเท่านั้น แต่เป็นความเสี่ยงจากการเลือกนโยบายลงทุนที่มีความเสี่ยงต่ำเกินไป
จากสถิติพบว่า เงินกองทุน 41.3% ลงทุนในเงินฝากและตราสารหนี้ที่มีความมั่นคงสูง เช่น พันธบัตรรัฐบาล และอีก 30.4% ลงทุนในหุ้นกู้เอกชนที่มีอันดับความน่าเชื่อถือในระดับที่ลงทุนได้ (investment grade) ทำให้ผลตอบแทนต่ำจนเงินออมเติบโตไม่พอใช้ยามเกษียณ
“ช่วงอายุน้อยที่มีเวลาพลิกตัวได้มาก ควรมองการลงทุนใน Growth Asset เช่น สินทรัพย์ทางเลือกอย่างทองหรือหุ้นต่างประเทศ เพื่อเป็นการกระจายความเสี่ยงและเพิ่มโอกาสรับผลตอบแทนที่เหมาะสม แต่หากใกล้เกษียณแล้วคงรับความเสี่ยงไม่ได้มากแล้ว เพราะต้องเผื่อเจอกับสถานการณ์ที่ไม่คาดฝัน อย่างเช่นโควิดในช่วงที่ผ่านมา”
เมื่อทำเงินออมเพื่อเกษียณให้งอกเงยแล้ว อีกด้านหนึ่งก็ต้องรักษาสิทธิประโยชน์ทางภาษี หากต้องออกจากงาน วิธีบริหารจัดการเงินกองทุนสำรองเลี้ยงชีพโดยไม่กระทบสิทธิทางภาษีมี 3 วิธี ได้แก่
1. RMF for PVD - ย้ายเงินไปออมต่อในกองทุนรวมเพื่อการเลี้ยงชีพ (RMF) ที่ตั้งขึ้นเพื่อรับโอนเงินกองทุนสำรองเลี้ยงชีพโดยเฉพาะ โดยไม่เสียภาษีภายใต้เงื่อนไขถืออย่างน้อย 5 ปี และคงเงินไว้จนอายุ 55 ปี ปัจจุบันมีกองทุน RMF for PVD จำนวน 59 กองทุน จาก 10 บลจ.
2. โอนย้ายไปที่ทำงานใหม่ – หากที่ทำงานใหม่มีกองทุนสำรองเลี้ยงชีพให้พนักงาน ก็สามารถโอนย้ายเงินกองทุนสำรองเลี้ยงชีพจากที่ทำงานเดิม ไปยังที่ทำงานใหม่ได้โดยไม่เสียภาษีและได้ลงทุนต่อเนื่อง
3. คงเงินไว้ที่กองทุนเดิม - ตามระยะเวลาที่กำหนดในข้อบังคับกองทุน โดยเงินที่คงไว้จะได้รับเงินส่วนผลประโยชน์จากการลงทุนต่อไป แต่จะไม่ได้รับเงินสมทบจากนายจ้างเดิม
สำหรับผู้ที่เกษียณแล้ว ไม่จำเป็นต้องถอนเงินกองทุนสำรองเลี้ยงชีพออกมาทั้งก้อน สามารถแจ้งทาง บลจ. นำเงินออกมาเป็นงวด ๆ ได้ เพื่อให้มีเงินใช้อย่างต่อเนื่อง และยังมีส่วนที่เหลือลงทุนต่อไป
อย่างไรก็ตาม การที่เงินกองทุนสำรองเลี้ยงชีพจะงอกเงยได้มากแค่ไหนขึ้นอยู่กับบทบาทของนายจ้างและคณะกรรมการกองทุน โดยคณะกรรมการกองทุนควรคัดสรร บลจ. ที่มีผลงานดีเมื่อเทียบกับตลาด มีนโยบายลงทุนให้เลือกหลากหลายและเหมาะกับคนหมู่มาก อย่างน้อยควรมีนโยบาย life path หรือการปรับสมดุลพอร์ตตามอายุ กรณีที่ลูกจ้างไม่สะดวกปรับเปลี่ยนการลงทุนเอง รวมทั้งสื่อสารให้ข้อมูลสมาชิกอย่างต่อเนื่อง
ลีรกุล ถาวรศิริภัทร ผู้อำนวยการอาวุโส ฝ่ายทรัพยากรบุคคล บริษัท ไอโออิ กรุงเทพ ประกันภัย จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า บริษัทให้ความสำคัญกับพนักงานซึ่งเป็นเสาหลักขององค์กร โดยมีเป้าหมายให้พนักงานมีความสุขและอยู่กับองค์กรไปนาน ๆ จึงมีสวัสดิการเงินกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ เพื่อดูแลความเป็นอยู่ของพนักงานที่อยู่ด้วยกันมายาวนานให้มีชีวิตหลังเกษียณที่มั่นคง โดยบริษัทจ่ายสมทบในสัดส่วน 5-10% ทำให้พนักงานเหมือนได้เงินเพิ่มพิเศษทุกเดือน
ปัจจุบัน บริษัทมีพนักงานกว่า 400 คน โดยพนักงานกว่า 90% เป็นสมาชิกกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ ส่วนอีก 7-8% เป็นพนักงานทดลองงาน หากผ่านการทดลองงานก็จะเป็นสมาชิกต่อไป
นอกจากนี้ บริษัทมีแผนการลงทุนให้พนักงานเลือกถึง 10 แผน แบบ Smart Choice มีสินทรัพย์ปลอดภัย (Stability Asset) และสินทรัพย์เสี่ยง (Growth Asset) ให้เลือกตามสัดส่วนที่รับได้ อีกทั้งยังมีแผนการลงทุนปรับสมดุลตามอายุ (Life Path) อีกด้วย โดยบริษัทมีการประชาสัมพันธ์ข่าวสารกองทุนสำรองเลี้ยงชีพสู่พนักงานอย่างต่อเนื่อง
“จากสถานการณ์โควิด บริษัทได้รับผลกระทบน้อย แต่พนักงานตระหนกกับผลตอบแทน ซึ่งอธิบายว่า PVD เป็นการลงทุนระยะยาว อย่าตกใจ และนายจ้างยังจ่ายเงินสมทบให้ ขณะเดียวกันทาง HR พร้อมเปิดสายให้คำปรึกษา พนักงานโทรมาได้ตลอด”
การออมเพื่อเกษียณในกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ ถูกออกแบบมาให้ง่ายในหลัก “ออมก่อนใช้” โดยหักบัญชีทุกครั้งเมื่อเงินเดือนออก จึงไม่ยุ่งยาก และเป็นการออมระยะยาวในสินทรัพย์ทางการเงินที่หลากหลายเพิ่มโอกาสรับผลตอบแทนที่สูงขึ้น พ่วงด้วยประโยชน์จากเงินสมทบของนายจ้าง ฉะนั้น หากบริษัทของท่านเปิดให้ออมในกองทุนสำรองเลี้ยงชีพควรออมเต็มที่เพื่อชีวิตที่ดีหลังเกษียณ
----------------
อ้างอิงเนื้อหาจากรายการรู้เงินรู้ลงทุน หัวข้อ “กองทุนสำรองเลี้ยงชีพ ออมอย่างไรให้งอกเงย” ออกอากาศเมื่อวันที่ 9 ต.ค. 63