Free Float คืออะไร

21 เมษายน 2564
อ่าน 4 นาที



หลายคน คงได้ยินคำว่า Free Float โดยเฉพาะคนที่ลงทุนในหุ้น บางครั้งก็มีข่าวว่าสาเหตุที่หุ้นบางตัวราคาขึ้นสูงลิ่วอย่างรวดเร็ว ก็เพราะมี Free Float น้อย วันนี้จึงขอพาทุกท่านไปทำความรู้จัก Free Float ให้มากขึ้น 

Q: Free Float คืออะไร? การกระจายการกระจายการถือหุ้นโดยผู้ถือหุ้นรายย่อย

A: ตามนิยามของตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย Free Float หมายถึง ปริมาณการถือครองหุ้นของผู้ถือหุ้นรายย่อย หรือจำนวนหุ้นที่อยู่ในมือของผู้ถือหุ้นรายย่อยนั่นเอง โดยไม่รวมหุ้นที่ถือโดยผู้ลงทุนที่มีส่วนร่วมในการบริหาร (strategic shareholder) และไม่ได้เป็นหุ้นที่ซื้อคืน โดยผู้ลงทุนที่มีส่วนร่วมในการบริหาร (strategic shareholder) ได้แก่
     1) กรรมการ ผู้จัดการ และผู้บริหาร 4 ระดับแรกนับต่อจากผู้จัดการลงมา รวมถึงผู้ที่เกี่ยวข้อง และบุคคลที่มีความสัมพันธ์
     2) ผู้ถือหุ้นที่ถือหุ้นมากกว่า 5% ของทุนชำระแล้ว โดยนับรวมผู้ที่เกี่ยวข้อง ทั้งนี้ ยกเว้นผู้ถือหุ้นกลุ่มดังต่อไปนี้คือ บริษัทหลักทรัพย์ บริษัทประกันชีวิต บริษัทประกันภัย กองทุนรวม และกองทุนที่ออมแบบมีภาระผูกพัน ที่ไม่ได้มีการส่งตัวแทนเข้ามาบริหารงานในบริษัทจดทะเบียน
     3) ผู้ถือหุ้นที่มีอำนาจควบคุม หรือ ผู้ที่มีพฤติการณ์มีอิทธิพลต่อการกำหนดนโยบาย การจัดการ
หรือการดำเนินงานของบริษัทอย่างมีนัยสำคัญ

Q: Free Float สูง หรือต่ำ บอกอะไร?

A: หุ้นที่มี Free Float ต่ำ แสดงว่ามีสัดส่วนของผู้ถือหุ้นรายย่อยน้อย โดยมีลักษณะดังนี้
  • สภาพคล่องต่ำ ซึ่งอาจทำให้ผู้ลงทุนซื้อขายหุ้นในราคา ปริมาณ หรือเวลา ไม่ได้ตามที่ต้องการ
  • การเคลื่อนไหวของราคาหุ้นอาจเปลี่ยนแปลงได้ง่าย ถ้าจำนวนหุ้นสำหรับผู้ถือหุ้นรายย่อยมีน้อย เวลามีคนซื้อ (ขาย) จำนวนมาก ก็อาจส่งผลให้ราคาขึ้น (ลง) แรงมากเช่นกัน
อย่างไรก็ดี การที่หุ้นมีสัดส่วนตัวเลข Free Float สูงก็ไม่ได้แปลว่าหุ้นตัวนั้นจะมีสภาพคล่องในการซื้อขายสูงเสมอไป เนื่องจากผู้ถือหุ้นรายย่อยบางรายที่เน้นลงทุนระยะยาวจะไม่ได้ซื้อขายเปลี่ยนมือบ่อยครั้ง

(ปัจจุบัน ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย ได้กำหนดให้สัดส่วนหุ้น Free Float ของบริษัทที่จดทะเบียนอยู่ในตลาดหลักทรัพย์ จะต้องไม่น้อยกว่า 15% และมีผู้ถือหุ้นรายย่อยไม่น้อยกว่า 150 ราย)



Q: Free Float เพิ่ม ลด เกิดจากอะไร

A: การที่ free float เพิ่ม หรือลดเกิดจากกรณีสำคัญๆ ต่อไปนี้
Free Float เพิ่มขึ้นเมื่อ 1. บริษัทออกหุ้นเพิ่มทุน 2. ผู้ถือหุ้นกลุ่ม Strategic shareholder ขายหุ้น
Free Float ลดลงเมื่อ 1. บริษัทซื้อหุ้นคืน 2. ผู้ถือหุ้นกลุ่ม Strategic shareholder ซื้อหุ้นเพิ่ม
อย่างไรก็ตาม ในกรณีที่บริษัทใดมี Free Float ต่ำ เมื่อมีผู้ต้องการซื้อขายหุ้นจำนวนมาก อาจทำให้เกิดราคาเปลี่ยนแปลงในลักษณะที่ผิดปกติได้ ซึ่งเมื่อตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยพบว่ามีการซื้อขายในลักษณะที่ผิดปกติ (ไม่ว่าจะเป็นกรณีใด) ตลาดหลักทรัพย์ฯ ก็จะเป็นผู้ติดตามการซื้อขายหุ้นนั้น ๆ และอาจมีการสอบถามและให้บริษัทเปิดเผยข้อมูลเกี่ยวกับสาเหตุของการเปลี่ยนแปลงราคา แจ้งเตือนนักลงทุน
ตลอดจนมีมาตรการในการกำกับการซื้อขาย หรืออาจส่งเรื่องต่อให้สำนักงาน ก.ล.ต. ตรวจสอบและดำเนินการต่อไป

Q: ดู Free Float ได้จากที่ไหน

A: เข้าไปดูได้ที่ www.settrade.com กดค้นหาหุ้นที่ต้องการ > Factsheet > ดูบรรทัดผู้ถือหุ้นรายย่อย
(%จำนวนผู้ถือหุ้นรายย่อย) ซึ่งจะเปรียบเทียบสัดส่วนในวันกำหนดรายชื่อผู้ถือหุ้น (Recode Date) หรือปิดสมุดทะเบียน (Book Closing Date) ในครั้งล่าสุด และครั้งก่อนหน้า

Free Float จะอัปเดตในวันที่ปิดสมุดบัญชี เฉลี่ยปีละ 1-2 ครั้ง โดยตลาดหลักทรัพย์จะพิจารณาจากรายงาน
Free Float ซึ่งบริษัทจัดทำขึ้นจากรายชื่อผู้ถือหุ้นที่ปรากฏ ณ วันกำหนดรายชื่อผู้ถือหุ้น (Record Date : RD) หรือ วันปิดสมุดทะเบียนเพื่อเพื่อรวบรวมรายชื่อผู้ถือหุ้น (Book Closing Date : BC) เพื่อจะให้สิทธิใด ๆ แก่ผู้ถือหุ้น

Free Float อาจเป็นปัจจัยหนึ่งที่ช่วยในการตัดสินใจลงทุนได้ อย่างไรก็ดี ยังมีหลายปัจจัยที่ส่งผลต่อการขึ้นลงของราคาหุ้น ดังนั้น เพื่อน ๆ ควรศึกษาข้อมูลให้ละเอียดโดยเฉพาะปัจจัยพื้นฐานของหุ้นตัวดังกล่าวก่อนตัดสินใจลงทุนทุกครั้ง หวังว่าบทความนี้จะช่วยไขข้อข้องใจเรื่อง Free Float ได้มากขึ้น และสามารถนำไปใช้ในการตัดสินใจลงทุนของทุกคนได้​