ทางออกของคนเป็นหนี้ : ไม่หนี และพร้อมจ่าย

11 พฤษภาคม 2563
อ่าน 5 นาที


Live Talk : EP.2 “ทางออกของคนเป็นหนี้ : ไม่หนี และพร้อมจ่าย” เมื่อวันที่ 8 พ.ค. 2563 ที่ผ่านมา มีเนื้อหาที่น่าสนใจและเป็นประโยชน์กับประชาชน โดยเฉพาะผู้ที่มีหนี้แต่รายได้ลดลงจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคไวรัสโคโรนา 2019 (COVID-19) โดยวิทยากรที่เชี่ยวชาญด้านหนี้ 3 ท่าน ได้แก่ คุณสมเกียรติ กิมาวหา รองผู้จัดการ ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) คุณณญาณี เผือกขำ กรรมการผู้จัดการ บริษัท อยุธยา แคปปิตอล เซอร์วิสเซส จำกัด และ คุณณัฐพงษ์ อภินันท์กูล นักวางแผนการเงิน CFP

ปัญหาเรื่องหนี้เป็นปัญหาใหญ่ในโครงสร้างเศรษฐกิจไทยที่ทุกฝ่ายพยายามเร่งแก้ไข แต่ไม่ใช่เรื่องง่าย เห็นได้จากตัวเลขของหนี้ครัวเรือนไทยยังอยู่ระดับสูง สิ้นปี 2561 อัตราหนี้ครัวเรือนต่อ GDP อยู่ระดับสูงถึง 78.6% สะท้อนว่าคนไทยมีภาระหนี้สูงมาก และเมื่อมาเผชิญกับสถานการณ์การระบาดของโรคโควิด-19 ปัญหาของหนี้สินยิ่งเป็นประเด็นที่ต้องจับตาเป็นพิเศษโดยเฉพาะผลกระทบต่อประชาชน ​
 

 
คุณณัฐพงศ์ กล่าวว่า อ.ประสาร ไตรรัตน์วรกุล อดีตผู้ว่า ธปท. เคยเสนอแนะโมเดลการแก้ปัญหาหนี้ไว้ คือ 3S Survive-Sufficient-Sustain โดยขั้นแรก แม้เป็นหนี้ก็ต้องอยู่ให้รอดและหนี้สินต้องลดลงเรื่อยๆ จากนั้นดำเนินชีวิตให้พอกินพอใช้ โดยน้อมนำปรัชญาเศรษฐกิพอเพียงจากในหลวง ร.9 มาปรับใช้ และสุดท้ายคือการออมเงินเพื่อนำไปสู่ความยั่งยืน

“ปัญหาหนี้สินไม่ได้มาจากความฟุ่มเฟือยอย่างที่หลายคนเข้าใจ แต่มาจากเหตุฉุกเฉิน เช่น เจ็บป่วย อุบัติเหตุ ไปกู้เงินมาใช้โดยคิดว่าจะเป็นหนี้ระยะสั้น แต่รายได้ที่น้อยกว่ารายจ่ายและยังมีหนี้เพิ่ม ทำให้เกิดปัญหากู้เงินจากที่หนึ่งไปจ่ายอีกที่หนึ่ง กลายเป็นหนี้ถาวร”

ทางออกที่ทำให้รายได้มากกว่ารายจ่ายมี 4 ทาง คือ เพิ่มรายได้ (ทำงานเพิ่ม) ลดรายจ่าย (ฟุ่มเฟือย) ขายสินทรัพย์ (ขายรถที่จำเป็นน้อยเพื่อลดค่าผ่อน) ปรับโครงสร้างหนี้ 

ส่วนใครกำลังคิดว่าจะถอนเงินจาก PVD / RMF มาใช้ คุณณัฐพงศ์ ไม่แนะนำให้ทำอย่างเด็ดขาด เพราะปัญหาและผลกระทบโควิดเป็นปัญหาระยะสั้น-กลาง ไม่ควรนำการออมระยะยาวมาแก้ปัญหาระยะสั้น ทำเช่นนั้นก็เหมือนขายวิญญาณ ขายอนาคต เพราะสวัสดิการที่ได้สมทบจากนายจ้างที่เคยได้ จะไม่ได้ง่ายๆ อีก  สิ่งที่ควรทำ คือ ลดรายจ่ายเหลือแค่จำเป็น เพิ่มรายได้ด้วยการเริ่มจากเพิ่มทักษะตัวเอง และทบทวนสถานะเป็นระยะ หากสถานะเริ่มตึงก็ควรปรึกษาสถาบันการเงิน พยายามทำให้หนี้ที่มีลดลง

 


คุณสมเกียรติ กล่าวถึงสถานการณ์ของลูกค้า ธ.ก.ส. ว่า ก่อนหน้าที่จะมีโควิดเกษตรกรมีปัญหาภัยธรรมชาติฝนแล้งอยู่ก่อนแล้ว ซึ่งโรคโควิดที่เกิดขึ้นยิ่งทำให้เกษตรกรได้รับผลกระทบมากขึ้น รายได้ภาคเกษตรกรหายไป 40% ดังนั้น 15 เม.ย. ที่ผ่านมา รัฐบาลจึงมีมาตรการช่วยเหลือต่าง ๆ เช่น Soft loan ภาคเกษตร ดอกเบี้ย 0.1% มาตรการพักชำระหนี้เงินต้นและดอกเบี้ย สำหรับเกษตรกรและเอสเอ็มอี เป็นต้น

คุณสมเกียรติ กล่าวว่า ธนาคารพร้อมปรับการจ่ายหนี้ให้สอดคล้องกับความสามารถของลูกค้าเพื่อให้ผ่านวิกฤตไปได้ นอกจากเรื่องการเงินแล้ว ธ.ก.ส. จะช่วยยกระดับประสิทธิภาพการผลิต ใช้การตลาดนำการผลิต / สนับสนุนลูกค้า 3 กลุ่ม 1) กลุ่มผู้ประกอบการ ธนาคารช่วยเติมสภาพคล่องหมุนเวียน 2) Smart Farmer ซึ่งเป็นทายาทเกษตรกรรุ่นใหม่ ธนาคารสนับสนุนให้เป็นผู้นำสร้าง Smart Farming ยกระดับเกษตรไทย และ 3) เกษตรกร ธนาคารจะทบทวนตารางการชำระ รวมกลุ่มเกษตรแปลงใหญ่ ปฏิรูปเกษตรอย่างยั่งยืน น้อมนำปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงมาดำเนินชีวิต 



 
คุณณญาณี กล่าวว่า ก่อนหน้านี้ภาวะเศรษฐกิจโลกที่ชะลอตัวกระทบต่อการจ้างงาน โดยมีการเลิกจ้างเพิ่มขึ้นมากตั้งแต่ต้นปี และเมื่อมีปัญหาโควิดเข้ามาซ้ำ เกิดผลกระทบหนักขึ้น ลูกค้าชั้นดีเริ่มเห็นสัญญาณมีปัญหาการผ่อนชำระ สถาบันการเงินจึงเร่งช่วยเหลือ 3 ด้าน คือ 1.พักชำระเงินต้นและดอกเบี้ย 2.ลดการผ่อนขั้นต่ำจาก 10% เหลือ 5% และ 3.ขอลดดอกเบี้ยเป็นพิเศษ

สำหรับผู้ที่จ่ายหนี้สินเชื่อบุคคลและบัตรเครดิตไม่ไหว ควรเดินเข้าไปคุยกับสถาบันการเงินเพื่อขอคำแนะนำ โดยทุกวันนี้มีมาตรการต่างๆ บรรเทาภาระหลายด้าน และยืนยันว่าแม้เข้ามาตรการประวัติเครดิตบูโรจะมีสถานะ "ปกติ" แน่นอน อย่างไรก็ตาม หากยังจ่ายไหวพยายามจ่าย ถ้าไม่จำเป็นอย่าพักชำระเพราะดอกเบี้ยยังเดินอยู่

อย่างไรก็ตาม จากโควิดทำให้หลายคนรู้ว่าตัวเองออมเงินไม่พอ เมื่อเกิดปัญหาไม่คาดคิดก็ไม่มีเงินสำรองใช้จ่าย ดังนั้น เพื่อป้องกันปัญหาเป็นหนี้เกินตัว แนะนำว่า ไม่ว่าจะมีรายจ่ายมากแค่ไหนก็ต้องกันเงินออมไว้ด้วย ส่วนปัญหาฉุกเฉิน เช่น เข้าโรงพยาบาล แนะนำให้ซื้อประกันเพื่อคุ้มครองความเสี่ยงบรรเทาภาระได้ ขณะที่ สินเชื่อบุคคล/บัตรเครดิต ไม่ได้มีไว้ให้ฟุ่มเฟือย ควรใช้ให้ถูกวัตถุประสงค์ และดูรายรับรายจ่ายตัวเองด้วยว่าสามารถชำระหนี้ไหวหรือไม่ ที่สำคัญ อย่าเข้าวงจรกู้​นอกระบบเด็ดขาดเพราะปัญหาจะยิ่งบานปลายไปอีก​​