ลงทุนอย่างไร ในยุคโควิด-19

07 พฤษภาคม 2563
อ่าน 8 นาที
การ Live Talk “สุขภาพการเงินการลงทุนของคนไทย รับมืออย่างไรในยุคโควิด - 19” เมื่อวันที่ 1 พ.ค. ในหัวข้อ “ลงทุนอย่างไร ในยุคโควิด-19” ได้สนทนากับวิทยากร 3 ท่าน ได้แก่ คุณไพบูลย์ นลินทรางกูร ประธานกรรมการ สภาธุรกิจตลาดทุนไทย คุณศิริพร สุวรรณการ นกัวางแผนการเงิน CFP และน.สพ. ธนัฐ ศิริวรางกูร หรือหมอนัท คลินิกกองทุน มีเนื้อหาในภาพรวมการลงทุนในยุค COVID-19 อย่างมาก
 

 
คุณไพบูลย์ นลินทรางกูร ประธานกรรมการ สภาธุรกิจตลาดทุนไทย ให้มุมมองผลกระทบโควิด-19 ต่อเศรษฐกิจโลกและเศรษฐกิจไทยว่า ภาวะเศรษฐกิจโลกที่แย่สุดในรอบ 100 ปี โดยไอเอ็มเอฟคาดการณ์ปี 2563 เศรษฐกิจโลกจะถดถอย 3% ขณะที่ เศรษฐกิจไทยไอเอ็มเอฟมองลบเกือบ 7% โดยไตรมาส 2 น่าจะติดลบหนักสุดเห็นตัวเลข 10% ครั้งแรกที่เห็นหลังวิกฤตต้มยำกุ้ง จากซัพพลายช็อกของภาคการผลิตและดีมานด์ช็อกจากการล็อคดาวน์
 
ภาพรวมการลงทุนในช่วงที่ผ่านมา หลังจากปรับลดลงอย่างหนักขณะนี้ปรับขึ้นมา 34% ถือว่ารวดเร็วมาก มาจากผู้ลงทุนเชื่อมั่นมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจของธนาคารกลางทั่วโลกที่ทำพร้อมกันอย่างเต็มที่ คูณ 2-3 เท่าเทียบจากวิกฤตการเงินโลกคราวที่แล้ว

น้ำหนักสินทรัพย์การลงทุน คุณไพบูลย์ แนะนำ หุ้นทุนเป็นหลักเพราะเห็นจากทุกวิกฤตแล้วว่า การลงทุนช่วงวิกฤตทำให้ผลตอบแทนดีมาก และวิกฤตโรคระบาดเช่นโควิด 100 ปีจะเกิดขึ้นครั้งหนึ่ง  โดยเชื่อว่า ทั่วโลกจะจัดการไวรัสได้ แม้เศรษฐกิจจะซบเซาในไตรมาสนี้ แต่เชื่อว่าเมื่อคลี่คลายจะไม่มีการปิดประเทศเต็มรูปแบบในไตรมาส 4 ปีนี้ เศรษฐกิจน่าจะเริ่มฟื้น และปีหน้าน่าจะกลับอยู่ในจุดปกติแบบ New Normal หุ้นมีแนวโน้มอัพไซต์มากกว่า รองจากหุ้น คือ ทองคำ ติดพอร์ตไว้ป้องกันความเสี่ยง ส่วนตราสารหนี้ควรมีไว้บ้างเพราะเชื่อว่าดอกเบี้ยจะลงได้ไม่มากแล้ว

ธุรกิจเด่นในยุคโควิด ได้แก่ ดิลิเวอรี่ การสื่อสาร วีดิโอคอนเฟอเรนซ์ และดาต้า แต่เสียดายที่ไทยมีอุตสาหกรรมนี้ไม่มาก นอกจากนี้  ค้าปลีกน่าจะฟื้นเร็ว พร้อมแนะหลีกเลี่ยงหุ้นที่ใช้เวลาฟื้นตัวนาน เช่น การบินและท่องเที่ยว
แนวทางการปรับตัวของนักลงทุน แนะนำให้กระจายความเสี่ยง ลงทุนหลายสินทรัพย์ และกระจายการลงทุนต่างประเทศ จะทำให้พอร์ตมั่นคงมากขึ้น

 


 
คุณศิริพร สุวรรณการ นักวางแผนการเงิน CFP กล่าวถึงสถานการณ์การลงทุนในตราสารหนี้ว่า พันธบัตรรัฐบาลเป็นสินทรัพย์ปลอดภัยใกล้เคียงกับการถือเงินสด แม้อัตราดอกเบี้ยจะต่ำ โดยขณะนี้พันธบัตร 10 ปีของไทย ดอกเบี้ย 1.2% สหรัฐเหลือ 0.6% แต่หากย้อนรอยตั้งแต่ต้นปีผลตอบแทนรวมที่พันธบัตรไทย 10 ปีอยู่ที่ 2% และพันธบัตรของสหรัฐ 10 ปี อยู่ที่ 10-12% ซึ่งมองไปข้างหน้าพันธบัตรเป็นสินทรัพย์ปลอดภัย แนะนำให้มีอยู่ในพอร์ต

สำหรับหุ้นกู้เอกชน อาจมีความกังวลของนักลงทุน ทำให้เกิดปรากฏการณ์เทขายตราสารหนี้ โดยเฉพาะไฮยิลด์บอนด์ ซึ่งภาครัฐหลายประเทศออกมาตรการเสริมสภาพคล่องเพื่อพยุงเสถียรภาพตลาดตราสารหนี้ ทำให้ราคาเริ่มปรับตัวขึ้นมา ดังนั้น ไม่ต้องถึงกับหนีหุ้นกู้ แต่ควรเลือกหุ้นกู้ที่น่าจะมีกระแสเงินสดมาชำระหนี้ 

ผลกระทบกองทุนเพื่อการเกษียณ  PVD หรือ กบข. โชคดีที่มีเงินนายจ้างมาเสริมด้วย วิกฤตโควิดเป็นเพียงการตกหลุมขอให้ใจเย็น หากพอร์ตผสมผสานดี ไม่เสี่ยงไป ให้ถือต่อเนื่อง เพราะเมื่อตลาดฟื้นเราจะได้ประโยชน์ ส่วนใครที่เลือกนโยบายเสี่ยงเกินความเสี่ยงตัวเอง ให้ปรับพอร์ต และทบทวนแผนการเงินตัวเองอย่างสม่ำเสมอ หากแนวโน้มผลตอบแทนไม่พอยามเกษียณ แนะนำให้ลงทุนเพิ่ม
 
แนวทางปรับตัวหลังโควิด คุณศิริพร กล่าวว่า ผลขาดทุนที่เผชิญวันนี้น่าจะฟื้นตัวดี แต่จะกลับไปจุดเดิมหรือไม่ขึ้นอยู่กับเราลงทุนอย่างไร หากเราเลือกลงทุนหุ้น ช่วงนี้ทนอึดอัดหน่อย หากมีสภาพคล่องพอ บริหารความเสี่ยงเหมาะสม ก็จะไม่อึดอัดมาก แต่สิ่งที่เป็นบทเรียน คือ เงินลงทุนเป็นเงินของเรา เราตัดสินใจอะไร ต้องรู้ในสิ่งที่ลงทุน ต้องเข้าใจว่ากำไรหรือขาดทุนเพราะอะไร ใช้เวลาศึกษาและขอคำแนะนำอย่างเต็มที่ หากยังไม่เข้าใจอย่าเพิ่งใส่เงินลงไป
 



หมอนัท คลินิกกองทุน ฉายภาพกองทุนรวมช่วงโควิด-19 ว่า กองทุนหุ้นขึ้นลงตามสินทรัพย์หุ้นเป็นหลัก ซึ่งตลาดหุ้นลดลงทุกที่ ฉะนั้นสะท้อนกองทุนรวมหุ้นลดลง 10% ส่วนกองทองคำและกองตราสารหนี้ผลตอบแทนดีอยู่ ขอให้นักลงทุนใจเย็น หากจัดพอร์ตการลงทุนหลากหลาย ผลกระทบจะไม่มากนัก  ซึ่งเสน่ห์ของกองทุนรวมมีสินทรัพย์หลากหลาย หากสะสมไว้ วิกฤตมาก็ไม่หนักหนาเกินไป

นักลงทุนใหม่ที่ลงทุนไม่เกิน 6 ปี ที่ไม่เคยผ่านวิกฤตมาอาจจะวิตกบ้าง สามารถลดความเสียหายได้บ้างด้วยการลดขนาดหุ้นในพอร์ตลง แต่คนที่มีวินัยลงทุนแบบ DCA แนะนำว่า ให้ลงทุนต่อเนื่อง เพราะทำให้ต้นทุนน้อยลง และเห็นผลดีหลัง 4-5 ปี ถัดไป

SSF และ SSFX ความแตกต่างของทั้ง 2 ประเภทนี้ คือ SSFX มีเวลาใช้สิทธิ 3 เดือนจนถึง มิ.ย. 63 มีสิทธิลดหย่อนภาษีเพิ่ม 2 แสนบาท แยกจากการซื้อ SSF ปกติ  หากนักลงทุนมองว่าหุ้นขาขึ้นและอยากใช้สิทธิด้วย ตัว SSFX ก็น่าสนใจ แต่มีความเสี่ยงจากการลงทุนหุ้น 65% และถือนาน 10 ปี นอกจากนี้ แต่ละประเภท SSFX แตกต่างกันพอสมควร ก็ต้องศึกษาข้อมูลให้ดีก่อนลงทุน 

ใครที่ลงทุนแบบ DCA แนะนำให้ทำต่อไป เพราะเป็นการถัวเฉลี่ยราคาสินทรัพย์ หากลงทุนระยะยาว 7 ปีขึ้นไป แม้ช่วงนี้ขาดทุนอยู่ แต่เมื่อวิกฤตผ่านไปหุ้นกลับมา ราคาสินทรัพย์จะเริ่มสูงขึ้น ขอให้ใช้กลยุทธ์ อึด ถึก ทน หากลงทุนนานพอก็จะเห็นภาพแบบเดียวกัน

แนวทางปรับตัวหลังโควิด หมอนัท กล่าวว่า ทุกวิกฤตทำให้ประเทศพัฒนาไปอีกรูปแบบหนึ่งเสมอ เช่น ปี 2540 ทำให้เกิดกองทุนอสังหาฯ หรือ วิกฤตแฮมเบอร์เกอร์ เกิดสมาคมนักวางแผนการเงิน ซึ่งคนที่ผ่านวิกฤตรอบที่แล้ว เมื่อเจอรอบนี้ก็จะเห็นเป็นโอกาส ขอให้นักลงทุนศึกษาหาข้อมูลมากๆ เรียนรู้แบ่งเงินลงทุน ทำบัญชีรับจ่าย กระจายความเสี่ยงในหลายสินทรัพย์ เพื่อวิกฤตครั้งหน้าจะพร้อมและเติบโตได้เมื่อเจอวิกฤต ​

​​​