จัดการประกันชีวิตอย่างไร ในยุคโควิด-19

19 พฤษภาคม 2563
อ่าน 4 นาที


​ประกันชีวิตและประกันสุขภาพ เป็นเครื่องมือสำคัญในการวางแผนการเงินที่ดี แต่น่าเสียดายที่มักถูกละเลยเพราะมองว่าเป็นค่าใช้จ่ายส่วนเพิ่มเมื่อมีเงินเหลือ ยิ่งเกิดสถานการณ์โรคโควิด-19 เงินในกระเป๋าของประชาชนยิ่งน้อยลงแล้วจะทำอย่างไรเพื่อเข้าถึงความคุ้มครองจากประกันได้ ขณะที่ยังมีคำถามเกี่ยวกับการทำประกันโควิด-19 จำเป็นต้องซื้อกรมธรรม์หรือไม่

Live Talk : EP. 3 “จัดการประกันชีวิตอย่างไร ในยุคโควิด-19” เมื่อวันที่ 15 พ.ค. 2563  ของการสัมมนาออนไลน์ Money Buddy in COVID-19 เคลียร์ทุกข้อสงสัยของการทำประกันชีวิตและประกันสุขภาพ โดยวิทยากร 3 ท่าน ได้แก่ คุณไพบูลย์ เปี่ยมเมตตา ผู้อำนวยการอาวุโสฝ่ายนโยบายและพัฒนาผลิตภัณฑ์ประกันภัย สำนักงาน คปภ. คุณอุมาพันธุ์ เจริญยิ่ง นักวางแผนการเงิน CFP คุณวัชรา พุกโพธิ์ นักวางแผนการเงิน CFP ​

 


คุณไพบูลย์ กล่าวว่า โควิดทำให้การทำประกันของผู้บริโภคเปลี่ยนไป จากในอดีตจะซื้อประกันผ่านตัวแทน/นายหน้า ไม่ได้มาจากความต้องการภายในของตัวเอง แต่เมื่อเกิดสถานการณ์โรคโควิด-19 ผู้บริโภคตระหนักถึงความเสี่ยงและแสวงหาช่องทางซื้อประกันด้วยตัวเอง โดย ณ วันที่ 12 พ.ค. 2563 พบว่า มีการทำประกันภัยฉบับใหม่ถึง 8.7 แสนกรมธรรม์เติบโตสูงมากในเวลาอันสั้น เป็นการซื้อผ่านออนไลน์สัดส่วนถึง 40% สะท้อนแนวโน้มผู้บริโภคจะคุ้นชินกับการทำประกันผ่านช่องทางออนไลน์ สามารถค้นหา เปรียบเทียบ และเลือกประกันที่เหมาะกับตัวเอง ทำให้บริษัทประกันต้องแข่งขันพัฒนาผลิตภัณฑ์ สร้างกลไกตลาดที่สมบูรณ์ขึ้น

เทคนิคการซื้อประกัน ต้องเลือกความคุ้มครองที่ตรงกับความต้องการ ซึ่งปัจจุบันแบบประกันมีความหลากหลาย เลือกเน้นความคุ้มครองเฉพาะอย่างได้ เช่น เสียชีวิต หรือประกันบำนาญ ประกันจึงเป็นเครื่องมือช่วยวางแผนการเงินที่ดี โดยจะเลือกทำประกัน ให้ดูว่าผลประโยชน์กับราคาเบี้ยมีความเหมาะสมหรือไม่ การเลือกบริษัทที่มีความน่าเชื่อถือ , เบี้ยประกัน เหมาะสมกับรายได้ สามารถจ่ายได้ตรงตามเวลา เพราะหากพลาดจะมีผลกับกรมธรรม์ที่อาจมีดอกเบี้ยตามมา เป็นต้น ควรทำประกันให้ครบสัญญาเพื่อให้ได้รับประโยชน์สูงสุด

ในช่วงที่รัฐบาลประกาศใช้ พ.ร.ก.ฉุกเฉินเพื่อเว้นระยะห่างทางสังคม คปภ.ออกมาตรการผ่อนปรนให้บริษัทประกันสามารถทำรายการแบบ face to face ทางออนไลน์ เช่น ยืนยันตัวตนด้วยการถ่ายรูป ส่งเอกสารทางออนไลน์ เป็นต้น ซึ่งบริษัทประกันได้มีการเตรียมพร้อมให้บริการผ่านออนไลน์อยู่แล้ว



คุณอุมาพันธ์ กล่าวว่า 3 สวัสดิการของภาครัฐมีความคุ้มครองโรคโควิด-19 ทั้งสปสช. (บัตรทอง) สำหรับประชาชนทั่วไป/อาชีพอิสระ , ประกันสังคมสำหรับมนุษย์เงินเดือน และสวัสดิการข้าราชการ ขณะที่ ประกันสุขภาพมีความคุ้มครองโรคโควิดด้วยเช่นกัน ซึ่งหากมีสวัสดิการพื้นฐานจาก 3 กลุ่มข้างต้น ประกันสุขภาพจะเป็นส่วนเสริมในการจ่ายเงินส่วนต่างในกรณีพิเศษ 

คนทำประกันไว้แต่รายได้ลดลงจนส่งประกันไม่ไหว หากกระทบรายได้ระยะสั้น คปภ.ได้ขยายเวลาคุ้มครอง 90 วันหลังจากขาดส่งเบี้ยประกัน และสามารถ...(1) เปลี่ยนงวดการจ่าย เช่น เคยส่งเป็นรายปี ขอเปลี่ยนเป็นราย 1-3-6 เดือน โดยมีส่วนเพิ่มเล็กน้อย (2) ขอลดทุน เพื่อลดค่าเบี้ยลง และ (3) กู้จากมูลค่าเงินสดอัตโนมัติจากเบี้ยที่เคยจ่ายไปแล้ว ความคุ้มครองยังอยู่ซึ่งจะนานแค่ไหนขึ้นอยู่กับส่งเบี้ยนานแค่ไหน

รณีไม่สามารถจ่ายเบี้ยประกันได้อีก สามารถ (1) ลดทุนประกัน เพื่อให้ความคุ้มครองเท่าเดิม (2) คงทุนประกัน ลดเวลาคุ้มครองลง (3) กรณียูนิตลิงก์ เมื่อหยุดจ่ายเบี้ย ทุนหรือความคุ้มครองแค่ไหนขึ้นอยู่กับมูลค่าการลงทุน

กรณีต้องการสภาพคล่อง ประกันช่วยได้ ผ่าน 1.กู้จากกรมธรรม์ หากเป็นสะสมทรัพย์มีมูลค่าเงินสดกู้ได้ โดยคิดดอกเบี้ย +2% จากดอกเบี้ยกรมธรรม์ 2.ยูนิตลิงก์ สามารถถอนเงินบางส่วนจากกองที่มีสภาพคล่องมาใช้ได้ และ3.เวนคืนมูลค่าเงินสดกรมธรรม์ หรือ ยกเลิกไปเลย ซึ่งไม่แนะนำให้ทำถ้าไม่จำเป็น เพราะจะไม่มีความคุ้มครองแล้ว และการกลับมาซื้อประกันใหม่อีกครั้งเงื่อนไขอาจไม่ดีเท่าเดิม 

ส่วนแนวทางการเลือกซื้อประกันสุขภาพ ต้องคำนึง 4 ข้อ คือ
1. ควรทำประกันสุขภาพควบประกันชีวิตระยะยาว เพื่อให้ได้รับความคุ้มครองตลอดช่วงชีวิต
2. งบประมาณ จ่ายเบี้ยไหวแค่ไหน
3. หากเป็นมนุษย์เงินเดือนมีสวัสดิการอยู่ ต้องดูว่าครอบคลุมความคุ้มครองที่ต้องการหรือไม่
4. ความเสี่ยงจากการลงทุน เจาะตัวยูนิตลิงก์โดยเฉพาะ ผู้ที่จะทำประกันแบบนี้ต้องยอมรับความเสี่ยงจากการลงทุนได้ เพราะมูลค่าอาจเพิ่มขึ้นหรือลดลงตามการลงทุน​




คุณวัชรา กล่าวถึงประกันโควิดที่ฮอตฮิตว่า อย่างที่ทราบว่าประกันสุขภาพคุ้มครองทุกโรคอยู่แล้ว แบ่งได้ 2 ส่วน คือ คนไข้นอก เบิกค่าใช้จ่ายทุกครั้งที่หากหมอตามวงเงินที่ระบุ และคนไข้ใน เบิกค่าใช้จ่ายเมื่อนอนโรงพยาบาล เช่น ค่าห้อง ค่าอุปกรณ์ ค่ารักษา รวมทั้งบางกรมธรรม์มีชดเชยรายได้ด้วย

คนที่มีประกันสุขภาพจะซื้อประกันโควิดเพิ่มดีไหม ต้องกลับมาตอบตัวเองก่อนว่าสิ่งที่ต้องการคืออะไร โดยประกันโควิดแบ่งได้ 4 แบบใหญ่ คือ จ่ายค่ารักษา เจอจ่ายจบเมื่อพบโรค ชดเชยรายได้ และจ่ายป่วยร้ายแรง
คนที่ไม่มีประกันสุขภาพจะซื้อโควิดอย่างเดียวดีหรือไม่ ต้องกลับมาดูตัวเองว่ามีความเสี่ยงจากการติดโรคมากน้อยแค่ไหน หาก work from home และยึด social distancing ซื้อประกันสุขภาพน่าจะคุ้มกว่า 

ทั้งนี้ จะทำประกันชีวิตหรือประกันสุขภาพต้องมาดูว่าตัวเองวางแผนชีวิตไว้อย่างไร จะวางแผนเกษียณ ต้องการคุ้มครองรายได้ หรือคุ้มครองชีวิต/สุขภาพ ซึ่งประกันเป็นเครื่องมือที่สามารถวางแผนได้ตั้งแต่วันแรก เลือกได้เองตามความสมัครใจและเลือกความคุ้มครองได้ตรงกับตัวเอง ไม่ใช่ภาคบังคับ 

“ประกันชีวิตเป็นเครื่องมือทางการเงินประเภทเดียวที่ทำให้เราไม่จนลง เช่น มี 1 ล้าน จ่ายประกัน 1 แสน เราจะมีใช้ 9 แสนแน่ๆ แต่หากไม่มีประกัน มี 1 ล้านใช้ 1 ล้าน แต่เจ็บป่วยต้องรักษาตัว 8 แสนสุดท้ายเหลือใช้แค่ 2 แสน ฉะนั้นแม้ประกันไม่ได้ทำให้เรามั่งคั่ง แต่ช่วยให้เราไม่จนลง ลดความเสี่ยงได้”
**********************************
     Q&A
ถาม : ในเรื่องมูลค่าสำเร็จ หากทำประกันชีวิตไว้มีเวลาเหลือไม่ถึง 10 ปี สรรพากรจะเอาเงินภาษีที่เคยได้ลดหย่อนคืนหรือไม่

ตอบ : ถ้ามีการเปลี่ยนแปลงกรมธรรม์จนส่งผลต่อเบี้ยประกันที่จ่าย สิทธิภาษีที่เคยได้รับอาจจะต้องคืนกลับมา แต่ขึ้นอยู่กับว่าเข้าเงื่อนไขของกรมสรรพากรในการเรียกภาษีคืนหรือไม่ สอบถามได้ที่สรรพากร

ถาม : ประกันสุขภาพโรคร้ายแรงดีหรือไม่

ตอบ : ประกันสุขภาพปกติมีวงเงินกำหนด ซึ่งโรคร้ายแรงมีค่าใช้จ่ายสูง วงเงินคุ้มครองอาจไม่พอหรือหมดเร็ว หากมีประกันโรคร้ายแรง เช่น มะเร็ง ก็มั่นใจได้มากขึ้นว่ามีความคุ้มครองที่ครอบคลุม ซึ่งสถิติ คนไทยเป็นมะเร็งถึง 20% ของประชากร

ถาม : ประกันแบบไหนลดภาษีได้คุ้มสุด

ตอบ : ประกันชีวิต ลดหย่อนภาษีได้ 1 แสนบาท ประกันสุขภาพ 1.5 หมื่นบาทและกำลังมีแนวคิดเพิ่มการลดหย่อนเป็น 2.5 หมื่นบาท 2 ส่วนนี้ลดภาษีได้เต็มเม็ดเต็มหน่วย

ส่วนประกันบำนาญ ลดหย่อนภาษีได้ 15% แต่ไม่เกิน 2 แสนบาท และเมื่อรวมกับการออมเพื่อการเกษียณอื่น (กบข. PVD RMF กองทุนครู กอช. SSF) ไม่เกิน 5 แสนบาท ซึ่งอยากให้โฟกัสที่การออมเพื่อเกษียณขั้นแรกก่อน คือ PVD หรือ กบข. จากนั้นดู RMF ลดหย่อนไปแล้วเท่าไหร่ จึงจะมาดูประกันบำนาญเป็นทางเลือกเพิ่มเติม