สถานการณ์แพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ส่งผลกระทบต่อชีวิตความเป็นอยู่ของคนไทยเป็นวงกว้าง หลายคนมองว่า นี่อาจเป็นวิกฤตที่ร้ายแรงไม่แพ้ต้มยำกุ้งเมื่อปี 2540 คนจำนวนมากรายได้ลดลงและ/หรือรายได้หายไปเลยในบางอาชีพ เช่น ธุรกิจท่องเที่ยว โรงแรม การเดินทาง ความท้าทายครั้งใหญ่นี้กระตุ้นให้ทุกคนปรับตัวรับกับภาวะ New Normal ซึ่งรวมถึงพฤติกรรมทางการเงินด้วย
Live Talk : EP. 4 “ปรับพฤติกรรมการเงินหลังโควิด-19” ของการสัมมนาออนไลน์ Money Buddy in COVID-19 เมื่อวันที่ 22 พ.ค. ที่ผ่านมา โดยมีวิทยากร 3 ท่าน ประกอบด้วย คุณดุษณี เกลียวปฏินนท์ นักวางแผนการเงิน CFP คุณจักรพงษ์ เมษพันธ์ influencer ด้านการเงินบุคคล (โค้ชหนุ่ม The Money Coach) และคุณจีรวุฒิ จันทร์ฉายแสง หัวหน้าพนักงานต้อนรับบนเครื่องบิน บมจ.การบินไทย
คุณจีรวุฒิ ผู้ได้รับผลกระทบโดยตรงจาก COVID-19 กล่าวว่า ทำงานประจำมา 18 ปี ไม่คิดว่าจะเจอวิกฤตแบบนี้ ที่ผ่านมาแม้จะมีโรคระบาด เช่น ซาร์ส เมอร์ส อีโบล่า ก็ไม่ถึงขั้นหยุดบินหลายเดือน อีกทั้งเป็นคนทำงานในองค์กรรัฐวิสาหกิจที่มีความมั่นคง แม้เกษียณเงินก็ยังไม่ขาดมืออยู่ได้สบาย แต่สิ่งที่เกิดขึ้นตอนนี้หยุดบินไม่ต่ำกว่า 2-3 เดือน และไม่รู้อนาคตว่าจะเกิดการระบาดรอบสองรอบสามหรือไม่
ที่ผ่านมาไม่เคยใส่ใจบริหารการเงินเลย คิดแค่ไม่เป็นหนี้เกินตัว มี PVD ยามเกษียณแล้ว ฉะนั้น เงินเดือนได้มาก็ใช้จ่ายกินเที่ยวช้อปปิ้ง มีภาระผ่อนรถผ่อนบ้านกับธนาคารบ้าง ซื้อประกันชีวิตประกันสุขภาพติดไว้ เงินเก็บมีน้อย พอมาเจอโควิดเริ่มรู้สึกถึงความไม่มั่นคงอีกต่อไป รายได้เริ่มกระทบ ทำอย่างไรให้รอดภายใน 3 เดือนนี้
ทางรอด พอดีที่บ้านมีธุรกิจขายอาหารในตลาด ซึ่งเดิมเป็นธุรกิจเสริมของคุณแม่ที่เกษียณแล้ว เมื่อตัวเองมีปัญหาหยุดบินจึงเริ่มมองธุรกิจนี้เป็นรายได้หลัก แต่ก็เคราะห์ซ้ำเจอ พ.ร.ก.ฉุกเฉิน ที่ไม่ให้นั่งกินที่ร้าน รายได้ขายอาหารลดลงมาก จึงหาทางออกด้วยการนำเสนอสินค้าในไลน์กรุ๊ปหมู่บ้าน รับออเดอร์และจัดส่งถึงบ้าน ทำให้ยอดขายเพิ่มขึ้นเท่าปกติ
ถอดบทเรียนจากโควิด ทำให้ได้คิดว่าชีวิตต้องมีหลายประตู หารายได้หลายๆ ทาง ซึ่งทั้งอาชีพพนักงานต้อนรับบนเครื่องบินจะไม่ทิ้ง เช่นเดียวกับธุรกิจขายอาหารที่บ้านก็จะทำเต็มที่ เพราะในอนาคตธุรกิจการบินอาจซบเซา จากการปิดบางสถานีที่ไม่มีกำไรหรือบางประเทศยังมีโควิดอยู่ รวมทั้งคนเดินทางน้อยลง
คติประจำใจ คนที่อยู่รอด คือ คนที่ปรับตัวเข้าได้ทุกสถานการณ์ เราไม่ยึดติดกับสิ่งที่มี เมื่อใดที่อะไรไม่เป็นใจ ก็แค่ปรับตัวให้ได้ พยายามมองหาศักยภาพของตัวเอง อะไรที่ทำได้ดีก็มุ่งไปตรงนั้น
คุณดุษณี กล่าวว่า มนุษย์เงินเดือน-ฟรีแลนซ์ ไม่มีใครดีกว่าใคร พนักงานประจำมั่นคง มีเงินเดือน มีสวัสดิการ มีประกันสุขภาพ ส่วนฟรีแลนซ์ ทำมากได้มาก มีความสามารถหารายได้มากกว่าพนักงานประจำ 5-10 เท่า แต่ไม่มีสวัสดิการ
ผลกระทบพนักงานประจำ แบ่งเป็น 3 กลุ่ม คือ 1. กลุ่มที่ยังไม่เกิดกระทบรายได้อาจจะแค่ WFH 2. กลุ่มที่กระทบบางส่วน เช่น ถูกลดเงินเดือนหรือลดชั่วโมงทำงาน 3. ถูกกระทบเต็มตัวถูกเลิกจ้าง โดย 6 สิ่งที่ต้องทำคือ
1. สำรวจฐานะ มีรายได้แค่ไหน ออมเท่าไหร่ หนี้สินเท่าไหร่ จดรายรับ-รายจ่าย ให้ชัดเจน
2. จัดการหนี้สิน ขอให้เป็นสิ่งแรกที่ทำ คุยกับธนาคารทันทีหากไม่ไหว อย่าหนีเพราะถ้าเป็นหนี้เสีย การขอสินเชื่อในอนาคตจะลำบาก สินเชื่อที่ดอกเบี้ยสูงให้จับรวมกันเพื่ดลดดอกเบี้ย ลดค่าผ่อนได้ อย่าสร้างหนี้เพิ่ม
3. สำรวจสภาพคล่อง เหลือเท่าไหร่ พอหรือไม่
4.วางแผนการเงินด้วย PLAN : Pessimistic มองโลกในแง่ร้ายไว้ก่อนว่าหากเกิดเหตุแย่สุดๆจะเป็นอย่างไร Lessen ลดค่าใช้จ่าย Assurance ทำประกันสุขภาพอุบัติเหตุในระดับที่ไหว New หาลู่ทางใหม่ๆ
5. ตรวจสอบความช่วยเหลือจากหน่วยงานต่าง ๆ เช่น เราไม่ทิ้งกัน สรรพากร ธนาคาร ฯลฯ
6. วางแผนการเงินพร้อมจัดการความเสี่ยง แบ่งเป็น เสี่ยงตกงานให้วางแผนออมเงินสำรอง หรือแผนสภาพคล่องด้วยการมีวงเงินฉุกเฉินไว้ / เสี่ยงเงินเก็บไม่พอเข้าโรงพยาบาล ให้วางแผนประกัน / และเสี่ยงเงินไม่พอใช้เกษียณ ให้วางแผนออมเงินเพื่อเกษียณอายุ
เงินออมฉุกเฉิน ตามทฤษฎีทั่วไปมักจะให้ออมเงิน 3-6 เดือน แต่เมื่อเผชิญโควิด-19 ขอแนะนำให้มีเงินฉุกเฉิน 6-12 เดือน ที่มาของเงินฉุกเฉินอาจมาจากเงินออม หรือวงเงินฉุกเฉินก็ได้ ซึ่งวงเงินนี้อย่าใช้ถ้าไม่จำเป็น
หลังกันเงินฉุกเฉินแล้ว เงินออมที่เหลือสามารถนำไปวางแผนการลงทุนที่เหมาะสม โดยทางเลือกที่น่าสนใจ อาทิ หุ้นกู้เรตติ้ง BBB ขึ้นไป , พันธบัตรรัฐบาล สำหรับคนที่มีเงินเย็นยาวๆ , เงินฝาก ยังได้อยู่ เดิมจะลดความคุ้มครองเหลือ 1 ล้านบาทเลื่อนเป็นปีหน้าแล้ว หุ้นรายตัวซึ่งบางตัวมีปันผลเกิน 5% แนะนำซื้อหุ้นไม่เกิน 5 ตัว ให้เลือกบริษัทที่เรารู้จัก ผลประกอบการดี ไม่มี disruption ดูงบการเงิน ห้ามเชื่อการแนะนำจาก LINE ซึ่งเฉลี่ยผลตอบแทนหุ้น 8 ปี อยู่ที่ 8-12%
8 ข้อเพื่อการเงินที่มั่นคง (1) สำรวจฐานะการเงินของตัวเอง มีจุดอ่อนจุดแข็งยังไง (2) จัดการหนี้ อย่าหนีอย่าเบี้ยว (3) ลดรายจ่าย/เพิ่มรายได้ หาโอกาสใหม่ (4) ใช้ประโยชน์จากสวัสดิการ/เงินสนับสนุนที่ตัวเองมิสิทธิ (5) มองโลกในแง่ร้าย เพื่อเตรียมตัวให้พร้อมรับมือตลอดเวลา (6) วางแผนการเงินเพื่อรับสถานการณ์ที่แย่ที่สุด หาสภาพคล่องสำรอง (7) กระจายสินทรัพย์กระจายแหล่งรายได้ (8) ทำใจให้นิ่งอย่าท้อถอยวิกฤตนี้เราไม่ใช่คนเดียวที่กระทบ
โค้ชหนุ่ม จักรพงษ์ กล่าวว่า สำหรับการบริหารจัดการเงินของฟรีแลนซ์ช่วงโควิด คำแนะนำไม่แตกต่างจากช่วงก่อนโควิด เพราะฟรีแลนซ์มีความเสี่ยงจากรายได้ไม่แน่นอน ต้องจัดการเงินให้เพียงพอรองรับสถานการณ์ที่ไม่มีรายได้อย่างน้อย 6 เดือน หากรายได้เดือนใดไม่พอให้เก็บเพิ่มในส่วนที่ขาด ขณะที่ รายจ่ายอาจต้องวางแผนเป็นรายวันว่าจะใช้เท่าไหร่
การหารายได้เสริม ส่วนใหญ่มักถามว่าทำอะไรดี ซึ่งจริงๆ ต้องถามว่า 'เราทำอะไรได้' บางครั้งทางออกไม่ใช่การทำอะไรใหม่ แค่เราหาช่องทางใหม่ก็สามารถไปต่อได้แล้ว ยกตัวอย่าง ลูกศิษย์ ที่เป็น Personal Training ได้รับผลกระทบจากโควิดจากสถานที่ปิด ก็เปลี่ยนไปเทรนนิ่งผ่านวีดิโอออนไลน์
หากสิ่งที่ทำเดิมไปต่อไม่ได้ ให้ลิสต์ชีวิตที่สะสมมาและงัดความสามารถนั้นมาใช้ เรียนจบอะไร งานอดิเรกคืออะไร เช่น ชอบทำขนม นำมาใช้หารายได้ หรือคนใกล้ตัวมีใครมีหน้าร้านก็ขอฝากขาย นอกจากนี้ โอกาสสร้างรายได้ทางออนไลน์มีมาก หากทำคอนเทนต์ที่น่าสนใจก็อาจมีโฆษณาเข้า หรือเปิดคอร์สสอนออนไลน์ได้
การเปลี่ยนอาชีพเลย ทำได้ แต่ต้องใช้เวลาเปลี่ยนผ่านในการเรียนรู้สกิลใหม่ อีกทั้งควรระวังความเสี่ยงการเงินด้วยว่า หากเริ่มทำสิ่งใหม่แล้วไม่เป็นไปตามคาด เราจะไม่ล้มหรือเจ็บหนักไปมากกว่าเดิม
สำรองเงินแบบฟรีแลนซ์ ต้องกันสำรองหลายเรื่อง 1. สำรองแหล่งรายได้ อย่าฝากชีวิตไว้ที่บริษัทเดียว 2.สำรองเงิน ควรมี 2 ส่วน คือ สำรองเพื่อค่าใช้จ่ายตัวเอง และสำรองเพื่อค่าใช้จ่ายธุรกิจ 3.สำรองในแหล่งลงทุน ขณะนี้ตลาดมีความผันผวนสูง ทางเลือกควรเก็บไว้ในที่เงินฝาก กองทุนรวม ตลาดตราสารหนี้ สลาก ส่วนการลงทุนต้องรอดูสถานกาณ์ก่อน ขอให้ใจเย็นๆ
"เตรียมพร้อมรับสถานการณ์ไว้เสมอ อย่าลืม รายรับ - การออม = เงินเหลือไว้ใช้จ่าย วิกฤตมาแล้วก็ไป อีก 5 ปีข้างหน้าอาจมีคนขอบคุณวิกฤตครั้งนี้ทำให้ได้เปลี่ยนแปลงตัวเองให้มีสุขภาพการเงินที่ดี และอย่าลืมว่าวิกฤตเก่าไป วิกฤตใหม่ก็มาได้ ให้เตรียมตัวไว้เสมอ"
-----------------------
คำถามจากทางบ้าน
ถาม - เป็นพนักงานขับรถ อายุ 56 ปี มีเงินเก็บ 1 แสนบาท จะหารายได้เพิ่มยังไงดี
ตอบ – เลือกที่ความถนัดขับรถก่อน อาจรวบรวมเพื่อนที่ขับรถด้วยกันมาเป็นสมาคม แล้วจัดหา-แจกจ่ายงาน เราเก็บค่าบริหารจัดการ หรือเป็นยูทูบเบอร์ตั้งกล้องแนะวิธีการขับขี่ปลอดภัย ฯลฯ
คำถาม - แนะนำเทคนิคการขายให้น่าดึงดูด
ตอบ – 1. สินค้าต้องดีในระดับหนึ่ง เพราะทำตลาดปังแต่สินค้าไม่ดีอาจจะแย่ได้
2. พยายามใช้ช่องทางขาย เช่น สร้างเพจ โฆษณา และศึกษาอัลกอริทึ่ม เพื่อให้มีประสิทธิภาพ
3. หาเพื่อนที่เป็น micro influencer มีผู้ติดตามซัก 3000-5000 คน เพื่อแนะนำสินค้าเรา
คำถาม – ทำยังไงให้ขายของสู้แอปต่างชาติได้
ตอบ – จุดอ่อนของต่างชาติ คือ ได้รับสินค้าช้า หากตั้งราคาไม่แตกต่างกันมากก็มีโอกาสขายได้ แต่ผู้ขายก็ต้องใส่ใจผู้ซื้อด้วย หากมีคนถามต้องตอบเสมอ เพราะผู้ซื้อรู้สึกได้รับความใส่ใจ เพิ่มโอกาสซื้อซ้ำ อีกทั้ง influencer บางครั้งมาในรูปแบบเพื่อน เช่น ให้เพื่อนลองทาน หากอร่อย ก็บอกปากต่อปาก
คำถาม - จัดพอร์ตยังไงในช่วงโควิด
ตอบ – การจัดพอร์ตตามแผนการเงิน หากมีเงินเหลือสามารถจัด Risky Asset (รวมหุ้นกู้ด้วย) สัดส่วน 60-70% และมาถามตัวเองว่าอยากได้เงินสม่ำเสมอทุกเดือนไหม ก็จัดหุ้นกู้ แบ่งซื้อตามเดือน เพื่อสร้างรายได้ทุกเดือน ส่วนสินทรัพย์ลงทุนอื่นต้องดูให้ดี เช่น กองรีท ที่อาจลงในโรงแรมซึ่งขณะนี้ไม่มีรายได้ควรชะลอไว้ก่อน / ทอง ราคาขึ้นมาสูงแล้ว นิ่งไว้หรือซื้อไว้นิดหน่อย / หุ้น น่าสนใจแต่การตัดสินใจลงทุนต้องศึกษาข้อมูลให้ดี แผนธุรกิจ ผู้บริหาร แนวโน้มการถูก disrupt เป็นต้น