เอสเอ็มอีหัวใจแกร่ง รับวันฟ้าหลังฝนโควิด-19

02 มิถุนายน 2563
อ่าน 5 นาที
ไม่มีเหตุการณ์ใดที่ท้าทายผู้ประกอบการเอสเอ็มอีได้หนักหนาเท่ากับเหตุการณ์โควิด-19 ที่บีบคั้นจากบรรยากาศความกังวล กำลังซื้อที่ลดลง ตลาด และช่องทางการทำธุรกิจ ต้องอาศัยการปรับตัวและปรับแผนธุรกิจแบบฉับพลัน รวมทั้งปรับแผนการเงินของธุรกิจด้วย

Live Talk : EP.5 “เอสเอ็มอีหัวใจแกร่ง รับวันฟ้าหลังฝนโควิด-19” เมื่อวันที่ 29 พ.ค. ได้มุมมอง แนวคิด และแรงบันดาลใจ จากวิทยากร 3 ท่าน ได้แก่ คุณณัฐวุฒิ เผ่าปรีชา บริษัท โจ-ลี่ แฟมิลี่ จำกัด ธุรกิจผลิตภัณฑ์แปรรูปผลไม้ Wel.B  คุณเรืองวิทย์ นันทาภิวัฒน์ ที่ปรึกษาคณะกรรมการ สมาคมนักวางแผนการเงินไทย และคุณธนพงษ์ ณ ระนอง นายกสมาคมไทยผู้ประกอบธุรกิจเงินร่วมลงทุน



คุณณัฐวุฒิ กล่าวว่า วิกฤตครั้งนี้เอสเอ็มอีเจ็บถ้วนหน้าจริงๆ ทำธุรกิจมา 10 ปี ไม่เคยหนักเท่านี้ ที่ผ่านมาบริษัทมีฐานลูกค้า 3 ตลาด ได้แก่ ตลาดในประเทศ (สัดส่วน 20%) ตลาดต่างประเทศ (50%) และตลาดนักท่องเที่ยว (30%) ส่วนใดมีปัญหาก็มีทางหนึ่งช่วยพยุง แต่โควิดมีกระทบทุกช่องทางโดยเฉพาะนักท่องเที่ยวเป็นศูนย์เลย

การปรับตัว แบ่งเป็น 1. ดูแลกระแสเงินสดให้เพียงพอในสถานการณ์เลวร้ายที่สุด มองหาแหล่งเงินทุนสำรองไม่ว่าจะเป็นจากรัฐบาลหรือจากสถาบันการเงิน

2. หาช่องทางใหม่ เมื่อนักท่องเที่ยวจีนไม่มาก็ปรับแผนเอาสินค้าไปขายถึงที่ เปิดคลังสินค้าที่จีนรวบรวมสินค้าที่นักท่องเที่ยวชอบ เปิดรับออเดอร์ผ่านออนไลน์และจัดส่งถึงบ้าน ซึ่งได้รับการตอบรับที่ดี เพราะความต้องการของลูกค้านักท่องเที่ยวยังมี เพียงแต่เขาหาโอกาสซื้อไม่ได้ การปรับตัวนี้ช่วยเติมน้ำหล่อเลี้ยงให้ธุรกิจยังเดินไปได้

3. เนื่องจากบริษัทมีซัพพลายเออร์จำนวนมากที่เป็นเกษตรกร ล้ง ที่อาจกระทบเป็นลูกโซ่ จึงเพิ่มผลิตภัณฑ์ใหม่นำทุเรียนมาแกะสดแพคซีลอย่างดี ขายออนไลน์และส่งถึงบ้าน ได้รับการตอบรับดี มีลูกค้าถึง 6,000 ราย

สถานการณ์ยังไม่เห็นโอกาสฟื้นตัวเลยภายในครึ่งปี 2564 ฉะนั้นสิ่งที่จะทำ คือ บอกทุกคนให้เก็บพลังการเอาตัวรอดเอาไว้ เพราะจะทำให้เราสามารถลงมือทำสิ่งที่ไม่เคยคิดอยากจะทำเพื่อความอยู่รอด พร้อมทั้งดูแลลูกค้าใกล้ชิด รับฟังความคิดเห็นและนำไปปรับปรุง กล้าทดสอบสิ่งใหม่ๆ ปลดกรอบ ออกจาก Safe Zone 

นอกจากนี้ ต้องวางแผนการเงิน/สภาพคล่อง ซึ่งเอสเอ็มอีมักจะชินกับการใช้บริการธนาคารพาณิชย์ แต่พอมีวิกฤตจะพบว่า ธนาคารของรัฐมีความช่วยเหลือออกมาเร็วมาก จึงควรเปิดช่องทางแหล่งเงินทุนที่หลากหลาย

"เห็นความตั้งใจดีของรัฐบาลในการช่วยเหลือเอสเอ็มอี แต่เงื่อนไขต่าง ๆ ทำให้เอสเอ็มอีเข้าไม่ถึงความช่วยเหลือ ตอนนี้เอสเอ็มอีอยากให้มีเงินอัดฉีดเข้ามาช่วยอย่างเร่งด่วน เพราะถ้าเอสเอ็มอีไปไม่ไหว มีคนงานอีกมากมายที่ต้องเดือดร้อนตามมา​" คุณณัฐวุฒิ กล่าว

 


คุณเรืองวิทย์ กล่าวว่า ปัญหาของเอสเอ็มอีส่วนใหญ่มาจากการขาดกระแสเงินสด จากยอดขายสินค้าหายไป โดยเศรษฐกิจไทยไม่ดีมา 2-3 ปีแล้ว ซึ่งปี 2562 หลายธุรกิจเริ่มเซ และเมื่อเข้าสู่ปี 2563 ที่มีปัญหาฝุ่นผนึกกับโควิด ธุรกิจที่อ่อนแออยู่แล้วไปไม่ไหว บางรายหนี้สินเพิ่มขึ้นจากการกู้ยืมมาหมุนสภาพคล่องอีกด้วย

การรับมือ ในกรณีที่ยังหาทางออกให้ธุรกิจไม่ได้ ต้องรีบกลับมาสำรวจตัวเองก่อนว่าทำอะไรได้บ้าง ซึ่งมี 3 ทาง คือ รายได้ รายจ่าย ทรัพย์สิน ที่สามารถนำมาเพิ่มกระแสเงินสดให้ธุรกิจได้
          เพิ่มรายได้ - หลายอาชีพที่หยุดไปก็ไม่ยอมแพ้ที่จะอยู่กับสิ่งเดิม พยายามหารายได้ทางอื่นทดแทน เช่น จากนักบินมาขับรถส่งอาหาร ดึงความถนัดและสิ่งที่มีของแต่ละคนออกมาสร้างรายได้เพิ่ม
          ลดรายจ่าย - จากการ WFH ทำให้หลายคนประหยัดเงินได้มาก ส่วนใครที่ยังคุมค่าใช้จ่ายไม่ได้ให้ทบทวนการใช้จ่ายช่วง 3 เดือน อะไรที่จำเป็นต่อการยังชีพ ตัดสิ่งไม่จำเป็นออกไป
          ขายทรัพย์สิน – เมื่อตอนวิกฤต 40 มีเปิดท้ายขายของ มาสมัยนี้ง่ายขึ้นสามารถนำทรัพย์สินที่ไม่จำเป็นมาขายทางออนไลน์ได้ 

อีกหนึ่งโมเดลหนึ่งที่ดีมาก คือ  Market Place ของสถาบันการศึกษา เป็นความเฉพาะตัวของคนไทยที่พึ่งพาอาศัยช่วยเหลือกัน อย่างที่ประเทศอื่นไม่มี ซึ่งมองไปข้างหน้ายังอาจใช้ช่องทางนี้ทำอะไรร่วมกันเพิ่มเติมอีก

แนวโน้มสถานการณ์ลากยาวแน่นอน แผนในอดีตที่เคยทำไว้อาจเปลี่ยนไปแล้ว ต้องวิเคราะห์สมมุติฐานใหม่ว่าโลกจะเปลี่ยนไปอย่างไร จากนั้นเริ่มทดสอบให้เร็ว พร้อมทั้งอยากฝากรัฐบาลให้สิทธิประโยชน์หรือความช่วยเหลือแก่เอสเอ็มอีในเรื่องของการจ้างงาน เป็นพิเศษ เพื่อช่วยคนให้ยังมีงานทำมีรายได้ ลดผลกระทบต่อเศรษฐกิจ

 


ธนพงษ์ กล่าวว่า ธุรกิจร่วมลงทุน (VC) ได้รับผลกระทบมากในช่วงโควิด แม้สตาร์ทอัพส่วนหนึ่งทำธุรกิจค้าออนไลน์ยังค้าขายได้อยู่ แต่อีกไม่น้อยที่เพิ่งเริ่มต้น ยังพึ่งพาเงินทุนจาก VC อยู่และเริ่มขอให้ VC ใส่เงินลงทุนเพิ่ม ซึ่งตอนนี้ VC ก็ลังเล แม้กระทั่งธุรกิจที่ค้าขายออนไลน์ก็ตาม เพราะห่วงแนวโน้มกำลังซื้ออาจได้รับผลกระทบจากโควิดในระยะต่อไปจะกระทบต่อเนื่องมายังธุรกิจด้วย

แหล่งเงินทุนของธุรกิจสำหรับสตาร์ทอัพสามารถพึ่งพาได้ 2 ส่วน คือ 1.เงินช่วยเหลือของหน่วยงานและสถาบันการเงินต่าง ๆ ตามมาตรการของรัฐ ซึ่งโชคดีรัฐมีทางเลือกมากมาย และ 2. เงินเพิ่มจากนักลงทุนเก่า ซึ่งจากสถานการณ์แบบนี้การจะลงเงินเพิ่มในรูปแบบเงินทุน (equity) ยากขึ้น มักจะให้เป็นรูปของเงินกู้ หรือ Convertible Note มีฐานะเป็นเจ้าหนี้

รูปแบบการเงินร่วมลงทุน สามารถนำมาปรับใช้ให้เป็นแหล่งเงินทุนใหม่ของเอสเอ็มอีได้ และส่วนตัวอยากให้สตาร์ทอัพมาเรียนรู้การทำงานแบบเอสเอ็มอีด้วย เพราะสตาร์ทอัพมีจุดเด่นที่คนน้อย องค์กรเล็กๆปรับตัวง่าย  แต่ก็มีจุดอ่อนที่พึ่งพาเงินทุนจากนักลงทุนเป็นหลัก อาจไม่สนใจการทำกำไร (Bottom Line) มากนัก ซึ่งอาจจะเหนื่อยหากไปขอสินเชื่อธนาคาร 

"ในโมเดลใหม่ หากสตาร์ทอัพสามารถ lean องค์กรได้ และบริหารให้มีกำไรบางๆ ระหว่างนี้คุยกับธนาคารแต่เนิ่นๆ จะเพิ่มความคล่องตัวในระยะยาว หากต้องการสภาพคล่องสามารถเข้าหาธนาคารได้เร็ว เพราะธนาคารมีฐานข้อมูลการทำธุรกิจของสตาร์ทอัพนั้นอยู่แล้ว"​

หากสถานการณ์ลากยาวทุกสตาร์ทอัพกระทบหมด โดยเฉพาะสตาร์ทอัพที่ทำธุรกิจคล้ายกันต้องเร่งปรับแผน โดยขอแนะนำโมเดล merge platform ในธุรกิจที่คล้ายกันเข้าไว้ด้วยกัน เช่น platform ของสตาร์ทอัพท่องเที่ยวรวมกันเป็น platform ใหญ่ มีรัฐบาลสนับสนุน เอกชนใช้ของไทยแทนการใช้ของนอก ทำให้สตาร์ทอัพไทยเข็มแข็งและอยู่รอดได้ 
-----------------------------
คำถามจากทางบ้าน
ถามคุณเรืองวิทย์ - มีอะไรไม่เปลี่ยนไหมหลังโควิด
ตอบ - ไม่มี _ ทุกอย่างต้องเปลี่ยนแปลงแน่นอนหลังโควิด ไม่มีอะไรไม่เปลี่ยน อย่าคาดหวังว่า old normal จะกลับมา ให้คิดไว้เลยว่า new normal ใหม่ อะไรจะมากระทบ และเตรียมหาทางรับมือไว้

ถามคุณธนพงษ์ – VC สนใจร่วมลงทุนในธุรกิจเอสเอ็มอีหรือไม่
ตอบ – VC สนใจลงทุนในธุรกิจที่โตเร็ว มีอนาคตเข้าจดทะเบียน หรือมีคนสนใจซื้อ ผลตอบแทน (return) ดีกว่าลงทุนประเภทอื่น ไม่ได้มองว่าจะเป็นสตาร์ทอัพหรือเอสเอ็มอี คุณสมบัติของเอสเอ็มอีที่จะได้ VC ของเอสเอ็มอีแบงก์และธนาคารออมสิน จะพิจารณาว่าเป็นธุรกิจที่ยั่งยืน โมเดลธุรกิจ แนวโน้มการเติบโต ผู้ก่อตั้งเก่ง แต่หลังโควิดอาจพิจารณาความเสี่ยงจาก macro view เพิ่มเติม

ตนเองในฐานะนายกสมาคมไทยผู้ประกอบธุรกิจร่วมลงทุนได้เสนอต่อรัฐบาลให้ช่วยตั้ง matching fund โดยให้รัฐบาลเข้ามาร่วมลงทุนในธุรกิจด้วยสัก 50% แทนที่ VC จะรับความเสี่ยงไว้ทั้ง 100% อยู่ระหว่างพิจารณา 

ถามคุณณัฐพงษ์ – สนใจหาคนร่วมทุนห​รือไม่
ตอบ – ทุกวันนี้ได้รับข้อเสนอจากหลายที่ ทั้งธนาคารรัฐ ธนาคารพาณิชย์ ผู้ลงทุน ลูกค้าต่างประเทศ แต่ที่ยังไม่เลือกเพราะไม่รู้ว่าจะเอาเงินไปทำอะไรที่จะสร้างรายได้ใหม่เข้ามา ทว่า หลังเจอปัญหาโควิด เริ่มมองการร่วมทุน เป็นทางเลือกหนึ่ง ในกรณีที่ธุรกิจไปไม่ไหวต้องการเงินทุน