
“กองทุนสำรองเลี้ยงชีพ” ซึ่งเป็นหนึ่งในสวัสดิการของหลายๆ บริษัท และเป็นเรื่องที่ลูกจ้างต้องรู้ ไม่ว่าจะกำลังทำงานอยู่ หรือว่างงานก็ตาม เพื่อไม่ให้เสียผลประโยชน์ที่ควรจะได้
ข่าวดี! เลื่อนส่งเงินเข้ากองทุนสำรองเลี้ยงชีพ
ก่อนอื่นขอพูดถึงข่าวดี เพราะกระทรวงการคลังได้ประกาศนโยบายช่วยเหลือลูกจ้างและผู้ประกอบการ ให้สามารถ “หยุดหรือเลื่อน” การนำส่งเงินเข้ากองทุนได้ชั่วคราว ตั้งแต่งวดนำส่งของเดือนมกราคม – มิถุนายน 2564 แต่ยังนับอายุสมาชิกกองทุนต่อเนื่อง และคงสมาชิกภาพไว้ อย่างน้อยก็ช่วยแบ่งเบาภาระค่าใช้จ่ายไปได้บ้าง
ถ้าถูกเลิกจ้าง มีทางเลือกจัดการกองทุนสำรองเลี้ยงชีพอย่างไรได้บ้าง?
1. ถอนเงินออกจากกองทุน
- สามารถถอนออกมาจากกองทุนทั้งหมดได้ แต่ผลประโยชน์เงินสะสม เงินสมทบ และผลประโยชน์เงินสมทบ จะต้องถูกหักภาษี และจะเป็นการหยุดแผนการออมเพื่อเกษียณ จึงไม่ค่อยแนะนำทางเลือกนี้เท่าไร ยกเว้นว่าจำเป็นต้องใช้เงินจริงๆ
2. ขอคงเงินไว้ที่กองทุนเดิมก่อน
- ถ้ายังไม่จำเป็นต้องใช้เงินเร่งด่วน ก็แนะนำให้เก็บไว้กับกองทุนเดิมก่อน เพื่อให้เงินก้อนนี้ทำหน้าที่สร้างผลตอบแทนอย่างต่อเนื่อง โดยต้องจ่ายค่าธรรมเนียมปีละ 500 บาท อย่างไรก็ตามหากเป็นกรณีที่บริษัทปิดกิจการจะไม่สามารถคงเงินได้
3. ย้ายไปกองทุน RMF for PVD
- สามารถเลือกโอนเงินไปลงทุนต่อในกองทุน RMF for PVD ของ บลจ. ที่มีให้บริการกองทุนประเภทนี้ ซึ่งมีนโยบายการลงทุนหลากหลายและเราเลือกได้ตามความต้องการและเป้าหมายการลงทุน โดยจะนับอายุการเป็นสมาชิกกองทุนสำรองเลี้ยงชีพต่อเนื่อง และได้รับสิทธิประโยชน์ทางภาษีตามเดิม
4. ย้ายไปกองทุนสำรองเลี้ยงชีพของที่ทำงานใหม่
- หากบริษัทที่เราได้งานใหม่นั้นมีกองทุนสำรองเลี้ยงชีพอยู่ ก็สามารถโอนย้ายเงินในกองทุนเดิมของเราจากที่ทำงานเก่าเข้าไปได้เลย
ทั้งหมดนี้เป็นเรื่อง “กองทุนสำรองเลี้ยงชีพ” ที่ลูกจ้างต้องรู้ เรียกว่าเป็นหนึ่งในเครื่องมือวางแผนเกษียณที่ดีที่สุด เพราะนอกจากบริษัทจะมอบให้เป็นสวัสดิการแล้ว ทางภาครัฐก็ยังส่งเสริมด้วยเช่นกัน ส่วนเราจะเลือกวิธีบริหารจัดการแบบไหน ก็ขึ้นอยู่กับประโยชน์ที่จะได้รับ และความจำเป็นในชีวิตของแต่ละคนนั่นเอง