หลักการ "การเปิดเผยข้อมูล" ของบริษัทจดทะเบียน เพื่อความเท่าเทียมกันของผู้ลงทุนทุกกลุ่ม

09 กันยายน 2567
อ่าน 4 นาที




“บริษัทจดทะเบียนมีหน้าที่เปิดเผยข้อมูลที่มีผลต่อราคาหลักทรัพย์หรือต่อการตัดสินใจลงทุนในหลักทรัพย์ ซึ่งเป็นข้อมูลที่มีนัยสำคัญต่อการตัดสินใจของผู้ลงทุนในทันทีที่สามารถทำได้ (Material Information) โดยเปิดเผยข้อมูลที่ถูกต้อง มีรายละเอียดเพียงพอ ในเวลาที่เหมาะสม เพื่อให้บุคคลทุกกลุ่มเข้าถึงข้อมูลได้อย่างเท่าเทียมกัน (Fair Disclosure) และในกรณีที่ข้อมูลนั้นยังไม่สามารถเปิดเผยได้ บริษัทจดทะเบียนจะต้องมีระบบในการดูแลรักษาข้อมูลนั้นให้จำกัดเฉพาะบุคคลที่จำเป็น”


หนึ่งในหน้าที่ของบริษัทจดทะเบียน คือ การเปิดเผยข้อมูล (Disclosure) เพื่อให้ผู้ลงทุนมีข้อมูลอย่างถูกต้อง
ในเวลาที่เหมาะสม และได้รับข้อมูลอย่างเท่าเทียมกัน อันเพื่อให้เกิดความเป็นธรรมในการซื้อขายหลักทรัพย์
ดังนั้น พระราชบัญญัติหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ จึงได้มีบทบัญญัติที่กำหนดห้ามมิให้บุคคลใดซึ่งรู้หรือครอบครองข้อมูลภายในกระทำการซื้อหรือขายหลักทรัพย์ และเปิดเผยข้อมูลภายในแก่บุคคลอื่น เพื่อให้บริษัทจดทะเบียน รวมถึงกรรมการและผู้บริหารของบริษัทจดทะเบียนปฏิบัติได้ถูกต้องตามที่กฎหมายกำหนด และมั่นใจว่าบริษัทจดทะเบียนจะเปิดเผยข้อมูลแก่บุคคลทุกกลุ่มอย่างเท่าเทียมและมีการดูแลข้อมูลที่มีผลกระทบต่อราคาหลักทรัพย์ที่ยังไม่สามารถเปิดเผยได้เป็นอย่างดี ก.ล.ต. จึงได้มีการกำหนด “แนวปฏิบัติ”* ซึ่งสอดคล้อง
กับหลักการและมาตรฐานสากล โดยรวมถึง การจัดการข้อมูลภายในที่ยังไม่อาจเปิดเผยได้ และการเปิดเผยข้อมูลแก่บุคคลเฉพาะกลุ่ม เช่น ผู้ลงทุน หรือ นักวิเคราะห์การลงทุน

สำหรับแนวทางในการจัดการข้อมูลภายในที่ยังไม่อาจเปิดเผยได้ เช่น เปิดเผยข้อมูลทันทีที่มีความแน่นอน สำหรับข้อมูลภายในที่ยังไม่มีผลสรุปหรือมีความไม่แน่นอนสูง เช่น เรื่องที่อยู่ระหว่างการเจรจา บริษัทจดทะเบียน
จึงยังไม่สามารถเปิดเผยข้อมูลนั้นได้ เพราะอาจมีผลต่อการเจรจาหรือต้องได้รับอนุมัติจากหน่วยงานอื่น แต่เมื่อสามารถสรุปผลได้หรือมีความแน่นอนแล้วต้องเปิดเผยข้อมูลนั้นทันที และต้องมีการรักษาความลับของข้อมูลภายในที่ยังไม่เปิดเผย เพื่อป้องกันมิให้ผู้ใดนำไปแสวงหาประโยชน์ หรือเปิดเผยโดยมิชอบ รวมทั้งกรณีที่จำเป็นต้องเปิดเผยแก่ผู้มีหน้าที่เกี่ยวข้อง เช่น ที่ปรึกษากฎหมาย หรือสถาบันการจัดอันดับความน่าเชื่อถือ ต้องดำเนินการให้บุคคลที่ทราบข้อมูลรักษาความลับและมีระบบในการรักษาความลับ

สำหรับแนวทางการเปิดเผยข้อมูลแก่บุคคลเฉพาะกลุ่ม เช่น ผู้ลงทุน หรือ นักวิเคราะห์หลักทรัพย์ บริษัท
จดทะเบียนต้องดำเนินการบนหลักการการเปิดเผยข้อมูลที่มีนัยสำคัญต่อการตัดสินใจลงทุนอย่างเท่าเทียมกัน ทั้งในด้านเนื้อหาและระยะเวลา ซึ่ง ก.ล.ต. กำหนดแนวปฏิบัติไว้อย่างชัดเจน เช่น ต้องให้ข้อมูลด้วยความระมัดระวังและตอบคำถามที่อยู่ในกรอบข้อมูลที่เตรียมไว้เท่านั้น ไม่ตอบคำถามที่เป็นข้อมูลภายใน หากมีการเปิดเผยข้อมูลภายในแก่บุคคลเฉพาะกลุ่ม (ซึ่งถือว่าเป็นการปฏิบัติไม่ถูกต้องตาม พ.ร.บ. หลักทรัพย์ฯ แล้ว) บริษัทจดทะเบียนต้องเปิดเผยข้อมูลนั้นผ่านตลาดหลักทรัพย์ฯ ทันที เพื่อเป็นการบรรเทาผลกระทบที่อาจเกิดขึ้น และต้องแจ้งให้ผู้ได้รับข้อมูลทราบถึงหน้าที่ในการรักษาความลับจนกว่าจะมีการเปิดเผยด้วย

นอกจากนี้ ก.ล.ต. ยังกำหนดหลักเกณฑ์ในการปฏิบัติหน้าที่ของ “นักวิเคราะห์การลงทุน” โดยต้องปฏิบัติ
ให้เป็นตามกฎหมายและจรรยาบรรณฯ  ที่เกี่ยวข้อง เช่น ต้องปฏิบัติหน้าที่หรือให้บริการด้วยความซื่อสัตย์สุจริต และต้องปฏิบัติหน้าที่ด้วยความรับผิดชอบและรอบคอบเยี่ยงผู้ประกอบวิชาชีพ และปฏิบัติต่อผู้ลงทุน
ทุกรายอย่างเป็นธรรม โดยคำนึงถึงประโยชน์ของผู้ลงทุนเป็นสำคัญ รวมทั้งไม่กระทำการในลักษณะเอาเปรียบผู้ลงทุนหรือแสวงหาประโยชน์ให้ตนเอง เช่น ไม่ใช้ข้อมูลภายในในการจัดทำบทวิเคราะห์ ไม่นำข้อมูลเกี่ยวกับการวิเคราะห์การลงทุนไปแสวงหาประโยชน์ต่อตนเองหรือบุคคลอื่นก่อนที่จะมีการเผยแพร่บทวิคราะห์ให้กับผู้ลงทุน

ก.ล.ต. จึงขอให้ผู้ลงทุนมั่นใจว่า ก.ล.ต. มีหลักการและแนวปฏิบัติในการเปิดเผยข้อมูล ทั้งกับบริษัท
จดทะเบียนและผู้เกี่ยวข้อง เพื่อให้บุคคลทุกกลุ่มเข้าถึงข้อมูลได้อย่างเท่าเทียมกัน และหากเกิดการกระทำที่เข้าข่ายเป็นการกระทำอันไม่เป็นธรรมเกี่ยวกับการซื้อขายหลักทรัพย์ ไม่ว่าจะเป็นใคร หรือความผิด
ในกรณีใดก็ตาม ก.ล.ต. จะดำเนินการบังคับใช้กฎหมายอย่างเต็มที่​

                                             **************************
หมายเห​ตุ : 
* แนวปฏิบัติในการเปิดเผยและรักษาข้อมูลลับที่มีผลกระทบต่อราคาหลักทรัพย์