บทบาทของ ก.ล.ต. ต่อการออกเสนอขายหุ้น IPO

29 สิงหาคม 2566
อ่าน 4 นาที



การออกและเสนอขายหุ้นออกใหม่ต่อประชาชนเป็นครั้งแรก (IPO) เป็นเครื่องมือที่จะช่วยให้ภาคเอกชนสามารถระดมทุนจากประชาชน ในขณะที่ประชาชนก็มีโอกาสลงทุนในหุ้น IPO (ตลาดแรก) ก่อนที่หุ้นนั้นจะมีการจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ฯ (ตลาดรอง) ซึ่งจะช่วยให้ผู้ลงทุนสามารถซื้อขายเปลี่ยนมือหุ้นที่ลงทุนได้คล่องตัวอีกด้วย

ก.ล.ต. ให้ความสำคัญกับกระบวนการคัดกรองคุณภาพของบริษัทที่จะออกหุ้น IPO เพื่อสร้างความมั่นใจให้แก่ผู้ลงทุน โดยให้มีที่ปรึกษาทางการเงิน (financial advisor) ทำหน้าที่ในการทำ due diligence คุณสมบัติและการเปิดเผยข้อมูลของบริษัทที่ยื่นคำขอเสนอขายหุ้น IPO ว่าเป็นไปตามเกณฑ์ ก.ล.ต. พร้อมทั้งรับรองความถูกต้องของข้อมูลร่วมกับบริษัทด้วย ซึ่งเกณฑ์การพิจารณามี 2 ด้าน ดังนี้ 

  1. คุณสมบัติเชิงคุณภาพ เช่น โครงสร้างการถือหุ้น กลไกการบริหารจัดการ คุณสมบัติของกรรมการและผู้บริหาร งบการเงินน่าเชื่อถือและจัดทำตามมาตรฐานการรายงานทางการเงินที่กำหนดขึ้นโดยสภาวิชาชีพบัญชี ซึ่งสอดคล้องกับมาตรฐานการรายงานทางการเงินระหว่างประเทศและระบบควบคุมภายในที่เหมาะสม เป็นต้น
  2. การเปิดเผยข้อมูลบริษัทครบถ้วน ในแบบ filing (แบบแสดงรายการข้อมูลการเสนอขายหลักทรัพย์) เพื่อให้ผู้ลงทุนเข้าใจลักษณะการประกอบธุรกิจ แผนกลยุทธ์และทิศทางการดำเนินงาน การกำกับดูแลกิจการ ปัจจัยความเสี่ยงของกิจการ ฐานะการเงินและผลการดำเนินงาน ซึ่งจะช่วยให้ผู้ลงทุนมีข้อมูลเพียงพอสำหรับใช้ประกอบการวิเคราะห์และตัดสินใจลงทุนในหุ้น IPO ของบริษัท
สำหรับการจัดสรรหุ้น IPO บริษัทที่ออกหุ้น (issuer) และบริษัทหลักทรัพย์ที่เป็นผู้จัดจำหน่ายหลักทรัพย์ (underwriter) จะต้องเปิดเผยข้อมูลเกี่ยวกับการจัดสรรหุ้นไม่ว่าจะเป็นจำนวนหุ้น IPO ที่จะเสนอขาย สัดส่วนของกลุ่มผู้ลงทุนที่จะได้รับจัดสรร วิธีการจองซื้อ และเกณฑ์การจัดสรร รวมถึงที่มาของการกำหนดราคาหุ้นไว้ในหนังสือชี้ชวนอย่างชัดเจน เพื่อให้ผู้ลงทุนรับทราบข้อมูลและนำไปประกอบการตัดสินใจลงทุน

ก.ล.ต. และตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย ประสานงานและร่วมมือกันอย่างใกล้ชิด เพื่อยกระดับการกำกับดูแลบริษัทที่เสนอขายหุ้น IPO  ทั้งในเชิงปริมาณและเชิงคุณภาพเพื่อสร้างความมั่นใจให้แก่ผู้ลงทุน ซึ่งโดยทั่วไปจะยื่นขอจดทะเบียนเป็น “หลักทรัพย์จดทะเบียน” ต่อตลาดหลักทรัพย์ด้วย เพื่อให้สามารถซื้อขายในตลาดรองได้
ภายหลัง IPO บริษัทที่ออกหุ้นมีหน้าที่ที่จะต้องเปิดเผยข้อมูลและนำส่งรายงานต่าง ๆ ตามที่กฎหมายกำหนด เพื่อให้ผู้ลงทุนสามารถติดตามข้อมูลได้ รวมทั้งกรรมการและผู้บริหารของบริษัทต้องปฏิบัติหน้าที่ด้วยความระมัดระวังและซื่อสัตย์สุจริต (fiduciary duties) และกำกับดูแลกิจการตามหลักธรรมาภิบาล (CG) ที่ดี โดยทำงานร่วมกับหน่วยงานภายในและภายนอก เช่น ฝ่ายตรวจสอบภายในหรือผู้สอบบัญชี เพื่อให้การกำกับดูแลกิจการเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ  

อย่างไรก็ดี ลักษณะการประกอบธุรกิจ ฐานะการเงิน หรือผลการดำเนินงานของบริษัทจดทะเบียนอาจแตกต่างไปจากข้อมูลในช่วงที่เสนอขาย IPO ผู้ลงทุนจึงควรติดตามการดำเนินงานและการเปิดเผยข้อมูลของบริษัทจดทะเบียนอย่างต่อเนื่อง เช่น ข้อมูลที่เผยแพร่ผ่านระบบสารสนเทศของตลาดหลักทรัพย์ และข้อมูลงบการเงิน หรือแบบรายการ 56-1 One Report เป็นต้น 

รวมถึงหากมีการเปลี่ยนแปลง หรือการเข้าทำธุรกรรมที่สำคัญ หรือมีรายการที่เกี่ยวโยงกันที่บริษัทต้องขอมติที่ประชุมผู้ถือหุ้น ผู้ลงทุนก็ต้องศึกษาข้อมูลและไปใช้สิทธิออกเสียง เพื่อรักษาสิทธิของตนเองตามที่กฎหมายได้ให้อำนาจไว้ เพื่อให้การตัดสินใจลงทุนเป็นไปด้วยความรอบคอบ ​
                                        ____________________________

infographic