ออมเพื่อเกษียณ มีแต่ได้กับได้

09 ตุลาคม 2563
อ่าน 4 นาที
​​"คนไทยควรมีเงินสำหรับใช้ ณ วันเกษียณอายุ ประมาณ 3 ล้านบาท แต่ร้อยละ 70 ของสมาชิกกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ (หรือ PVD) กลับมีเงินในวันเกษียณอายุไม่ถึง 1 ล้านบาท ซึ่งไม่พอใช้อย่างแน่นอน"  

ผลสำรวจข้างต้นมาจาก โครงการศึกษาวิเคราะห์ระดับสินทรัพย์การออมขั้นต่ำที่ผู้เกษียณอายุพึงมีสำหรับการประกันคุณภาพชีวิตขั้นพื้นฐาน (วัยสูงอายุ) โดยคณะวิทยาการจัดการ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ วิทยาเขตศรีราชา และคณะพาณิชยศาสตร์และการบัญชี จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ซึ่งสะท้อนว่า แนวโน้มคนไทยมีเงินไม่พอใช้ยามเกษียณ ทั้งที่ประเทศไทยกำลังเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุในอีกไม่กี่ปีข้างหน้านี้ และด้วยสภาพสังคมที่เปลี่ยนไปคนเป็นโสดมากขึ้น มีลูกน้อยลง ยิ่งต้องพึ่งพาตนเองมากขึ้น

ทุกคนควรเริ่มออมเพื่อเกษียณตั้งแต่วันนี้ ไม่ว่าอายุเท่าใด เพราะการออมเพื่อเกษียณยิ่งเริ่มเร็วยิ่งดี จากการออม การลงทุนมีเรื่องของ ดอกเบี้ยทบต้น เช่น ต้องการมีเงิน 1 ล้านบาท ตอนอายุ 60 ปี ถ้าเริ่มออมตั้งแต่อายุ 20 นำไปลงทุนได้ผลตอบแทน 5% ออมเพียง 8,300 บาท/ปี แต่ถ้าเริ่มออมตอนอายุ 50 ปี จะต้องเก็บเงินถึงปีละ 80,000 บาท เพื่อให้ได้เงินล้านตอนอายุ 60 ดังนั้นยิ่งเริ่มออมเร็วยิ่งมีโอกาสบรรลุเป้าหมายได้อย่างไม่เร่งรัดจนเกินไป



ต้องมีเงินเท่าไหร่จึงจะพอใช้ตอนเกษียณ? ต้องถามตัวเองก่อนว่าอนาคตอยากอยู่แบบไหน ขึ้นอยู่กับ 3 อยู่ คือ
(1) อยู่ที่ไหน กรุงเทพหรือต่างจังหวัด
(2) อยู่อย่างไร lifestyle เป็นอย่างไร
(3) อยู่กับใคร ต้องจ้างคนดูแลหรือมีลูกหลานดูแล 

วิธีคำนวณเงินเกษียณเบื้องต้น คือ ดูว่าเราอายุเท่าไหร่ ตั้งใจจะเกษียณเมื่อไหร่ แล้วเหลือเวลาทำงานอีกกี่ปี และจะใช้เงินตอนเกษียณเดือนละกี่บาท เพื่อคำนวณเป็นเงินที่ต้องใช้ตอนเกษียณ ข้อสำคัญคือวันนี้เรามีเงินออมแล้วหรือยัง จะต้องออมเพิ่มเท่าไหร่ มีเวลาเท่าไหร่ มีแหล่งเงินออมอย่างไรบ้าง (สามารถคำนวณได้ ที่นี่ )

คุณอุมาพันธุ์ เจริญยิ่ง, CFP กล่าวว่า หลายคนอาจบอกว่าเงินกินยังแทบจะไม่พอ จะเก็บเงินเพื่อเกษียณได้ยังไง สำหรับเศรษฐกิจช่วงนี้การเพิ่มรายรับอาจทำได้ยาก แนะนำให้จัดการกับรายจ่าย ควรจดบันทึกรายรับรายจ่าย และใช้หลักการออมก่อนใช้ คือ รายได้ - เงินออม = ใช้จ่าย  ซึ่งระบบการออมเพื่อเกษียณอย่าง กบข. และ PVD จะช่วยหักเงินสะสมให้อัตโนมัติ ช่วยสร้างวินัยในการออม




อาชีพอิสระที่ไม่มีนายจ้าง อาจจะแตกต่างกับข้าราชการหรือมนุษย์เงินเดือน แต่ภาครัฐก็ให้การสนับสนุนในเรื่องของการออมเพื่อการเกษียณ ผ่านกองทุนประกันสังคม ม.40 ทางเลือกที่ 2 และ 3 ที่ภาครัฐช่วยสมทบเงินให้ หรือกองทุนการออมแห่งชาติ (กอช.) ซึ่งเป็นการที่เราและภาครัฐช่วยกันสะสมเงิน ซึ่งถ้าเริ่มออมใน กอช. ตั้งแต่อายุ 15 ปี จนถึง 60 ปี ออมเงินเดือนละ 1,100 บาท หลังเกษียณจะมีเงินบำนาญใช้ 7 พันกว่าบาทต่อเดือน และสำหรับคนที่มีรายได้สูงขึ้นมาก็มี RMF และ SSF เป็นทางเลือกออมเพื่อเกษียณที่ใช้ลดหย่อนภาษีได้ด้วย

สำหรับมนุษย์เงินเดือน มีทั้งการออมภาคบังคับ เช่น ประกันสังคม ม.33 และภาคสมัครใจใน PVD ที่มีทั้งเงินสะสมจากลูกจ้างและเงินสมทบจากนายจ้าง โดย PVD มีข้อดี 4 ดี ได้แก่ 1. เงินสะสมหักลดหย่อนได้ไม่เกิน 15% ของค่าจ้าง 2. ผลประโยชน์จากเงินลงทุนได้รับยกเว้นภาษี 3. เกษียณอายุ 55 ปี และเป็นสมาชิกกองทุน 5 ปี เงินที่ได้รับจาก PVD ไม่ต้องเสียภาษี 4. การออมสะสม PVD เป็นแบบ DCA ช่วยสร้างวินัยให้ออมสม่ำเสมอทุกเดือน



 
การออมเพื่อเกษียณไม่ว่าจะภาคบังคับหรือภาคสมัครใจเป็นเพียงตัวช่วยหนึ่ง ไม่เพียงพอสำหรับใช้ยามเกษียณ ต้องออมหรือลงทุนเพิ่มเติมในกองทุนรวมเพื่อการเลี้ยงชีพ (Retirement Mutual Fund: RMF) กองทุนรวมเพื่อการออม (Super Saving Funds: SSF) ประกันแบบบำนาญ หรือทางเลือกอื่น ๆ เช่น เงินฝาก เงินลงทุน กรมธรรม์ประกันชีวิตสะสมทรัพย์ และการออมเพื่อเกษียณเป็นการออมระยะยาว ยิ่งอายุน้อยยิ่งเสี่ยงได้มาก แต่ถ้าใกล้เกษียณแล้วก็ควรลดความเสี่ยงลง การออมเพื่อเกษียณเริ่มวางแผนตั้งแต่วันนี้ ไม่มีคำว่าสายเกินไป

------------------------------------------------------
อ้างอิงเนื้อหาจากรายการรู้เงินรู้ลงทุน หัวข้อ ออมเพื่อเกษียณ มีแต่ได้กับได้ เมื่อวันที่ 2 ต.ค. 63