เคยหรือไม่..อยากจะซื้อกองทุนรวมสักกองหนึ่ง แต่กว่าจะได้ซื้อต้องใช้เวลานาน เพราะเหนื่อยอ่านหนังสือชี้ชวน (fund fact sheet) ที่รายละเอียดย้าว..ยาวและเข้าใจยาก ถ้าต้องตัดสินใจลงทุนควรอ่านตรงไหนเป็นพิเศษ
ช่วงนี้ยิ่งเป็นโค้งสุดท้ายสำหรับการลงทุนในกองทุนรวมเพื่อลดหย่อนภาษี ซึ่งคงมีหลายคนกำลังมองหาทางเลือกการลงทุนกันอยู่ ซึ่งกองทุนรวมมีหลากหลาย ความเสี่ยงก็แตกต่างกัน ลายแทงมหาสมบัติที่จะช่วยเลือกให้ตรงใจนั่นก็คือ ข้อมูลสำคัญในหนังสือชี้ชวน นั่นเอง
หนังสือชี้ชวน หรือ Fund Fact Sheet คือ ส่วนสรุปข้อมูลสำคัญของกองทุนหรือลายแทงการลงทุนของเรา โดยจะบอกสรรพคุณของกองทุนนั้น ๆ ว่าเป็นอย่างไร การพิจารณาเลือกกองทุนโดยหลักมีอยู่ 7 ข้อ ดังนี้
1. กำลังลงทุนอะไร? …โดยดูว่า
✅ เป็นข้อมูลล่าสุดหรือไม่ โดยสังเกตจากวันที่ ด้านมุมบนขวามือ
✅ ชื่อกองทุนรวม ตรงกับชื่อที่เลือกไว้หรือไม่
✅ เป็นกองทุนรวมประเภทใด เช่น กองทุนรวมตราสารหนี้ กองทุนรวมตราสารทุน กองทุนรวมผสม เป็นต้น จึงต้องดูให้ดีว่าเป็นประเภทกองทุนที่เราสนใจและความเสี่ยงเหมาะกับเราหรือไม่
✅ กองทุนนั้นมีนโยบายลงทุนในสินทรัพย์ใด เช่น กองทุนรวมหุ้นมีนโยบายลงทุนในหุ้นมากกว่า 80% ของ NAV ต้องดูว่ากองทุนลงทุนในสินทรัพย์ใด เป็นสัดส่วนที่เราพอใจและรับความเสี่ยงได้หรือไม่
✅ กองทุนมีกลยุทธ์การบริหารกองทุนแบบไหน? Active หรือ Passive หากเป็นกองทุน Active ที่ให้ผลตอบแทนเอาชนะตลาดซึ่งจะมาพร้อมกับค่าธรรมเนียมที่สูงกว่าเมื่อเทียบกับกองทุน Passive คือลงทุนให้ผลตอบแทนใกล้เคียงตามตัวชี้วัด
2. กองทุนรวมนี้เหมาะกับใคร? โดยดูว่า
✅ ระยะเวลาลงทุนที่เหมาะสมของกองทุนยาวแค่ไหน (ระยะสั้น กลาง ยาว)
✅ รับความเสี่ยงจากสินทรัพย์ที่กองทุนนั้นลงทุนได้หรือไม่ เช่น หากกองทุนเน้นลงทุนในหุ้น
ผู้ลงทุนจะต้องรับความผันผวนของราคาหุ้นที่อาจจะปรับตัวเพิ่มขึ้น หรือลดลงจนทำให้ขาดทุนได้ หรือหากกองทุนลงทุนในสินทรัพย์ต่างประเทศ ผู้ลงทุนต้องรับความเสี่ยงอัตราแลกเปลี่ยนได้
3. ต้องระวังอะไรเป็นพิเศษจากการลงทุนบ้าง? โดยดูว่า…
✅ คำเตือนสำคัญของกองทุนมีอะไรบ้าง เช่น หากลงทุนใน SSF RMF ผู้ลงทุนต้องระวังว่า จะไม่ได้รับสิทธิประโยชน์ทางภาษีหากไม่ปฏิบัติตามเงื่อนไขการลงทุน
✅ ระดับความเสี่ยงของกองทุนเป็นเท่าไหร่ และดูต่อว่าเป็นระดับความเสี่ยงที่เรารับรับได้หรือไม่ โดยทำแบบประเมินความเสี่ยง (ลองประเมินความเสี่ยง
คลิกที่นี่ )
✅ ความเสี่ยงหลักของกองทุนรวมมีอะไรบ้าง เช่น กองทุนรวมหุ้น อาจมีความเสี่ยงเรื่องความผันผวนของมูลค่าหน่วยลงทุนสูง กองทุนรวมตราสารหนี้ อาจมีความเสี่ยงเรื่อง credit risk สูง เป็นต้น
4. สัดส่วนของประเภททรัพย์สินที่กองทุนรวมเลือกลงทุนมีอะไรบ้าง..โดยดูว่า
✅กองทุนรวมนั้นลงทุนในสินทรัพย์ประเภทใด เป็นสัดส่วนเท่าไหร่? ตรงกับนโยบายลงทุนหรือไม่? เช่น กองทุนรวมหุ้นระบุว่าลงทุนในหุ้นมากกว่า 80% ซึ่งกองทุนรวมอาจลงทุนในหุ้น 85% และที่เหลืออีก 15% ลงทุนในสินทรัพย์อะไร
✅ชื่อของทรัพย์สินที่มีการลงทุนสูงสุด 5 อันดับแรกมีอะไรบ้าง? บริษัทอะไร เป็นธุรกิจที่อยากลงทุนไหม
5. ค่าธรรมเนียมของกองทุนรวมเป็นเท่าไหร่ แบ่งเป็น 2 ส่วน คือ (1) ค่าธรรมเนียมที่เรียกเก็บจากกองทุนรวมคิดเป็น % ต่อปีของ NAV เป็นค่าใช้จ่ายในการบริหารจัดการกองทุน (2) ค่าธรรมเนียมที่เรียกเก็บจากผู้ถือหน่วยลงทุน คิดเป็น % ของมูลค่าหน่วยลงทุน เช่น ค่าธรรมเนียมการขาย สับเปลี่ยน เก็บตามมูลค่าซื้อขาย โดยต้องดูว่า...
✅ค่าธรรมเนียมมีความสมเหตุสมผลไหม? เช่น ส่วนใหญ่กองทุนรวมประเภท passive จะมีค่าธรรมเนียมที่ถูกกว่ากองทุนประเภท active เป็นต้น
✅เมื่อเทียบกับกองทุนที่มีนโยบายคล้ายกัน แล้วเป็นอย่างไร?
6. ผลการดำเนินงานย้อนหลังเป็นอย่างไร.. โดยดูว่า
✅กองทุนมีผลการดำเนินงานสม่ำเสมอหรือไม่ และเมื่อเทียบกับเกณฑ์มาตรฐาน (Benchmark) ทำได้สูงกว่าหรือต่ำกว่า? ผลตอบแทนย้อนหลังจะเป็นข้อมูลที่สร้างความมั่นใจได้ระดับนึง แต่ไม่ได้ยืนยันผลการดำเนินงานในอนาคต
7. ข้อมูลอื่นๆ เป็นอย่างไร เช่น ..
✅กองทุนมีนโยบายจ่ายปันผลหรือไม่ บางคนต้องการผลตอบแทนระหว่างทางก็จะเหมาะกับกองทุนที่จ่ายปันผล
✅ข้อมูลการซื้อขายหน่วยลงทุนเป็นอย่างไร เช่น จำนวนเงินขั้นต่ำการซื้อ-ขายเท่าไหร่ (ปัจจุบันเริ่มตั้งแต่ 1 บาท 100 บาท 500 บาท ก็ลงทุนได้แล้ว) ระยะเวลาที่จะได้รับเงินหลังขายหน่วยลงทุน เป็นต้น
สำหรับช่องทางการซื้อ-ขายกองทุนรวม ปัจจุบันมีทั้งการซื้อขายผ่าน website หรือ mobile banking สะดวกสบายมากขึ้น ทั้งนี้ขึ้นกับเงื่อนไขของแต่ละ บลจ. ด้วย แต่เหนืออื่นใดก่อนลงทุนควรดูเป้าหมายและความสามารถในการรับความเสี่ยงของตัวเองเป็นสำคัญ