เคล็ดลับการลงทุนในหลักทรัพย์ต่างประเทศ

04 ตุลาคม 2562
อ่าน 3 นาที


​​​ผู้ลงทุนควรเลือกลงทุนให้เหมาะกับวัตถุประสงค์ในการลงทุน (จะใช้เงินก้อนนี้เมื่อไร เพื่ออะไร) และความสามารถรับความเสี่ยงจากการลงทุน ในกรณีลงทุนผ่านกองทุนรวม FIF ผู้ลงทุนควรมีความเข้าใจกลไกการลงทุนของกองทุนรวม FIF ให้ถ่องแท้ (เช่น รู้และเข้าใจว่าเขาจะเอาเงินเราไปลงทุนที่ไหนอย่างไรและจะมีความเสี่ยงอะไรบ้างที่จะเข้ามาเกี่ยวข้อง) โดยเฉพาะกองทุนรวม FIF มีนโยบายการลงทุนที่หลากหลายและซับซ้อนโดยผู้ลงทุนสามารถศึกษาข้อมูลได้จากหนังสือชี้ชวนกองทุนรวม FIF นั้น


ผู้ลงทุนที่เลือกลงทุนต่างประเทศผ่านโบรกเกอร์ที่ให้บริการซื้อขายหลักทรัพย์ในต่างประเทศหรือลงทุนผ่านกองทุนรวมส่วนบุคคล ควรจะต้องเป็นผู้ที่มีความรู้ความเข้าใจในการลงทุน (เช่น สามารถวิเคราะห์หลักทรัพย์ ข่าวสารในต่างประเทศได้เอง) หรือมีประสบการณ์จากการลงทุนในประเทศมาบ้างแล้ว เพราะจะต้องเป็นผู้ที่ตัดสินใจลงทุนด้วยตนเอง (กรณีลงทุนผ่านโบรกเกอร์) และมีส่วนร่วมในการกำหนดนโยบายในการลงทุน (กรณีลงทุนผ่านกองทุนรวม)


การไปลงทุนในต่างประเทศย่อมมีปัจจัยเสี่ยงเพิ่มขึ้นจากการลงทุนภายในประเทศและมีข้อจำกัดด้านการเข้าถึงข้อมูลข่าวสาร ดังนั้น ผู้ลงทุนจึงควรศึกษาข้อมูลนี้อย่างละเอียดจากเอกสารเปิดเผยข้อมูลความเสี่ยง เช่น หนังสือชี้ชวน หรือเอกสารการเปิดบัญชีของโบรกเกอร์ซึ่งจะต้องให้ผู้ลงทุนลงชื่อรับทราบก่อนเปิดบัญชี หากมีข้อมูลความเสี่ยงใดที่ยังไม่เข้าใจก็ควรซักถามให้เข้าใจก่อนลงนาม และหลังจากลงทุนแล้วผู้ลงทุนก็ควรติดตามข้อมูลข่าวสารอย่างใกล้ชิดและสม่ำเสมอเพื่อที่จะไม่พลาดข้อมูลสำคัญต่างๆ


ผู้ลงทุนควรรู้จักกฎเกณฑ์ที่เกี่ยวข้องในการลงทุนทั้งของไทยและของประเทศที่จะไปลงทุน โดยกฎเกณฑ์ในประเทศไทยที่ผู้ลงทุนควรรู้ เช่น ประเภทหลักทรัพย์ที่ทางการอนุญาตให้ไปลงทุนได้ มาตรการการควบคุมเงินทุน มาตรการป้องกันไม่ให้มีการเก็งกำไรค่าเงิน (จึงไม่อนุญาตให้ผู้ลงทุนกู้ยืมเงินทั้งในและต่างประเทศเพื่อการลงทุนในต่างประเทศ) เป็นต้น สำหรับกฎเกณฑ์ในต่างประเทศ ผู้ลงทุนควรให้ความสนใจศึกษากฎระเบียบการซื้อขายหลักทรัพย์ของแต่ละตลาดในต่างประเทศ เพื่อที่จะสามารถปฏิบัติตามกฎเกณฑ์ได้อย่างเหมาะสม (เช่น รู้เวลาเปิดปิดทำการซื้อขายของตลาดหลักทรัพย์แต่ละแห่งสกุลเงินต่างประเทศที่ใช้ซื้อขายหลักทรัพย์ การส่งคำสั่งซื้อขาย ฯลฯ) และที่สำคัญคือ ต้องเข้าใจข้อจำกัดต่างๆ ทางด้านกฎหมาย เช่น สิทธิในการฟ้องร้องคดี เมื่อเกิดปัญหาด้วย เนื่องจากหลักทรัพย์ที่จะไปลงทุนนั้นออกโดยบริษัทหรือองค์กรซึ่งอยู่ภายใต้กฎหมายของต่างประเทศ จึงอาจมีข้อจำกัดในการดำเนินการ รวมถึงเขตอำนาจศาลในการฟ้องร้องบังคับคดีด้วย เป็นต้น ​


การลงทุนในต่างประเทศมีค่าใช้จ่ายสูงกว่าการลงทุนภายในประเทศ เพราะมีค่าธรรมเนียมอื่น ๆ เพิ่มเติมจากการไปลงทุนในต่างประเทศด้วย เช่น ค่าธรรมเนียมในการโอนเงินเข้า-ออกประเทศ (remittance fee) ค่าธรรมเนียมในการเก็บรักษาหลักทรัพย์ (custodian fee) ในต่างประเทศ ซึ่งอัตราค่าธรรมเนียมก็จะขึ้นอยู่กับโบรกเกอร์แต่ละแห่งจะไปกำหนด นอกจากนี้ยังมีค่าธรรมเนียมในการซื้อขายหลักทรัพย์ในตลาดหลักทรัพย์ต่างประเทศที่บางแห่งก็มีการกำหนดค่าธรรมเนียมขั้นต่ำไว้ และค่าธรรมเนียมอื่นๆ ที่อาจมีการเรียกเก็บจากต่างประเทศ (foreign charges) เช่น ค่าธรรมเนียมของตลาดหลักทรัพย์ที่เราเข้าไปซื้อขายหลักทรัพย์ (exchange fee) ค่าธรรมเนียมในการชำระราคาและส่งมอบหลักทรัพย์ (clearing fee) ค่าอากรแสตมป์ (stamp duty) เป็นต้น ซึ่งหากผู้ลงทุนลองคำนวณตัวเลขค่าใช้จ่ายต่างๆ แล้ว ก็จะพบว่าเป็นต้นทุนที่ค่อนข้างสูงทีเดียว เมื่อเทียบกับการลงทุนในประเทศ


เตรียมความพร้อมลงทุนต่างประเทศผ่านโบรกเกอร์​

พร้อมด้านการเงิน: ผู้ที่จะลงทุนผ่านช่องทางนี้จึงต้องมีฐานะทางการเงินที่มั่นคงและต้องมีเงินเย็น เพราะว่าจะต้องซื้อขายผ่านบัญชีเงินสด โดยจะต้องวางเงินสดล่วงหน้าเต็มจำนวนในบัญชีก่อนที่จะซื้อขายหลักทรัพย์ต่างประเทศได้ (เป็นลักษณะ cash balance account) ซึ่งวงเงินลงทุนขั้นต่ำขึ้นอยู่กับโบรกเกอร์แต่ละแห่งจะไปกำหนด (เช่น 3 - 5 แสนบาท เป็นต้น)​

พร้อมด้านความรู้และประสบการณ์ในการลงทุน: ผู้ที่สนใจจะลงทุนในต่างประเทศควรเป็นผู้ที่มีประสบการณ์ในการลงทุนในประเทศมาพอสมควรแล้ว เนื่องจากการลงทุนในต่างประเทศจะมีปัจจัยเสี่ยงมากกว่าการลงทุนในประเทศ และผู้ลงทุนต้องมีความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับปัจจัยทั้งด้านบวกและลบที่จะมีผลกระทบต่อการลงทุน นอกจากนี้ ผู้ลงทุนจำเป็นต้องคอยติดตามข้อมูลสำคัญที่จะใช้ประกอบการพิจารณาตัดสินใจลงทุนเองด้วย​

พร้อมรับความเสี่ยง: การลงทุนในต่างประเทศมีความเสี่ยงที่เพิ่มขึ้นจากการลงทุนในประเทศ ซึ่งผู้ลงทุนต้องทำความเข้าใจให้ดีก่อนตัดสินใจลงทุน เช่น ความเสี่ยงจากความผันผวนของภาวะตลาดและราคาของสินค้าทางการเงินในประเทศที่เราไปลงทุน ความเสี่ยงด้านอัตราแลกเปลี่ยนของสกุลเงินที่ใช้ในการลงทุน รวมถึงความเสี่ยงในเรื่องข้อจำกัดในการบังคับใช้กฎหมาย รวมทั้งเรื่องเขตอำนาจศาลในการฟ้องบังคับคดีด้วย​

อ่านเพิ่มเติม

เรื่องที่เกี่ยวข้อง