ใบสำคัญแสดงสิทธิ

03 ตุลาคม 2562
อ่าน 3 นาที

​​


ใบสำคัญแสดงสิทธิที่จะซื้อหุ้น (Warrant) คือตราสารที่ให้สิทธิแก่ผู้ถือในการซื้อหุ้นที่วอแรนต์นั้นอ้างอิงอยู่ ตามราคาใช้สิทธิ (Exercise price) จำนวนที่ให้ใช้สิทธิ (นิยมใช้เป็นอัตราส่วน) และภายในระยะเวลาที่กำหนดไว้ ทั้งนี้หากผู้ลงทุนไม่เห็นประโยชน์ของการใช้สิทธิในการซื้อหุ้นตามที่ระบุไว้ ก็สามารถเลือกไม่ใช้สิทธิได้ หุ้นของบริษัทที่ออกวอแรนต์ เรียกว่า “หุ้นแม่”

ช่องทางลงทุน และการได้มาซึ่งวอแรนต์ วอแรนต์มีทั้งที่เพิ่งออกใหม่ ซึ่งคุณสามารถติดต่อจองซื้อได้ในตลาดแรก (เหมือนการจองซื้อหุ้น IPO) หรือที่ออกมาแล้ว และสามารถซื้อขายได้ในตลาดรอง ผ่าน ตลท. (เหมือนหุ้นตัวหนึ่ง) นอกจากนี้บางกรณี บริษัทยังอาจตัดสินใจจ่ายปันผลเป็นวอแรนต์แก่ผู้ลงทุน (ตามอัตราส่วนหุ้นเดิมที่ถือ) หรือบริษัทอาจตัดสินใจให้โบนัสแก่พนักงานเป็นวอแรนต์ของบริษัทเองอีกด้วย​

ผลตอบแทนของวอแรนต์มีได้ 2 ทางคือ กำไรขาดทุน จากการซื้อขายวอแรนต์ ใน ตลท. (ซื้อแล้วขายก่อนครบอายุ) กำไรขาดทุน จากการใช้สิทธิ ซึ่งสามารถคำนวณจากส่วนต่างระหว่างราคาหุ้นแม่ ราคาใช้สิทธิซื้อหุ้นแม่ และราคาวอแรนต์ที่คุณซื้อ (ต้นทุน)​

ใบสำคัญแสดงสิทธิอนุพันธ์ (Derivative Warrant หรือ DW) คือตราสารที่ผู้ถือมีสิทธิซื้อ หรือขายหลักทรัพย์อ้างอิง (อาจเป็นหุ้น หรือดัชนีหุ้น) ในราคา จำนวน และเวลาที่กำหนด ลักษณะคล้าย Warrant ต่างกันที่ DW ให้สิทธิที่จะซื้อ หรือขายหลักทรัพย์ที่ออกโดยบริษัทอื่น ไม่ใช่บริษัทที่ออก DW

ใบสำคัญแสดงสิทธิอนุพันธ์ (Derivative Warrant หรือ DW) คือใบสำคัญแสดงสิทธิ (Warrant) ชนิดหนึ่ง ซึ่งบริษัทผู้ออกให้สิทธิกับผู้ซื้อในการซื้อ (call) หรือขาย (put) หลักทรัพย์อ้างอิง ตามราคา จำนวน และเวลาที่กำหนด บริษัทผู้ออก DW ส่วนใหญ่เป็นบริษัทหลักทรัพย์ซึ่งไม่ใช่บริษัทผู้ออกหลักทรัพย์อ้างอิง หรือ DW ก็คือ ออปชั่นส์ (options) ที่มีหุ้นเป็นหลักทรัพย์อ้างอิงนั่นเอง 

ช่องทางลงทุนใน DW คุณสามารถลงทุนใน DW ผ่าน ตลท. เหมือนการซื้อขายหุ้นตัวหนึ่ง ผ่าน บล.​

ผลตอบแทนของ DW มีได้ 2 ทางคือ กำไรขาดทุนจากการซื้อขาย DW ใน ตลท. (ซื้อแล้วขายก่อนครบอายุ) และ กำไรขาดทุน จากการใช้สิทธิ (ซื้อแล้วถือจนครบอายุ)
โดยผลตอบแทนจากการลงทุนใน call DW ณ วันครบกำหนดอายุ จะเท่ากับ (ราคาหลักทรัพย์อ้างอิง - ราคาใช้สิทธิ) x อัตราการใช้สิทธิสิทธิ ดังนั้นคุณจะได้รับผลตอบแทนสูงขึ้น เมื่อราคาหลักทรัพย์อ้างอิงสูงขึ้น หรือคุณควรลงทุนใน call DW เมื่อคาดหวังว่าราคาของหลักทรัพย์อ้างอิงจะขึ้น
ละผลตอบแทนจากการลงทุนใน put DW ณ วันครบกำหนดอายุ เท่ากับ (ราคาใช้สิทธิ - ราคาหลักทรัพย์อ้างอิง) x อัตราการใช้สิทธิ ดังนั้นคุณจะได้รับผลตอบแทนสูงขึ้น เมื่อราคาหลักทรัพย์อ้างอิงลดลง​ หรือคุณควรลงทุนใน put DW เมื่อหวังว่าราคาของหลักทรัพย์อ้างอิงจะลง

การเสียภาษีของ DW กำไรส่วนต่างที่คุณได้จาก DW ไม่ต้องเสียภาษี แต่ถ้าคุณใช้สิทธิ (ซื้อแล้วถือจนครบกำหนดอายุ) คุณมีภาระภาษีที่ต้องจ่ายจากส่วนต่างเงินสดที่ได้รับจากการใช้สิทธิ ผู้ลงทุนส่วนใหญ่จึงมักจะซื้อแล้วขายก่อนครบอายุ


ความแตกต่างระหว่างวอแรนต์ กับ DW
  • บริษัทผู้ออกวอแรนต์เป็นบุคคลเดียวกับบริษัทผู้ออกหุ้นแม่ ในขณะที่บริษัทผู้ออก DW ไม่ใช่บุคคลเดียวกับบริษัทผู้ออกหลักทรัพย์อ้างอิง ดังนั้นก่อนลงทุนใน DW คุณควรมั่นใจในความน่าเชื่อถือของผู้ออก DW
  • Warrant มีเฉพาะสิทธิในการซื้อ (call) ในขณะที่ DW มีทั้งสิทธิในการซื้อ (call) และสิทธิในการขาย (put)
ความแตกต่างระหว่างออปชั่นส์ กับ DW 
  • ในออปชั่นส์ คุณสามารถเป็นได้ทั้ง ผู้ซื้อและผู้ขาย สิทธิในการซื้อ (call) หรือสิทธิในการขาย (put) สินทรัพย์อ้างอิง 
  • ​ในขณะที่ DW ซึ่งผู้ออกเป็น บล. และซึ่งคุณสามารถเป็นได้เฉพาะผู้ซื้อเท่านั้น มีแบบที่เป็น call DW และ put DW 

 




อ่านเพิ่มเติม

เรื่องที่เกี่ยวข้อง