หุ้นกู้อนุพันธ์

03 ตุลาคม 2562
อ่าน 3 นาที


รู้จักหุ้นกู้อนุพันธ์ (structured notes)

หุ้นกู้อนุพันธ์เป็นหลักทรัพย์ลูกผสมระหว่างหุ้นกู้กับอนุพันธ์ (หรือสัญญาซื้อขายล่วงหน้า​) คือ มีลักษณะพื้นฐานเหมือนหุ้นกู้ แต่มีการจ่ายผลตอบแทนและชำระคืนเงินต้นทั้งหมดหรือบางส่วนโดยอ้างอิงกับตัวแปรอื่น ซึ่งเป็นลักษณะที่คล้ายกับตราสารอนุพันธ์หรือสัญญาซื้อขายล่วงหน้า แตกต่างจากหุ้นกู้ทั่วไปซึ่งจ่ายผลตอบแทนในรูปของดอกเบี้ยตามอัตราที่กำหนดเอาไว้แน่นอน และชำระคืนเงินต้นตามราคาพาร์ (ราคาที่เสนอขายครั้งแรก) เมื่อครบกำหนดอายุหุ้นกู้  

ตัวแปรที่หุ้นกู้อนุพันธ์ไปอ้างอิงอยู่นั้นมีหลากหลายประเภท ไม่ว่าจะเป็นราคาหลักทรัพย์ ดัชนีราคาหลักทรัพย์ อัตราแลกเปลี่ยนเงินตราต่างประเทศ กระแสรายรับรายจ่ายของธุรกิจ ความสามารถในการชำระหนี้ของหลักทรัพย์อ้างอิงหรือผู้ออกหลักทรัพย์อ้างอิง รวมถึงสินค้าโภคภัณฑ์อย่างทองคำหรือน้ำมันดิบ

หุ้นกู้อนุพันธ์ยังมีการกำหนดรูปแบบการจ่ายคืนเงินต้นและผลตอบแทนในลักษณะต่าง ๆ กัน เช่น กำหนดว่าเมื่อหุ้นกู้อนุพันธ์ ครบอายุจะจ่ายเงินต้นคืนพร้อมผลตอบแทนส่วนหนึ่งในอัตราคงที่และอาจมีการจ่ายผลตอบแทนเพิ่มเติมให้อีกส่วนหนึ่งขึ้นอยู่กับตัวแปรอ้างอิง หรือกำหนดว่าหากในวันครบอายุหุ้นกู้อนุพันธ์ ราคาของหลักทรัพย์อ้างอิงเพิ่มสูงขึ้นจนถึงระดับที่กำหนดไว้ จะจ่ายเงินต้นคืนพร้อมผลตอบแทนในอัตราที่กำหนด แต่ถ้าราคาของหลักทรัพย์อ้างอิงต่ำกว่าระดับที่กำหนดไว้ จะจ่ายคืนเงินต้นเท่านั้นแต่ไม่จ่ายผลตอบแทน หรือในบางกรณีอาจกำหนดให้มีการชำระคืนเงินต้นหรือจ่ายผลตอบแทนเป็นหลักทรัพย์ก็ได้​​​


หุ้นกู้อนุพันธ์มีประโยชน์อย่างไร?

หุ้นกู้อนุพันธ์เป็นทางเลือกในการลงทุนที่ช่วยให้ผู้ลงทุนมีโอกาสในการได้รับผลตอบแทนที่มากกว่าการลงทุนในหุ้นกู้ทั่วไป และ​การลงทุนในหุ้นกู้อนุพันธ์ยังช่วยให้ผู้ลงทุนมีโอกาสเข้าถึงการลงทุนที่หลากหลายมากขึ้น เนื่องจากหุ้นกู้อนุพันธ์มีการจ่ายผลตอบแทนอ้างอิงกับตัวแปรหรือสินค้าต่าง ๆ หลากหลายประเภท การลงทุนในหุ้นกู้อนุพันธ์จึงเปรียบเสมือนการลงทุนทางอ้อมในสินค้าเหล่านั้น โดยเฉพาะอย่างยิ่งสินค้าที่การลงทุนโดยตรงทำได้ยากหรือมีความซับซ้อนมาก  ​


ลงทุนในหุ้นกู้อนุพันธ์มีความเสี่ยงอย่างไร?

การลงทุนในหุ้นกู้อนุพันธ์มีความเสี่ยงหลักๆ ในลักษณะเดียวกับการลงทุนในหุ้นกู้ทั่วไป ได้แก่ ความเสี่ยงด้านเครดิต คือความสามารถในการจ่ายคืนเงินต้นและผลตอบแทนของผู้ออกหุ้นกู้อนุพันธ์ และความเสี่ยงด้านสภาพคล่องในการซื้อขายเปลี่ยนมือในกรณีที่ผู้ลงทุนต้องการขายหุ้นกู้อนุพันธ์ก่อนครบกำหนดอายุ ซึ่งผู้ออกหุ้นกู้อนุพันธ์อาจไม่ได้จัดให้มีตลาดรองสำหรับการซื้อขายหุ้นกู้อนุพันธ์เอาไว้ ทำให้ผู้ลงทุนต้องถือหุ้นกู้อนุพันธ์ไปจนครบกำหนดอายุ (ปัจจุบันผู้ลงทุนจะซื้อขายหุ้นกู้อนุพันธ์ผ่านผู้ค้า/จัดจำหน่ายตราสารหนี้ เช่น ธนาคารพาณิชย์หรือบริษัทหลักทรัพย์) ​​บางกรณีหากหุ้นกู้อนุพันธ์ตัวนั้นมีเงื่อนไขในการจ่ายผลตอบแทนอ้างอิงกับเครดิตของหุ้นกู้บริษัทใดบริษัทหนึ่ง ผู้ลงทุนยังต้องพิจารณาความเสี่ยงที่เกี่ยวข้องกับตัวแปรอ้างอิงด้วย


เคล็ดลับการลงทุนในหุ้นกู้อนุพันธ์
  • ผู้ออกหุ้นกู้อนุพันธ์ไม่ใช่ผู้ออกหลักทรัพย์ที่หุ้นกู้อนุพันธ์นั้นอ้างอิงอยู่ ผู้ลงทุนควรต้องพิจารณาความน่าเชื่อถือและความสามารถในการชำระหนี้ของผู้ออกหุ้นกู้อนุพันธ์ให้ดี
  • หุ้นกู้อนุพันธ์แต่ละตัวมีระดับความเสี่ยงในเรื่องของผลตอบแทนที่แตกต่างกันไป ขึ้นอยู่กับประเภทตัวแปรอ้างอิงที่กำหนดไว้สำหรับหุ้นกู้อนุพันธ์ตัวนั้นๆ และตัวแปรอ้างอิงบางประเภทก็มีความซับซ้อน ยากต่อการทำความเข้าใจ ผู้ลงทุนจึงควรศึกษาข้อมูลให้ดีก่อนตัดสินใจลงทุน 
  • Credit Rating ของหุ้นกู้อนุพันธ์เป็นการประเมินความเสี่ยงในเรื่องของความสามารถในการชำระหนี้ของผู้ออกหุ้นกู้อนุพันธ์เท่านั้น ไม่ได้ครอบคลุมถึงความเสี่ยงของผู้ออกหลักทรัพย์อ้างอิงหรือความเสี่ยงของผลตอบแทนที่จะได้รับ
  • การลงทุนในหุ้นกู้อนุพันธ์โดยตรงมักกำหนดเงินลงทุนเริ่มต้นไว้ค่อนข้างสูง และบางครั้งอาจมีการเสนอขายให้เฉพาะผู้ลงทุนสถาบันหรือผู้ลงทุนรายใหญ่เท่านั้น อย่างไรก็ดีผู้ลงทุนรายย่อยสามารถลงทุนผ่านกองทุนรวมที่มีนโยบายการลงทุนในหุ้นกู้อนุพันธ์ได้ ซึ่งมีข้อดีคือใช้เงินลงทุนน้อยกว่าและมีมืออาชีพคอยบริหารจัดการให้ แต่ผู้ลงทุนจะต้องถือหน่วยลงทุนไปจนครบกำหนดอายุโครงการ ไม่สามารถขายคืนหน่วยลงทุนก่อนครบกำหนดได้
  • ผู้ลงทุนในกองทุนรวมที่ลงทุนในหุ้นกู้อนุพันธ์ในต่างประเทศ อย่าลืมพิจารณาความเสี่ยงจากความผันผวนของอัตราแลกเปลี่ยนด้วย ผู้ลงทุนควรศึกษารายละเอียด​ต่างๆ ของกองทุนรวมที่จะลงทุนได้จากหนังสือชี้ชวนเสนอขายกองทุนรวมนั้นๆ

อ่านเพิ่มเติม

เรื่องที่เกี่ยวข้อง