หุ้นกู้ด้อยสิทธิที่มีลักษณะคล้ายทุน

02 ตุลาคม 2562
อ่าน 3 นาที

​​​​​​
 

หุ้นกู้ด้อยสิทธิที่มีลักษณะคล้ายทุน ​​

เป็นลูกครึ่งระหว่าง “หุ้นกู้ด้อยสิทธิ” กับ “ตราสารทุน (หุ้น)” หุ้นกู้ประเภทนี้เหมาะกับนักลงทุนที่สามารถลงทุนได้ในระยะยาวนานแบบไม่มีกำหนด และสามารถรับความเสี่ยงได้สูงกว่าการลงทุนในตราสารหนี้ประเภทอื่นๆ ซึ่งโดยทั่วไปหุ้นกู้ประเภทอื่นๆ มักถูกจัดระดับความเสี่ยงที่ 2-4 (เสี่ยงปานกลางค่อนข้างตํ่า) แต่หุ้นกู้ด้อยสิทธิที่มีลักษณะคล้ายทุนนี้มักถูกจัดอยู่ที่ระดับ 5-6 (เสี่ยงปานกลางค่อนข้างสูง ถึงเสี่ยงสูง) จากเกณฑ์ความเสี่ยง 8 ระดับ (อ้างอิงระดับความเสี่ยงตามมาตรฐานของ ThaiBMA) 
เริ่มจากส่วนแรก “หุ้นกู้ด้อยสิทธิ” ก็คือ หุ้นกู้ที่ผู้ลงทุนมีฐานะเป็นเจ้าหนี้ เหมือนกับหุ้นกู้ธรรมดา แต่ถ้าบริษัทต้องปิดกิจการไป ก็จะมีสิทธิได้รับชำระหนี้ต่อจากเจ้าหนี้สามัญรายอื่นๆ คืนทั้งหมด บางส่วน หรือไม่ได้เงินคืนเลยก็ได้ แต่ก็ยังมีสิทธิจะได้รับเงินก่อนผู้ถือหุ้นสามัญ

ส่วนที่สอง “มีลักษณะคล้ายทุน” ก็คือ สิทธิในการไถ่ถอนของหุ้นกู้ตัวนี้จะทำได้ก็ต่อเมื่อบริษัทยกเลิกกิจการ ไป หรือเป็นการถือแบบไม่มีกำหนด ลักษณะแบบนี้ จึงคล้ายกับการถือหุ้นไปเรื่อยๆ จึงเป็นไปได้ที่ผู้ลงทุน จะไม่ได้รับคืนเงินต้นระหว่างที่ถือหุ้นกู้นั้น 

​นอกจากนี้แม้หุ้นกู้ประเภทนี้จะกำหนดอัตราดอกเบี้ยไว้เหมือนหุ้นกู้ทั่วไป แต่อาจมีเงื่อนไขไม่จ่ายดอกเบี้ยหรือบางทีก็ยกยอดไปงวดอื่นก็ได้ และมักกำหนดอัตราดอกเบี้ยลอยตัว นั่นคืออัตราดอกเบี้ยจะไม่คงที่ตลอดไป

ด้วยเงื่อนไขที่ซับซ้อนและไม่ค่อยแน่นอนตายตัว อีกทั้งมีความเสี่ยงที่จะไม่ได้รับดอกเบี้ยตรงเวลา และอาจไม่ได้ดอกเบี้ยสูงดังหวัง (หากมีเงื่อนไขผู้ออกไถ่ถอนก่อนกำหนด) รวมถึงความเสี่ยงที่จะขาดทุนสูงหากต้องการขายก่อน หรือขายไม่ได้ในระยะเวลาที่ต้องการ ดังนั้นบริษัทที่ออก “หุ้นกู้ด้อยสิทธิที่มีลักษณะคล้ายทุน” จึงมักกำหนดอัตราดอกเบี้ยของหุ้นกู้ในอัตราที่สูงเพื่อจูงใจผู้ลงทุน 

เห็นได้ว่าหุ้นกู้ลักษณะนี้มีความซับซ้อนในเงื่อนไขและข้อกำหนดสิทธิหลายๆอย่างที่ผู้ลงทุนควรศึกษาข้อมูลอย่างละเอียดก่อนตัดสินใจลงทุน


​3 ข้อควรรู้ ก่อนตัดสินใจลงทุน หุ้นกู้ด้อยสิทธิที่มีลักษณะคล้ายทุน

1. อันดับเครดิต (Credit Rating) ของหุ้นกู้ และบริษัทผู้ออกหุ้นกู้ เพื่อใช้ในการประเมินโอกาสในการได้รับเงินต้นและดอกเบี้ยคืน
2. เงื่อนไขการจ่ายดอกเบี้ย แม้ว่าหุ้นกู้ประเภทนี้จะจ่ายอัตราดอกเบี้ยสูงกว่าตราสารหนี้ทั่วไป แต่ก็มีความเสี่ยงสูงกว่าเช่นกัน เพราะให้สิทธิผู้กู้ (บริษัทที่ออกหุ้นกู้) ที่จะเลื่อนการจ่ายดอกเบี้ยออกไปได้ หรือจะไม่จ่ายดอกเบี้ยในงวดนั้นๆ หรือหลายงวดเลยก็ได้
3. เงื่อนไขที่ผู้ออกสามารถไถ่ถอนก่อนกำหนด หากดอกเบี้ยในตลาดขณะนั้นลดลงจากวันออก บริษัทก็อาจไถ่ถอนแล้วออกรุ่นใหม่ที่จ่ายดอกเบี้ยต่ำลงได้ ดังนั้น หากมีการไถ่ถอนก่อนกำหนด นักลงทุนก็จะไม่ได้รั​บดอกเบี้ยในอัตราตามที่คาดหวังอีกต่อไป และเงินที่ได้รับจากไถ่ถอนเมื่อนำไปลงทุนต่ออย่างอื่นก็อาจได้อัตราผลตอบแทนที่ลดลง ในทางตรงข้าม หากอัตราดอกเบี้ยในตลาดเพิ่มสูงขึ้นมาก ผู้ออกก็อาจเลือกที่จะไม่ไถ่ถอนก่อนกำหนด ทำให้นักลงทุนเสียโอกาสในการนำเงินไปลงทุนต่อในอัตราดอกเบี้ยตลาดที่เพิ่มขึ้น​

อ่านเพิ่มเติม

เรื่องที่เกี่ยวข้อง