ตราสารด้อยสิทธิเพื่อนับเป็นเงินกองทุน

02 ตุลาคม 2562
อ่าน 3 นาที

​​​​​​ตราสารด้อยสิทธิ์เพื่อนับเป็นเงินกองทุน (หรือ ตราสารด้อยสิทธิ Basel III) คือตราสารด้อยสิทธิที่ออกโดยธนาคารพาณิชย์ เพื่อระดมทุนและใช้นับเป็นเงินกองทุนของธนาคารได้ตามหลักเกณฑ์ของธนาคารแห่งประเทศไทย โดยอ้างอิงจาก Basel III ซึ่งเป็นหลักเกณฑ์สากลที่ใช้ในการดูแลเงินกองทุนของธนาคารพาณิชย์ ผู้ลงทุนในตราสารด้อยสิทธิ Basel III จะได้รับผลตอบแทนเป็นดอกเบี้ย ตามที่ธนาคารผู้ออกกำหนด 

ความเสี่ยงเฉพาะตัวของตราสารด้อยสิทธิ Basel III ผู้ลงทุนมีโอกาสขาดทุนหากเกิด “เหตุการณ์กระทำ” (Trigger events) ได้แก่...
  • เงินกองทุนของธนาคารลดลงต่ำกว่าอัตราที่ธนาคารนั้นกำหนด เช่น อัตราส่วนเงินกองทุนชั้นที่ 1 ที่เป็นส่วนของเจ้าของต่อสินทรัพย์เสี่ยงทั้งสิ้น ต่ำกว่า 6% เป็นต้น หรือ...
  • ธนาคารประสบปัญหาด้านการเงินจนไม่สามารถดำเนินการต่อไปได้ และทางการตัดสินใจจะเข้าช่วยเหลือทางการเงิน เช่น กรณีที่ธนาคารมีสินทรัพย์ไม่เพียงพอจ่ายคืนผู้ฝากเงิน และเจ้าหนี้ หรือเงินกองทุนของธนาคารลดลงถึงระดับที่จะกระทบต่อผู้ฝากเงินและเจ้าหนี้ จนทางการต้องเข้าช่วยเหลือธนาคารนั้น เป็นต้น 

ซึ่งเมื่อเกิดเหตุการณ์ trigger ตราสารด้อยสิทธิจะถูกดำเนินการดังต่อไปนี้...
1. ถูกตัดเป็นหนี้สูญ (write off) บางส่วนหรือทั้งหมด หรือ 
2. ถูกแปลงสภาพเป็นหุ้น โดยกำหนดอัตราการแปลงสภาพขั้นต่ำ (floor conversion factor) ไว้ที่ 50% ของราคาหุ้นในช่วงที่ออกตราสารด้อยสิทธิ Basel III
ทั้งนี้ ธนาคารผู้ออกจะกำหนดวิธีดำเนินการไว้ตั้งแต่วันแรก

สำหรับผู้ลงทุนรายย่อยสามารถลงทุนในตราสารด้อยสิทธิ Basel III ประเภท Tier 2 ซึ่งมีลักษณะเด่นดังนี้... 
  • ผู้ถือตราสารมีสิทธิเรียกร้องรับชำระเงินต้นและดอกเบี้ย เหนือกว่าผู้ถือหุ้น และผู้ถือตราสารด้อยสิทธิ Basel III ประเภท Tier 1 แต่หลังผู้ฝากเงิน และเจ้าหนี้สามัญ  
  • ตราสารมีอายุไม่น้อยกว่า 5 ปี
  • ตราสารมีโอกาสถูกไถ่ถอนคืนจากธนาคารผู้ออก หลังจากปีที่ 5 นับจากวันที่ออกตราสาร หรืออาจไถ่ถอนเร็วกว่านั้น หากเกิดเหตุการณ์ trigger เช่น มีการเปลี่ยนแปลงกฎหมายภาษี ส่งผลให้สิทธิประโยชน์ทางภาษีของธนาคารพาณิชย์เปลี่ยนแปลงไป หรือมีการเปลี่ยนแปลงหลักเกณฑ์ที่ส่งผลให้ตราสารดังกล่าว มีคุณสมบัติไม่ครบถ้วน ที่จะนับเป็นเงินกองทุน Tier 2   
  • ​มีโอกาสถูกแปลงสภาพเป็นหุ้นสามัญ ในกรณีที่เกิด Trigger events โดยธนาคารจะแจ้งให้ผู้ลงทุนทราบเงื่อนไขนี้ ในครั้งแรกที่ลงทุน
structured note เป็นหุ้นกู้ที่ให้ผลตอบแทนอ้างอิงกับตัวแปรต่างๆ แล้วแต่จะกำหนด เช่น ราคาหุ้น ดัชนีหุ้น อัตราแลกเปลี่ยน ราคาสินค้าโภคภัณฑ์ เป็นต้น โดยการจ่ายเงินต้นและผลตอบแทนขึ้นอยู่กับเงื่อนไขที่ผู้ออกกำหนดไว้ ยกตัวอย่างเช่น หุ้นกู้อนุพันธ์ที่อ้างอิงกับ SET Index กำหนดรูปแบบการจ่ายผลตอบแทนไว้เป็น 3 กรณี คือกรณี SET Index ปรับตัวเพิ่มขึ้นมากกว่า 10% จะจ่ายคืนเงินต้นพร้อมผลตอบแทน 10% กรณี SET Index ปรับตัวเพิ่มขึ้นแต่ไม่ถึง 10% จะจ่ายคืนเงินต้นพร้อมผลตอบแทน 7% แต่กรณีที่ SET Index ลดลงจะจ่ายคืนเงินต้นเต็มจำนวนแต่ไม่จ่ายผลตอบแทน 

อ่านเพิ่มเติม

เรื่องที่เกี่ยวข้อง