กองทุนรวมทองคำ (Gold Fund) คือ การลงทุนในกองทุนรวมที่มีนโยบายการลงทุนในทองคำ การเคลื่อนไหวของมูลค่าหน่วยลงทุนจะเป็นไปตามการเคลื่อนไหวของราคาทองคำในตลาดโลก เปรียบเสมือนลงทุนในทองคำแท่งทางอ้อม ผ่านกองทุนหลักในต่างประเทศ ซึ่งจะนำเงินไปลงทุนในทองคำแท่ง 99.99% หรือ 99.50% อีกทีหนึ่ง มูลค่าหน่วยลงทุนของกองทุนรวมจึงไม่ได้ขึ้นลงตามราคาทองคำในประเทศ แต่จะอิงกับราคาทองคำโลก อย่างไรก็ดี การที่กองทุนนำเงินไปลงทุนในต่างประเทศ จึงมีความเสี่ยงในเรื่องของอัตราแลกเปลี่ยนมาเกี่ยวข้องด้วย
ผู้ลงทุนสามารถติดต่อซื้อขายหน่วยลงทุนกองทุนรวมทองคำได้จากเคาน์เตอร์ธนาคารที่ทำหน้าที่ตัวแทนขายให้บริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุนได้อย่างสะดวก ในการเลือกซื้อกองทุน หากคุณสนใจเฉพาะผลตอบแทนจากราคาทองคำเพียงอย่างเดียว โดยไม่สนใจผลตอบแทนจากอัตราแลกเปลี่ยน ก็อาจเลือกลงทุนในกองทุนรวมที่ป้องกันความเสี่ยงจากอัตราแลกเปลี่ยนไว้เต็มจำนวน (Fully hedged) หรือหากคุณมองหาโอกาสทำกำไรเพิ่มเติมจากอัตราแลกเปลี่ยนด้วย ก็ควรเลือกลงทุนในกองทุนรวมที่ไม่ได้ป้องกันความเสี่ยงไว้เลย (Unhedge) แต่ต้องระวังไว้ว่าคุณก็มีโอกาสขาดทุนจากอัตราแลกเปลี่ยนได้เช่นกัน ในขณะที่ก็มีบางกองทุนที่ให้ผู้จัดการกองทุนเป็นผู้พิจารณาว่าจะทำการป้องกันความเสี่ยงนี้เท่าใด ในช่วงเวลาใด (Partial hedged) ซึ่งความเสี่ยงและผลตอบแทนก็ขึ้นอยู่กับการตัดสินใจของผู้จัดการกองทุนรวม ซึ่งประเด็นนี้คุณควรขอให้คนขายอธิบายเพื่อความเข้าใจที่ชัดเจน
ข้อดีของการลงทุนกองทุนรวมทองคำ คือผู้ลงทุนใช้เงินลงทุนเริ่มต้นไม่มาก ส่วนใหญ่กำหนดเงินลงทุนไว้ต่ำกว่า10,000 บาท และสามารถทำการซื้อขายได้สะดวกโดยไม่ต้องเสียเวลาเดินทางไปร้านทอง และปลอดภัยเนื่องจากไม่ต้องกังวลเรื่องการสูญหาย มีมืออาชีพคอยดูแลบริหารจัดการให้ และมีโอกาสได้รับผลตอบแทนจากส่วนต่างมูลค่าหน่วยลงทุนเมื่อสั่งขายหรือได้รับเงินปันผลจากกองทุน นอกจากนี้ หากต้องการขายทำกำไร หรือทยอยสะสมซื้อ ก็สามารถทำได้ โดยไม่ต้องซื้อหรือขายทองคำแท่งทั้งก้อน
ข้อเสียคือจะมีค่าธรรมเนียมในการบริหารจัดการ จึงเหมาะกับผู้ลงทุนที่ต้องการลงทุนระยะยาว ไม่มีเวลาติดตามราคาทองคำมากนัก เนื่องจากกองทุนรวมทองคำ มีการคำนวณมูลค่าหน่วยลงทุนเพียงวันละ 1 ครั้ง จึงไม่สามารถซื้อและขายคืนในระหว่างวันเพื่อทำกำไรได้เหมือนกองทุน ETF ทองคำ และ Gold Futures
Gold ETF (โกลด์อีทีเอฟ) คือ กองทุนรวมประเภทหนึ่งที่มีการจดทะเบียนซื้อขายเหมือนหุ้นในตลาดหลักทรัพย์ฯ ผู้ลงทุนจึงสามารถซื้อขายหน่วยลงทุนผ่านบริษัทหลักทรัพย์ เหมือนการซื้อขายหุ้นทั่วไปได้แบบ real time กับโบรกเกอร์ได้ตลอดเวลา ไม่ต้องรอมูลค่าหน่วยลงทุนในตอนสิ้นวันเหมือนกองทุนรวมทองคำโกลด์อีทีเอฟจึงเป็นทางเลือกหนึ่งสำหรับผู้ลงทุนที่ต้องการกระจายความเสี่ยงไปทองคำแท่ง
รูปแบบของโกลด์อีทีเอฟ มี 2 รูปแบบ คือ
- โกลด์อีทีเอฟ ที่เป็น Feeder fund ลงทุนในกองทุนรวมของต่างประเทศที่มีนโยบายลงทุนในทองคำ ซึ่งกรณีนี้จะต้องมีการขออนุมัติวงเงินจากธนาคารแห่งประเทศไทยในการนำเงินออกไปลงทุนในต่างประเทศ
- โกลด์อีทีเอฟ ที่ลงทุนโดยตรงในทองคำแท่งในประเทศ ซึ่งกรณีนี้จะต้องมีผู้รับรองคุณภาพและผู้เก็บรักษาทองคำแท่งที่มี ความสามารถ ความชำนาญและระบบงานที่ได้มาตรฐานเพื่อให้มั่นใจในมาตรฐานคุณภาพและสามารถเก็บรักษาทองคำแท่งได้อย่างปลอดภัย
iNAV ตัวช่วยในการเปรียบเทียบราคา โดยปกติราคา ETF จะสะท้อนจากมูลค่าทรัพย์สินในกองทุน นั่นคือ ราคาโกลด์อีทีเอฟในไทยควรใกล้เคียงกับ iNAV หรือ indicative NAV ตลอดเวลา โดยคำนวณจากราคาโกลด์อีทีเอฟที่ตลาดหลักทรัพย์ฮ่องกง ผู้ที่ลงทุนในโกลด์อีทีเอฟที่จดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ไทยจึงควรเปรียบเทียบราคาของโกลด์อีทีเอฟในไทยกับ iNAV เนื่องจากโกลด์อีทีเอฟสามารถซื้อขายได้แบบ real time ในช่วงระหว่างวัน ตลาดหลักทรัพย์จึงมีการเผยแพร่ iNAV ซึ่งแปลงราคา ETF ในฮ่องกงเป็นเงินบาทให้แล้ว และเปลี่ยนแปลงทุก 15 วินาทีเพื่อให้ผู้ลงทุนใช้ประกอบการตัดสินใจลงทุน
อาจมี premium หรือ discount ตามอุปสงค์และอุปทาน ผู้ลงทุนจำนวนมากติดตามราคา Gold Spot อยู่เป็นประจำ และคงคาดหวังว่าราคาโกลด์อีทีเอฟก็จะเคลื่อนไหวในลักษณะเดียวกับ Gold Spot แต่ในความเป็นจริง ราคา ETF ยังขึ้นอยู่กับความต้องการซื้อหรือขายของนักลงทุนด้วย จึงทำให้ราคาซื้อขายโกลด์อีทีเอฟสูงกว่า (มี premium) หรือต่ำกว่า iNAV (มี discount) ก็เป็นได้ โดยเฉพาะในช่วงเวลาที่ตลาดมีความผันผวนมากๆ จะมีโอกาสที่ราคาโกลด์อีทีเอฟในไทยและ iNAV มีความแตกต่างกันมาก (มี gap) แต่กลไก arbitrage จะช่วยสร้างความสมดุลให้กับราคาอีทีเอฟให้ใกล้เคียง iNAV อยู่เสมอ
มีกลไกดูแลสภาพคล่อง อีกกลไกหนึ่งของ ETF คือ market maker ซึ่งจะทำหน้าที่ในเวลาที่สภาพคล่องของกองทุนมีปัญหา เช่น เมื่อราคาเสนอซื้อสูงสุดและราคาเสนอขายต่ำสุดมีความแตกต่างกันมากเกินไป หรือมีแต่ราคาเสนอซื้อไม่มีราคาเสนอขาย หรือไม่มีราคาเสนอซื้อเสนอขายเลยเป็นช่วงระยะเวลาหนึ่ง สำหรับ Gold ETF มีผู้ดูแลสภาพคล่องเช่นกัน โดย market maker ทำหน้าที่เสมือนผู้ลงทุนรายหนึ่งที่พร้อมจะซื้อหรือขายหน่วยลงทุนกับผู้ลงทุน เป็นการสร้างความมั่นใจให้ผู้ลงทุนในระดับหนึ่งว่าจะสามารถซื้อขายหน่วยลงทุนได้ตามที่ต้องการ