Infrastructure fund หรือ กองทุนรวมโครงสร้างพื้นฐาน คือกองทุนรวมประเภทหนึ่งที่ตั้งขึ้นเพื่อระดมทุนจากผู้ลงทุนทั่วไปทั้งรายย่อยและรายใหญ่ สำหรับนำไปใช้พัฒนากิจการโครงสร้างพื้นฐานของประเทศ ซึ่งใช้เพื่อประโยชน์สาธารณะของประเทศ ไม่ว่าจะเป็นโครงการของรัฐหรือโครงการของเอกชน เช่น ไฟฟ้า ประปา ถนนทางพิเศษ หรือทางสัมปทาน ท่าอากาศยานหรือสนามบิน ท่าเรือน้ำลึก โทรคมนาคม รถไฟฟ้า รถใต้ดิน เป็นต้น โดยกองทุนรวมที่จะจัดตั้งนั้น จะต้องระบุเฉพาะเจาะจงเลยว่าจะนำเงินไปลงทุนในกิจการโครงสร้างพื้นฐานประเภทใดบ้าง
ประโยชน์ของ infrastructure fund : โครงสร้างพื้นฐานของรัฐบาลส่วนใหญ่นั้นจะมีรัฐวิสาหกิจเป็นเจ้าของและผู้บริหารโครงการ ซึ่งก่อนหน้านี้เวลาจะพัฒนาโครงการอะไร ก็ต้องรอการจัดสรรงบประมาณ หรือต้องกู้เงินจากต่างประเทศ เท่ากับเป็นการเพิ่มภาระหนี้สาธารณะของประเทศ ขณะที่รัฐยังมีความจำเป็นต้องพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานของประเทศอีกมาก เพื่อเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศและเพื่อยกระดับคุณภาพชีวิตของประชาชนให้ดีขึ้น ด้วยข้อจำกัดดังกล่าว ก.ล.ต. จึงมีแนวคิดที่จะผลักดันให้ตลาดทุนมีบทบาทเพิ่มขึ้น ในการเป็นแหล่งระดมทุนสำหรับโครงการก่อสร้างโครงสร้างพื้นฐานที่จำเป็นต่อการพัฒนาประเทศ โดยใช้กองทุนรวมโครงสร้างพื้นฐาน
แตกต่างจากกองทุนรวมอสังหาริมทรัพย์อย่างไร : แม้ infrastructure fund จะมีรูปแบบการลงทุนที่คล้ายคลึงกับกองทุนรวมอสังหาริมทรัพย์ แต่มีความแตกต่างกันในแง่ที่กองทุนรวมอสังหาริมทรัพย์เน้นรายได้จากการปล่อยเช่าพื้นที่ของอสังหาริมทรัพย์ ในขณะที่ infrastructure fund เน้นรายได้จากการประกอบกิจการโครงสร้างพื้นฐาน เช่น หากลงทุนในกิจการทางพิเศษ กองทุนก็จะได้รับผลประโยชน์ที่มาจากการเก็บค่าผ่านทาง นอกจากนี้ infrastructure fund ที่เสนอขายต่อประชานทั่วไปจะอนุญาตให้นำเงินไปลงทุนในทรัพย์สินของโครงการที่ยังอยู่ในขั้น Greenfield projects ได้ (หมายถึง โครงสร้างพื้นฐานที่ยังไม่เริ่มก่อสร้าง อยู่ระหว่างการก่อสร้าง หรือก่อสร้างเสร็จแล้วแต่ยังไม่เริ่มมีรายได้เชิงพาณิชย์) โดยสัดส่วนของมูลค่าเงินลงทุนใน Greenfield projects ต้องไม่เกินร้อยละ 30 ของมูลค่าทรัพย์สินรวมของกองทุน ขณะที่กองทุนรวมอสังหาริมทรัพย์กำหนดให้ต้องลงทุนในอสังหาริมทรัพย์ที่สร้างเสร็จแล้ว หรือถ้ายังสร้างไม่เสร็จ ก็ต้องก่อสร้างไปแล้วไม่น้อยกว่าร้อยละ 80 ของมูลค่าโครงการ
ลงทุนใน infrastructure fund ต้องพิจารณาอะไรบ้าง : สำหรับผู้ลงทุนทั่วไป หากสนใจที่จะลงทุนในกองทุนรวมโครงสร้างพื้นฐาน หรือ Infrastructure fund ต้องรู้ว่า กองทุนรวมประเภทนี้ค่อนข้างซับซ้อนพอควร จึงควรต้องศึกษาข้อมูลให้ดีก่อนตัดสินใจลงทุน โดยประเด็นหลัก ๆ ที่ควรพิจารณา ก็มีอยู่ 2-3 เรื่อง ดังนี้
- ควรดูเรื่องทรัพย์สินที่นำมาระดมทุนในโครงการ ซึ่งจะมีความแตกต่างกัน และจะกระทบต่อรายได้ที่กองทุนรวมและผู้ลงทุนจะได้รับ ทรัพย์สินบางประเภทอาจมีความเสี่ยงต่ำ เนื่องจากมีผลตอบแทนที่แน่นอน เช่น โครงการที่มีผลตอบแทนตามความพร้อมในการให้บริการโดยไม่ขึ้นกับปริมาณการใช้บริการจริง (availability payment) อย่างโรงไฟฟ้าหรือโรงผลิตน้ำบางโครงการ ฯลฯ ขณะที่ทรัพย์สินบางประเภทก็มีความเสี่ยงสูงกว่า เช่น โครงการที่ได้รับผลตอบแทนตามปริมาณการใช้งานจริง (demand payment) หลังหักค่าใช้จ่ายในการดำเนินงาน อย่างโครงการที่ลงทุนในรายได้หลังหักค่าใช้จ่ายของการใช้บริการรถไฟฟ้าที่เงินรายได้แปรผันตาม ราคา จำนวนผู้ใช้บริการ และค่าใช่จ่ายในการดำเนินงาน เป็นต้น
- หากกองทุนรวมมีการแบ่งชนิดของหน่วยลงทุน หรือ แบ่ง class หน่วยลงทุน เพื่อขายให้ผู้ลงทุนแต่ละประเภท เช่น ผู้ลงทุนทั่วไป และผู้ลงทุนรายใหญ่ เป็นต้น ผู้ลงทุนควรทำความเข้าใจสิทธิและข้อจำกัดของหน่วยลงทุนในแต่ละ class ที่ บลจ. กำหนดด้วย เพราะจะกระทบต่อสิทธิและรายได้ที่ได้รับ เช่น กองทุนรวม A แบ่งหน่วยลงทุนเป็น 2 class อาจมีข้อกำหนดว่า ผู้ลงทุนใน class ก. จะได้รับผลตอบแทนขั้นต่ำก่อน ส่วนผู้ลงทุนใน class ข. จะได้รับผลตอบแทนส่วนที่เหลือตามผลประกอบการของกองทุนรวม เป็นต้น
- ความเสี่ยงที่อาจกระทบต่อผลตอบแทนที่ผู้ลงทุนจะได้รับ เช่น หากกองทุนมีการลงทุนในโครงการที่อยู่ระหว่างการก่อสร้าง ก็จะมีความเสี่ยงจากการก่อสร้างได้ไม่ทันกำหนด (delay) หรือ ค่าก่อสร้างเพิ่มมากขึ้นกว่าที่คาดการ (cost-overrun) นอกจากนั้น ก็เป็นความเสี่ยงอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้อง เช่น ความเปลี่ยนแปลงด้านเทคโนโลยี ความเสี่ยงด้านการเมือง และเหตุสุดวิสัยต่าง ๆ เป็นต้น