กองทุนรวมตราสารหนี้ มีนโยบายการลงทุนในตราสารหนี้เป็นหลัก ทั้งตราสารหนี้ภาครัฐ เช่น ตั๋วเงินคลัง พันธบัตรรัฐบาล หุ้นกู้ ซึ่งเป็นได้ทั้งตราสารหนี้ระยะสั้น (อายุคงเหลือไม่เกิน 1 ปี) และตราสารหนี้ระยะยาว
นโยบาย : มีนโยบายหลากหลาย อาจเน้นลงทุนในพันธบัตร โดยอาจเป็นพันธบัตรต่างประเทศก็ได้ หรือเน้นลงทุนในหุ้นกู้ภาคเอกชน และยังแบ่งได้ตามกลยุทธ์ที่ผู้จัดการกองทุนใช้ในการบริหาร โดยอาจแบ่งได้เป็นบริหารแบบเชิงรุกที่มุ่งเอาชนะผลตอบแทนของดัชนีอ้างอิง (benchmark) ได้แก่ อัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาล หรือหุ้นกู้ที่มีอายุใกล้เคียงกับอายุของตราสารที่กองทุนลงทุน และบริหารแบบเชิงรับที่ลงทุนในตราสารและสัดส่วนที่เลียนแบบองค์ประกอบของพอร์ตดัชนีอ้างอิง เพื่อมุ่งสร้างผลตอบแทนให้ใกล้เคียงกับดัชนีอ้างอิง เช่น กองทุนรวมดัชนีตราสารหนี้และกองทุนรวม ETF ตราสารหนี้
กองทุนรวมตราสารหนี้ที่กำหนดอายุโครงการไว้แน่นอนโดยมีการเสนอขายครั้งเดียวและไม่รับซื้อคืนก่อนครบอายุ (termfund) บลจ. จะคืนเงินลงทุนให้ตามมูลค่ากองทุนรวม ณ วันที่ครบอายุ และอาจประมาณการอัตราผลตอบแทนที่จะได้รับให้ผู้ลงทุนทราบล่วงหน้าได้
ผลตอบแทนและความเสี่ยง : ผลตอบแทนจากการลงทุนในกองทุนรวมตราสารหนี้อาจจะไม่สูงมาก ขึ้นอยู่กับประเภทตราสารหนี้ที่ไปลงทุน โดยกองทุนรวมตราสารหนี้ที่มีนโยบายลงทุนแตกต่างกันก็จะมีระดับความเสี่ยงต่างกันด้วย ซึ่งความเสี่ยงสำคัญๆ ของกองทุนรวมตราสารหนี้มีดังนี้
- ความเสี่ยงจากการเปลี่ยนแปลงอัตราดอกเบี้ยในตลาด ส่งผลกระทบโดยตรงต่อการเปลี่ยนแปลงของราคา รวมทั้งผลตอบแทนจากตราสารหนี้ เมื่ออัตราดอกเบี้ยในตลาดปรับตัวสูงขึ้น ราคาตราสารหนี้ที่อยู่ในกองทุนจะปรับลดลง หากไม่อยากรับความเสี่ยงในเรื่องนี้มากเกินไป อาจเลือกลงทุนในกองทุนรวมตราสารหนี้ที่มีกลยุทธ์การลงทุนเพียงครั้งเดียวแล้วถือจนครบอายุตราสาร หรือกองทุนรวมตราสารหนี้ที่มีอายุคงเหลือสั้นๆ เพราะโอกาสที่จะได้รับผลกระทบจากความผันผวนของอัตราดอกเบี้ยในตลาดไม่มากนัก
- ความเสี่ยงด้านความน่าเชื่อถือของผู้ออกตราสารหนี้ที่ไม่สามารถทำตามเงื่อนไขหรือข้อผูกผันที่มีอยู่ เช่น ไม่สามารถจ่ายคืนเงินต้นและดอกเบี้ยให้ผู้ถือหุ้นกู้ได้ตามจำนวนเงินหรือตามเวลาที่กำหนด อย่างไรก็ดี ตามเกณฑ์ ก.ล.ต. กองทุนรวมตราสารหนี้จะสามารถลงทุนในตราสารหนี้ที่มีการจัดอันดับความน่าเชื่อถือต่ำกว่าอันดับที่สามารถลงทุน หรือ junk bond ได้ไม่เกิน 15% ของ NAV เพื่อเป็นการจำกัดความเสี่ยงด้านเครดิตในระดับหนึ่ง
- ความเสี่ยงด้านสภาพคล่อง คือการที่ผู้ลงทุนอาจไม่สามารถซื้อขายหน่วยลงทุนของกองทุนรวมได้ตามที่ต้องการ หากลงทุนในกองทุนปิด หรือกองทุนเปิดที่เปิดให้ซื้อขายได้บางเวลา
- ความเสี่ยงอื่นๆ เช่น กองทุนรวมที่ไปลงทุนในตราสารหนี้ต่างประเทศก็จะมีความเสี่ยงเกี่ยวกับสภาวะทางการเมืองหรือเศรษฐกิจในประเทศที่ไปลงทุน ความเสี่ยงด้าน country risk รวมทั้งความเสี่ยงด้านอัตราแลกเปลี่ยนด้วย
ประเมินผลการดำเนินงาน : สามารถประเมินผลการดำเนินงานของกองทุนรวมตราสารหนี้ได้ด้วยการเปรียบเทียบกับ benchmark ซึ่งได้แก่ bond index สำหรับกองทุนรวมหุ้นกู้ และ Government bond index สำหรับกองทุนรวมพันธบัตรรัฐบาล
เหมาะกับใคร : เหมาะกับผู้ลงทุนที่รับความเสี่ยงได้ไม่มาก ไม่คาดหวังผลตอบแทนที่สูงหรือหวือหวา เหมาะกับผู้ที่อยากลงทุนในตราสารหนี้แต่มีอุปสรรคในการลงทุน รู้สึกว่ายุ่งยากซับซ้อนเกินไป หรือแม้แต่สำหรับผู้ที่พลาดโอกาสในการซื้อพันธบัตรหรือหุ้นกู้ของบริษัทเอกชนที่มักจะมีการแย่งกันจองซื้อในช่วงที่ออกเสนอขาย
รู้ไว้ได้ประโยชน์ : การลงทุนในกองทุนรวมตราสารหนี้ ไม่ต้องใช้เงินลงทุนเริ่มต้นจำนวนมาก มีมืออาชีพหรือผู้จัดการกองทุนมาช่วยบริหารจัดการเงินให้ การกระจายความเสี่ยงในการลงทุนที่ดีกว่า เนื่องจากสามารถลงทุนในตราสารหนี้ได้หลากหลายทั้งประเภทและอายุ และสามารถซื้อขาย เปลี่ยนมือได้ง่ายกว่าซื้อตราสารหนี้เอง
กองทุนรวมตราสารหนี้บางกองอาจจ่ายผลตอบแทนคืนให้ผู้ถือหน่วยลงทุน โดยการขายคืนหน่วยลงทุนโดยอัตโนมัติ (auto redemption) เพื่อให้ผู้ลงทุนได้รับผลตอบแทนคืนสม่ำเสมอ เป็นงวดๆ โดยอัตโนมัติ เสมือนกับผู้ถือหน่วยลงทุนได้ขายคืนหน่วยลงทุนให้กับ บลจ. นั่นเอง
หากสนใจลงทุนในกองทุนรวมหุ้นกู้ซึ่งมีการเสนอขายครั้งแรกไปแล้ว ควรดูไส้ในของกองทุนรวมแต่ละกอง เพื่อดูสัดส่วนการลงทุนในหุ้นกู้แต่ละตัวและอันดับความน่าเชื่อถือของหุ้นกู้ด้วย ซึ่งสามารถดูข้อมูลเหล่านี้รวมทั้งปัจจัยความเสี่ยงของกองทุนรวมได้จากหนังสือชี้ชวนของกองทุนรวมนั้นๆ