REITs เป็นกองทรัสต์เพื่อการลงทุนในอสังหาริมทรัพย์ที่มีมูลค่าไม่น้อยกว่า
500 ล้านบาท โดยมีผู้จัดการกองทรัสต์ ทำหน้าที่บริหารและจัดการการลงทุนของ REITs และมีทรัสตีเป็นผู้ถือกรรมสิทธิ์ในกอง REITs มีหน้าที่ติดตาม ดูแล และตรวจสอบการทำงานของผู้จัดการกองทรัสต์
เพื่อประโยชน์ของผู้ถือหน่วย REITs
โดย REITs จะต้องจ่ายเงินปันผลให้แก่ผู้ถือหน่วยทรัสต์อย่างน้อย 90%
ของกำไรสุทธิที่ไม่รวมกำไรที่ยังไม่เกิดขึ้น
ทำความรู้จักผู้เกี่ยวข้องหลัก
1. ผู้จัดการ REITs : บริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุนรวม (บลจ.)
หรือบริษัทที่มีความเชี่ยวชาญด้านอสังหาริมทรัพย์ ต้องได้รับความเห็นชอบจาก ก.ล.ต.
(คราวละ 5 ปี)
ทำหน้าที่ กำหนดกลยุทธ์และแผนการดำเนินงาน
ดูแลและบริหารจัดการ คำนวณและเปิดเผยมูลค่าทรัพย์สินของ REITs และมูลค่าหน่วย REITs พิจารณาการจ่ายผลประโยชน์ตอบแทนให้แก่ผู้ถือหน่วย REITs รวมถึงจัดประชุมผู้ถือหน่วย REITs อย่างน้อยปีละครั้ง
2. ทรัสตี : สถาบันการเงิน หรือบริษัทที่สถาบันการเงินถือหุ้นไม่น้อยกว่า
99% ซึ่งได้รับใบอนุญาตจาก ก.ล.ต. ให้ประกอบธุรกิจเป็นทรัสตี
ทำหน้าที่
ดูแลการทำงานของผู้จัดการ REITs ให้เป็นไปตามสัญญาก่อตั้งทรัสต์ ทำบัญชีทรัพย์สินของ REITs แยกต่างหากจากทรัพย์สินของทรัสตีและดูแลการเบิกจ่ายทรัพย์สินของ REITs ให้ความเห็นต่อเรื่องที่ผู้จัดการ REITs จะขอมติว่าเป็นไปตามสัญญาก่อตั้งทรัสต์หรือไม่
และเข้าร่วมประชุมผู้ถือหน่วย REITs
ลักษณะสำคัญ
1. ทรัพย์สินที่ REITs สามารถลงทุนได้ : อสังหาริมทรัพย์ทุกประเภท
เพื่อให้มีรายได้จากค่าเช่า และต้องไม่ขัดต่อศีลธรรมหรือผิดกฎหมาย
ซึ่งลงทุนได้ทั้งในประเทศและต่างประเทศ
โดยเป็นอสังหาริมทรัพย์ที่พร้อมจัดหาประโยชน์ ไม่น้อยกว่า 75%
ของมูลค่าทรัพย์สินรวม
ส่วนที่เหลือสามารถลงทุนในอสังหาริมทรัพย์ที่ยังไม่แล้วเสร็จไม่เกิน 10%
ของมูลค่าทรัพย์สินรวม รวมถึงทรัพย์สินอื่น สำหรับกรณีให้เช่าอสังหาริมทรัพย์แก่ผู้เช่าเพื่อนำไปประกอบธุรกิจที่
REITs ไม่สามารถดำเนินการได้เอง
หากมีการกำหนดค่าเช่าที่ขึ้นกับผลประกอบการของผู้เช่า จะต้องไม่เกิน 50%
ของค่าเช่าคงที่
2. รูปแบบการลงทุนของ REITs : ลงทุนทางตรง ได้กรรมสิทธิ์ในอสังหาริมทรัพย์ หรือลงทุนทางอ้อม ผ่านการถือหุ้นบริษัทที่ประกอบธุรกิจอสังหาริมทรัพย์เช่นเดียวกับที่
REITs ดำเนินการได้
3. การกู้ยืมและก่อภาระผูกพัน
ไม่เกิน 35% ของมูลค่าทรัพย์สินรวม กรณีที่ REITs มีอันดับความน่าเชื่อถือในอันดับที่สามารถลงทุนได้
กู้ยืมได้ไม่เกิน 60% ของมูลค่าทรัพย์สินรวม
ภาษีที่เกี่ยวข้องกับผู้ลงทุน :
บุคคลธรรมดา เงินปันผล หักภาษี ณ ที่จ่าย 10% และกำไรจากการขายหน่วย
Reits ยกเว้นภาษี
นิติบุคคล
เงินปันผลเสียภาษีในอัตราปกติ และกำไรจากการขายหน่วย Reits เสียภาษีในอัตราปกติ
ช่องทางการลงทุนใน REITs : ขณะเสนอขายครั้งแรก (IPO) สามารถซื้อได้ที่ธนาคารและบริษัทหลักทรัพย์ที่เป็นผู้จัดจำหน่าย
หลังจากนั้น ซื้อขายหน่วย REITs ในตลาดหลักทรัพย์
(ผู้ลงทุนต้องเปิดบัญชีซื้อขายหลักทรัพย์)
ข้อควรพิจารณาก่อนลงทุน :
1.
รู้จักอสังหาริมทรัพย์ที่อยู่ใน REITs
ว่าทรัพย์สินตั้งอยู่ที่ไหน
เป็นอสังหาริมทรัพย์ที่สร้างเสร็จแล้วหรืออยู่ระหว่างพัฒนา
ใช้หารายได้ด้วยวิธีใด มีสัญญากับผู้เช่าใช้พื้นที่อย่างไร
มีปัจจัยอะไรบ้างที่จะกระทบกับกระแสรายได้ของอสังหาริมทรัพย์นี้ และรู้จักผู้จัดการ REITs ว่ามีประสบการณ์และความเชี่ยวชาญในการสร้างความเติบโตให้แก่ผลตอบแทนในการลงทุนอสังหาริมทรัพย์หรือไม่
2. ความเป็นเจ้าของ
กรณีที่เป็นสิทธิการเช่า (Leasehold) จะได้รับเงินต้นทยอยคืนตลอดระยะเวลาที่ถือ
ซึ่งจะทำให้มูลค่าทรัพย์สินที่เป็นสิทธิการเช่าของ REITs จะลดลงไปเรื่อย
ๆ จนเป็นศูนย์เมื่อสิ้นสุดระยะเวลาสิทธิการเช่า
3. สภาพคล่อง
ในการซื้อขายเปลี่ยนมือจะต้องทำผ่านตลาดหลักทรัพย์
หากเป็นกองที่ผู้ถือไม่นิยมเปลี่ยนมือก็อาจมีปัญหาขาดสภาพคล่อง
4. ราคาซื้อขายในตลาดอาจต่างจาก NAV โดย NAV คำนวณอ้างอิงจากราคาประเมินของอสังหาริมทรัพย์
ขณะที่ราคาที่ซื้อขายเป็นราคาตามกลไกตลาด
ขึ้นอยู่กับความต้องการของผู้ซื้อและผู้ขาย ซึ่งอาจมีปัจจัยหลายด้านเข้ามากระทบ
อาทิ ภาวะเศรษฐกิจ แนวโน้มของธุรกิจอสังหาริมทรัพย์
ตลอดจนการคาดการณ์ผลการดำเนินงานในอนาคตของ REITs
5.
ความเสี่ยงของการไม่กระจายความเสี่ยง การลงทุนใน REITs คล้ายกับการลงทุนในหุ้นของบริษัทแห่งเดียว
(หรือไม่กี่แห่ง) จึงไม่มีการกระจายความเสี่ยง
6. ตัวเลขผลตอบแทนที่เห็นในโฆษณาเป็นเพียงตัวเลขที่ประมาณการจากการคาดการณ์บนสมมติฐาน
ก.ล.ต. อนุญาตให้ผู้จัดการ REITs
แสดงประมาณการผลตอบแทนได้เพียงแค่ปีแรกปีเดียว
7.
ค่าธรรมเนียมและค่าใช้จ่ายที่เรียกเก็บ ส่งผลต่อผลตอบแทนที่ผู้ลงทุนจะได้รับ
จึงควรดูว่าเป็นอัตราส่วน (%) มากน้อยแค่ไหน และควรเปรียบเทียบค่าธรรมเนียมและค่าใช้จ่ายด้วย