กองทุนรวมประหยัดภาษี

03 ตุลาคม 2562
อ่าน 3 นาที

LTF                                                                                                           RMF​

​​



​เมื่อพูดถึงกองทุนรวมประหยัดภาษี คงเคยได้ยินเกี่ยวกับ “กองทุนรวมเพื่อการเลี้ยงชีพ Retirement Mutual Fund : RMF” และ “กองทุนรวมหุ้นระยะยาว Long-Term Equity Fund : LTF” ซึ่งลักษณะเด่นของกองทุนรวมประหยัดภาษีทั้ง 2 ประเภท คือ ค่าซื้อหน่วยลงทุนของกองทุนรวมสามารถนำมาหักลดหย่อนภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาได้ หากผู้ลงทุนปฏิบัติถูกต้องตามเงื่อนไขที่กำหนด
  • RMF (กองทุนรวมเพื่อการเลี้ยงชีพ หรือ retirement mutual fund) เป็นกองทุนรวมที่เกิดขึ้นจากแนวคิดที่ต้องการสนับสนุนวินัยการออมในระยาวเพื่อวัยเกษียณเมื่อพ้นจากงานและไม่มีรายได้ประจำแล้ว
  • LTF (กองทุนรวมหุ้นระยะยาว หรือ long-term equity fund) เป็นกองทุนรวมที่เกิดมาจากแนวคิดที่ต้องการส่งเสริมการลงทุนระยะยาวในหุ้นจดทะเบียนในตลาดรอง เช่น SET และ MAI เพื่อช่วยให้ตลาดทุนไทยมีเสถียรภาพมากยิ่งขึ้น และยังช่วยสร้างวินัยในการออม ของผู้ลงทุนรายย่อยในระยะยาวมากยิ่งขึ้นด้วย    และเมื่อกองทุนรวมทั้งสองประเภทต่างก็เน้นการลงทุนระยะยาว ทางการจึงสนับสนุนสิทธิประโยชน์ทางภาษี ให้แก่ ผู้ลงทุนเพื่อเป็นการจูงใจ  โดย LTF จะให้สิทธิประโยชน์ทางภาษีได้ถึงปลายปี 2562
แต่ RMF และ LTF ก็แตกต่างกัน
RMF เหมาะกับผู้ที่ต้องการลงทุนเพื่อใช้ในวัยเกษียณ ไม่ว่าจะทำงานประจำหรือประกอบวิชาชีพอิสระ หรือไม่ได้ประกอบอาชีพแต่มีรายได้ในรูปแบบอื่น เช่น ค่าเช่า ดอกเบี้ย เป็นต้น นอกจากนี้ ยังเหมาะกับคนที่ยังไม่มีสวัสดิการเงินออมระยะยาว เช่น กบข. กองทุนสำรองเลี้ยงชีพ (PVD) มารองรับ
ความเสี่ยงของ RMF ขึ้นกับทรัพย์สินที่กองทุนรวมไปลงทุน หากเป็นกองทุนรวมที่เน้นลงทุนในหุ้น จะมีความเสี่ยงจากความผันผวนของราคาหุ้นที่กองทุนรวมไปลงทุน แต่หากเป็นกองทุนรวมตราสารหนี้ก็จะมีความเสี่ยงจากการผิดนัดชำระหนี้ของบริษัทที่ออกตราสารหนี้ ความเสี่ยงจากความผันผวนของอัตราดอกเบี้ย (อัตราดอกเบี้ยขึ้น ราคาตราสารหนี้ลดลง) เป็นต้น 
หากผิดเงื่อนไขการลงทุน
1. กรณีที่ลงทุนไม่ถึง 5 ปี และมีการผิดเงื่อนไข
  • ต้องคืนเงินภาษีทั้งหมดทุกปีที่ได้รับยกเว้นไป 
  • เมื่อขายคืนหน่วยลงทุน ต้องนำกำไรจากการขายคืนหน่วยลงทุน (capital gain) ไปรวมคำนวณ เพื่อเสียภาษีเงินได้
2. กรณีที่ลงทุนตั้งแต่ 5 ปีขึ้นไป และมีการผิดเงื่อนไข
  • ต้องคืนเงินภาษีที่ได้รับยกเว้นไปในช่วง 5 ปีย้อนหลัง (นับตามปีปฏิทิน)

** การชำระภาษี ตาม 1. และ 2. ต้องชำระภายในเดือนมีนาคมของปีถัดจากปีที่ผิดเงื่อนไข และ/หรือ ขายคืนหน่วยลงทุนมิฉะนั้นต้องจ่ายเบี้ยปรับเงินเพิ่มอีก

LTF เหมาะสำหรับผู้ที่ต้องการลงทุนระยะยาวในหุ้นซึ่งมีความเข้าใจ และสามารถยอมรับความเสี่ยงที่สูงจากการลงทุนในหุ้นได้ แต่อาจไม่มีความชำนาญการลงทุนหรือไม่มีเวลาติดตามข้อมูลการลงทุน
ความเสี่ยงของ LTF  มีนโยบายลงทุนแบบเดียว คือ ลงทุนในหุ้น จึงมีความเสี่ยงจากความผันผวนของราคาหุ้นตามปัจจัยต่างๆ เช่น ภาวะเศรษฐกิจ การเมือง เป็นต้น
หากผิดเงื่อนไขการลงทุน
1. ต้องคืนเงินภาษีที่ได้รับยกเว้นไป โดยควรรีบทำทันที่ที่ผิดเงื่อนไข เนื่องจากต้องจ่าย "เงินเพิ่ม"  ในอัตรา 1.5% ต่อเดือนของจำนวนเงินภาษีที่ได้รับยกเว้นนับตั้งแต่เดือนเมษายนของปีที่ผู้ลงทุน ยื่นขอยกเว้นภาษี จนถึงเดือนที่มีการยื่นคืนเงินภาษี สำหรับกรณีขาย LTF คืนเพียงบางส่วนให้คืนเฉพาะยอดที่ขายคืนพร้อม "เงินเพิ่ม"

2. ต้องจ่ายภาษีของกำไรส่วนเกินทุน (capital gain) ภายในเดือนมีนาคมของปีถัดจากปีที่ผิดเงื่อนไข  โดยนำกำไรที่ได้รับจากการขายคืนไปรวมเป็นเงินได้ของปีที่ขายคืนเพื่อเสียภาษีเงินได้

Check list ก่อนลงทุนในกองทุนรวมประหยัดภาษี
  • ​RMF และ LTF เป็นการลงทุนระยะยาว ควรมั่นใจว่ามีความพร้อมและมีวินัยในการออมและการลงทุน
  • RMF เป็นกองทุนที่ต้องลงทุนต่อเนื่องจนถึงวัยเกษียณ ควรมีการวางแผนเพื่อจัดสรรเงินทุนและสำรวจสภาพคล่องของตนเองให้ดีด้วย
  • RMF มีนโยบายการลงทุนที่หลากหลาย จึงควรทำความเข้าใจกับนโยบายและความเสี่ยงที่เกี่ยวข้องของ RMF ให้ดี และเลือกลงทุนให้สอดคล้องกับความสามารถในการยอมรับความเสี่ยงของตนเอง
  • LTF มีนโยบายการลงทุนเดียวคือลงทุนในหุ้นซึ่งเหมาะกับผู้ที่ยอมรับความเสี่ยงได้สูง สามารถลงทุนได้ในระยะยาว และยอมรับความผันผวนของมูลค่าทรัพย์สินสุทธิ (NAV) 
  • RMF และ LTF ต้องลงทุนให้เป็นไปตามเงื่อนไขการลงทุน ผู้ลงทุนจึงจะได้สิทธิประโยชน์ทางภาษี และหากปฏิบัติผิดเงื่อนไขก็จะมีบทลงโทษ ควรศึกษาหนังสือชี้ชวนและคู่มือภาษีให้ดีก่อนตัดสิใจลงทุน (คู่มือภาษีสามารถขอได้จาก บลจ.)
  • อย่าลงทุนเพราะของแจก ลงทุนตามเพื่อน หรือลงทุนตามแฟชั่น ให้ความสำคัญกับข้อมูลเกี่ยวกับกองทุนรวม ทั้งนโยบายการลงทุนและความเสี่ยงที่เกี่ยวข้อ รวมทั้งเงื่อนไขในการลงทุนเพื่อให้ได้สิทธิประโยชน์ทางภาษี 

อ่านเพิ่มเติม

เรื่องที่เกี่ยวข้อง