มูลค่าและผลตอบแทนของกองทุนรวม

01 พฤศจิกายน 2562
อ่าน 5 นาที

​​​


การดูมูลค่าเงินลงทุนของกองทุนรวม จะดูได้ที่มูลค่าของกองทุนรวมทั้งกองทุน หรือที่เรียกกันจนคุ้นหูว่ามูลค่าทรัพย์สินสุทธิของกองทุนรวม (Net Asset Value: NAV หรือ เอ็นเอวี) ซึ่งคำนวณได้จาก  

NAV = มูลค่าตามราคาตลาดของทรัพย์สินทั้งหมดที่กองทุนรวมไปลงทุน + (ผลตอบแทนที่กองทุนรวมได้รับ*)  – (ค่าใช้จ่ายของกองทุนรวม** /ผลขาดทุนของกองทุนรวม) 
*ผลตอบแทนที่กองทุนรวมได้รับ ได้แก่ เงินปันผล ดอกเบี้ยรับ กำไรจากการลงทุน (capital gain) 
**ค่าใช้จ่ายของกองทุนรวม เช่น ค่าธรรมเนียมการจัดการ (management fee) ค่าธรรมเนียมผู้ดูแลผลประโยชน์ เป็นต้น 

หากจะหา NAV ต่อหน่วย ก็นำจำนวนหน่วยลงทุนทั้งหมดของกองทุนรวมมาหารมูลค่า NAV โดย บลจ. จะต้องคำนวณ NAV และ NAVต่อหน่วยทุกสิ้นวันทำการ (ทั้งกรณีของกองทุนรวมปิดและกองทุนรวมเปิด) เนื่องจาก NAV จะมีการเปลี่ยนแปลงทุกวันและเป็นตัวสะท้อนผลการดำเนินงานของกองทุนรวมว่าเป็นบวกหรือลบ คือ ได้กำไรหรือขาดทุน สำหรับกองทุนรวมแบบเปิดจะมีการประกาศมูลค่า NAV ให้ผู้ถือหน่วยลงทุนทราบในวันทำการถัดไป ทางหนังสือพิมพ์รายวัน หรือเว็บไซต์ของ บลจ. เอง ส่วนกรณีกองทุนรวมปิด บลจ. จะประกาศมูลค่า NAV ของเฉพาะวันทำการสุดท้ายของเดือนเท่านั้น

ผลตอบแทนที่กองทุนรวมจะได้รับจากการนำเงินไปลงทุนในหลักทรัพย์ประเภทต่างๆ ได้แก่ เงินปันผล หุ้นเพิ่มทุน ดอกเบี้ยรับ และกำไรส่วนเกินทุน หรือ capital gain และสำหรับผลตอบแทนที่ผู้ลงทุนจะได้รับจากการลงทุนก็ได้แก่ เงินปันผล (กรณีกองทุนรวมมีนโยบายจ่ายเงินปันผล) หรือ capital gain กรณีที่ขายหน่วยลงทุนออกไปตอนที่มูลค่าหน่วยลงทุนเพิ่มขึ้น

อย่าลืมว่า กองทุนรวมไม่ใช่เงินฝาก แม้จะขายผ่านธนาคารพาณิชย์ก็ตาม การลงทุนในกองทุนรวมอาจมีโอกาสที่ผู้ลงทุนจะไม่ได้รับเงินต้นคืนครบจำนวน (ยกเว้นกองทุนรวมบางประเภทที่มีนโยบายคุ้มครองเงินต้น) เนื่องจากมูลค่าของกองทุนรวมมีการปรับขึ้นหรือลดลงได้ตามมูลค่าของตราสารทางการเงินหรือทรัพย์สินที่กองทุนรวมไปลงทุนในแต่ละวัน ผู้ถือหน่วยลงทุนจึงอาจขาดทุนได้ หากมีความจำเป็นต้องขายหน่วยลงทุนในช่วงที่ NAV ของกองทุนปรับลดลง

นอกเหนือจากตัวเลข NAV ของกองทุนรวมแล้ว ยังมีค่าธรรมเนียมในการซื้อขายหน่วยลงทุน ซึ่งถือต้นทุนที่คุณไม่ควรมองข้าม หากกำลังพิจารณาหน่วยลงทุนของกองทุนเปิด (กองทุนที่รับซื้อหน่วยลงทุนคืน) คุณจะพบว่า บลจ. หรือตัวแทนขาย จะรายงานตัวเลข 3 ราคา ให้ผู้ลงทุนเห็น ในหน่วยลงทุนของกองทุนเดียวกัน คือ

  • มูลค่าหน่วยลงทุน (หรือ NAV ต่อหน่วย) 
  • ราคาขายหน่วยลงทุน 
  • ราคารับซื้อคืนหน่วยลงทุน 

เหตุผลที่ทำให้ราคาและมูลค่าเหล่านี้ต่างกันก็เพราะ “ค่าธรรมเนียมการขายหน่วยลงทุน” และ “ค่าธรรมเนียมการรับซื้อคืนหน่วยลงทุน” ซึ่งค่าธรรมเนียมเหล่าหนี้ บลจ. จะเก็บโดยตรงจากผู้ลงทุนที่ทำรายการ คิดเป็น % ของมูลค่าหน่วยลงทุน ซึ่ง บลจ. จะนำมาบวก (กรณีซื้อหน่วยลงทุน) หรือลบออกจากมูลค่าหน่วยลงทุน (กรณีขายหน่วยลงทุน)  โดยค่าธรรมเนียมขาย และค่าธรรมเนียมการรับซื้อคืนหน่วยลงทุน เป็นไปตามที่ระบุในหนังสือชี้ชวน 


กองทุนรวมน่าลงทุนอย่างไร? 
กองทุนรวมมีความน่าสนใจหลายประการ...ลองมาดูเหตุผลที่เราควรเลือกลงทุนในกองทุนรวม
  • มืออาชีพ มี บลจ. เป็นผู้ดูแลการบริหารเงินลงทุนให้ หากผู้ลงทุนไม่มีความชำนาญในการลงทุน
  • กระจายความเสี่ยง บลจ. จะนำเงินไปลงทุนในตราสารทางการเงินหรือทรัพย์สินที่หลากหลาย ช่วยลดความเสี่ยงได้
  • มีเงินน้อยก็ลงทุนได้ ง่ายต่อการเริ่มต้นลงทุน บางกองทุนรวมกำหนดเงินลงทุนขั้นต่ำเพียงหลักพันบาท
  • ปลอดภัยด้วยกลไกปกป้อง สำนักงาน ก.ล.ต. ได้วางกลไกให้ บลจ. บริหารกองทุนอย่างโปร่งใสเป็นไปตามกฎเกณฑ์ที่ ก.ล.ต. กำหนด และยังต้องมีผู้ดูแลผลประโยชน์ซึ่งเป็นสถาบันการเงินที่มีความเป็นอิสระจาก บลจ. ช่วยดูแลการทำงานของ บลจ. ให้เป็นไปตามที่กำหนดในหนังสือชี้ชวนและกฎเกณฑ์อีกด้วย
  • สะดวกสบาย ซื้อขายง่าย ทั้งผ่านตัวแทนขายของ บลจ. ATM หรือ Internet เป็นต้น
อย่างไรก็ตามกองทุนรวมก็ยังมีประเด็นที่ควรรับทราบ เช่น
  • ผู้ถือหน่วยลงทุนไม่สามารถตัดสินใจเลือกหลักทรัพย์ที่จะลงทุนเองได้ แต่เป็นหน้าที่ของผู้จัดการกองทุนที่จะตัดสินใจแทนผู้ถือหน่วยลงทุนในการลงทุนในหลักทรัพย์และทรัพย์สินต่างๆตามนโยบายการลงทุนที่กำหนดไว้ในหนังสือชี้ชวน
  • บลจ. มีการเก็บค่าธรรมเนียมบางประเภทจากกองทุนรวมอย่างต่อเนื่อง เท่ากับว่าผู้ถือหน่วยลงทุนต้องจ่ายค่าธรรมเนียมทางอ้อมให้กับ บลจ. เช่น ค่าธรรมเนียมในการจัดการกองทุนรวม ค่าธรรมเนียมผู้ดูแลผลประโยชน์ค่าใช้จ่ายในการสอบบัญชี เป็นต้น
  • ​ผู้ถือหน่วยลงทุนจะได้รับผลประโยชน์จากกองทุนรวม เฉพาะกำไรส่วนเกินทุน หรือเงินปันผลที่กองทุนรวมจ่ายให้ผู้ถือหน่วยลงทุน หรือการออกเสียงลงมติในเรื่องสำคัญของกองทุนรวมเท่านั้น ไม่รวมถึงผลประโยชน์จากหลักทรัพย์ที่กองทุนรวมไปลงทุน(เช่น สิทธิตามกฎหมายในฐานะผู้ถือหุ้น หากเป็นกองทุนรวมที่ลงทุนในหุ้น)​

อ่านเพิ่มเติม

เรื่องที่เกี่ยวข้อง