หุ้นเล็ก หุ้นใหญ่ หุ้นไหนเหมาะกับเรา

19 สิงหาคม 2563
อ่าน 3 นาที



หลายคนที่ยังไม่เคยลงทุนในหุ้น คงมีคำถามว่าทำไมถึงต้องลงทุนในหุ้น บางคนก็สนใจอยากเล่นหุ้นเพราะอยากจะรวย ก่อนจะเริ่มมาทำความรู้จักกับการลงทุนในหุ้นกันก่อน 


เปรียบเทียบการลงทุนในตราสารทุนหรือการซื้อหุ้เหมือนเราซื้อกิจการนั้นบางส่วน ทำให้เราเป็นหนึ่งในเจ้าของกิจการนั้น แต่ถ้าเราฝากเงินกับธนาคารจะถือว่าเราเป็นเจ้าหนี้ของธนาคาร ได้ผลตอบแทนคงที่เป็นดอกเบี้ยซึ่งปัจจุบันให้น้อยเต็มที ขณะที่ลงทุนในหุ้นถ้ากิจการไปได้ดีก็มีโอกาสได้เงินปันผลและส่วนต่างราคาจากราคาหุ้นที่สูงขึ้น โดยเปรียบเทียบถ้าเราเริ่มลงทุนในหุ้นตั้งแต่ตั้งตลาดในปี 2518 จะได้รับผลตอบแทนเฉลี่ย 12% ต่อปี 


แต่ผลตอบแทนของหุ้นที่สูงก็แลกกับความผันผวนของผลตอบแทนเช่นกัน หากซื้อขายผิดจังหวะบางปีมีโอกาสขาดทุนได้ถึง 40% แต่การไม่ลงทุนแล้วฝากเงินอย่างเดียวก็มีความเสี่ยงที่เงินจะด้อยค่า ถ้าในปีนั้นอัตราดอกเบี้ยน้อยกว่าเงินเฟ้อ

อีกเหตุผลสำคัญที่ควรรู้สำหรับคนที่ไม่เคยลงทุนในหุ้น คือ เงินสะสมเพื่อไว้ใช้ตอนเกษียณ ไม่ว่าจะจากกองทุนบำเหน็จบำนาญราชการ กองทุนสำรองเลี้ยงชีพ กองทุนประกันสังคม กองทุนการออมแห่งชาติ นั้นไม่เพียงพอสำหรับคนส่วนใหญ่ หากย้อนกลับไปช่วงที่ได้ดอกเบี้ยเงินฝาก 7 - 8% ต่อปี ก็คงไม่ต้องเสียเวลาลงทุนในหุ้น เพราะในโลกการลงทุนต้องการเพียง 2 สิ่ง คือ เวลา และผลตอบแทน (หรือดอกเบี้ยทบต้น) 


ในโลกการลงทุนมีกฎ 72 นั่นคือเงิน 100 บาทแรกจะกลายเป็น 200 บาท ใช้เวลาเท่ากับ 72 หารผลตอบแทนเฉลี่ย เช่น หากฝากเงินได้ดอกเบี้ย 2% ต่อปี ต้องใช้เวลาถึง 72 หาร 2 = 36 ปี ที่เงินจะเพิ่มขึ้นหนึ่งเท่าตัว


แต่หากลงทุนในหุ้นและได้ผลตอบแทนเฉลี่ย 12% ต่อปี จะใช้เวลาเพียง 6 ปี (คำนวณจาก 72 หาร 12) ที่จะทำให้เงิน 100 บาทเป็น 200 บาท  ...จะเห็นว่าเงินร้อยเดียวกัน จบไม่เท่ากัน เพราะการฝากเงินนั้นเงินช่วยเราทำงานไม่เต็มที่เท่าที่ควร และจะพึ่งการออมภาคบังคับอย่างเดียวก็ไม่พอ เราจึงจำเป็นต้องลงทุน



การลงทุนในหุ้นมีวิธีบริหารความเสี่ยง คือ กระจายเงินลงทุนในสินทรัพย์ที่หลากหลาย เช่น เงินฝาก พันธบัตร หุ้นกู้ หุ้นจะซื้อเองเป็นรายตัวหรือซื้อผ่านกองทุนรวมก็ได้ รวมถึงทองที่มักจะให้ผลตอบแทนสวนทางกับหุ้น โดยทั้งหุ้นและทองต่างให้ผลตอบแทนที่ดีในระยะยาว ในพอร์ตลงทุนรวมของเราจึงควรมีทองไว้ 5 – 10% เพื่อช่วยลดความผันผวนและเพิ่มโอกาสได้รับผลตอบแทนสูงขึ้น

นอกจากนั้นยังลดความเสี่ยงลงได้อีกผ่านการลงทุนแบบถัวเฉลี่ย (Dollar Cost Average: DCA) เพื่อสร้างวินัยและกระจายจังหวะลงทุน สำหรับมนุษย์เงินเดือน การหยอดกระปุกบ่อย ๆ หรือ DCA เป็นเรื่องง่าย เพราะสามารถตัดจากเงินเดือนเดือนละครั้ง หรือลงทุนเมื่อโบนัสออกปีละครั้งก็ได้

หลายคนอ่านมาถึงตรงนี้อาจเริ่มสนใจลงทุนในหุ้น คำถามต่อไปคือแล้วหุ้นตัวไหนถูก ตัวไหนแพงดูได้อย่างไร เวลาแบบนี้เป็นเวลาของหุ้นเล็กหรือหุ้นใหญ่

ทุกวันนี้เวลาเราเห็นหุ้นที่รายงานอยู่ทุกวัน คือ "ราคา" แต่ที่เราไม่เห็น คือ"มูลค่ากิจการ" ที่ในสถานการณ์หนึ่งเราอาจมองว่าดี แต่เมื่อสถานการณ์เปลี่ยนไป เช่น เกิดโควิด-19 หุ้นที่เคยคิดว่าดี อย่างกลุ่มท่องเที่ยว เมื่อปิดน่านฟ้าหุ้นท่องเที่ยวก็ไม่เหมือนเดิม ไม่เพียงไม่มีกำไรอาจขาดทุนจนกินส่วนของผู้ถือหุ้น เราจึงต้องมองที่ตัวธุรกิจ
ถ้าต้องการความนิ่ง หุ้นขนาดใหญ่ที่มีทรัพยากรทางการเงิน มีความสามารถที่จะจ้างผู้บริหารมืออาชีพ ผ่านร้อนผ่านหนาว ผ่านวิกฤติมาเยอะอาจจะไม่ล้มง่าย สำหรับหุ้นเล็ก มีฐานกำไรต่ำก็มีโอกาสเติบโตเร็วกว่า แต่เมื่อมีพายุเข้ามาอาจล้มได้ง่าย 


ในหุ้นแต่ละตัวมีทั้งโอกาสและความเสี่ยง ไม่มีสูตรสำเร็จจึงต้องดูที่แนวโน้มธุรกิจ เหล่านี้คือความยากของการเลือกหุ้น เราจึงต้องดูว่าตัวเรามีความรู้ด้านบัญชี การเงิน และมีเวลาหรือไม่ ถ้าไม่มีอาจซื้อกองทุนที่มีผู้จัดการกองทุนที่เป็นมืออาชีพและมีเวลาคอยดูแล เพราะบางคนตั้งใจจะซื้อถูกขายแพงในหุ้นเพื่อหาค่ากับข้าว แต่กลายเป็นจ่ายเงินค่าโต๊ะจีน หรือบางทีอาจใช้ตัวช่วยแทนที่จะเปิดบัญชีกับบริษัทหลักทรัพย์ (บล.) ใด บล. หนึ่ง ก็อาจเปิดซัก 3 ที่ เพื่อรับฟังมุมมองว่าแต่ละที่ให้มูลค่าพื้นฐานหุ้นนั้น ๆ เท่าไหร่ แล้วนำตัดสินใจต่อด้วยตัวเอง


ทุกวันนี้เริ่มลงทุนในหุ้นทำได้ง่าย เราสามารถเปิดบัญชีออนไลน์ได้กับ บล. และส่งเอกสารเพิ่มเติม เช่น สำเนาบัตรประชาชน สำเนาหน้าสมุดบัญชีธนาคาร หน้าบัญชีย้อนหลัง 3 เดือน เป็นต้น แต่ข้อสำคัญคือก่อนลงทุนต้องศึกษาและทำความเข้าใจลักษณะตราสาร รู้ว่าหุ้นนั้นทำธุรกิจอะไร รู้ผลตอบแทนที่คาดหวัง เข้าใจความเสี่ยง และรู้จักตัวเองว่ารับความเสี่ยงได้แค่ไหน ​

__________​___________________

อ้างอิงจากเนื้อหาในรายการ "รู้เงิน รู้ลงทุน" ตอนที่ 4 หัวข้อ หุ้นเล็ก หุ้นใหญ่ หุ้นไหนเหมาะกับเรา  ถ่ายทอดสดผ่านเพจเฟซบุ๊ก Start-to-invest เมื่อวันที่ 14 ส.ค. 63 โดยคุณพิชัย เลิศสุพงศ์กิจ CFP® รองกรรมการผู้จัดการ บล.ธนชาต