ลงทุน RMF & SSF อย่างไร ให้ได้สิทธิประโยชน์ภาษีเต็ม..เต็ม

29 พฤศจิกายน 2565
อ่าน 4 นาที



โค้งสุดท้ายปี 2565 เหลือเวลาไม่มากสำหรับการวางแผนจัดการภาษีของปีนี้ หากสำรวจข้อมูลสิทธิภาษีที่มี เช่น มีกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ (PVD) หรือประกันบำนาญอยู่ แล้วยังมีช่องว่างลดหย่อนภาษีเหลือ ก็ยังมีการลงทุนเพื่อเกษียณในกองทุน RMF และการออมระยะยาวกับกองทุน SSF เป็นทางเลือกเพิ่มเติมที่ช่วยบรรเทาภาระภาษีได้

และเพื่อให้ได้รับสิทธิประโยชน์อย่างเต็มที่ อย่าลืม! เช็กเงื่อนไขการลดหย่อนภาษีของ 2 กองทุนดังกล่าว

  • ​RMF ลดหย่อนได้สูงสุดไม่เกิน 30% ของเงินได้ แต่ไม่เกิน 500,000 บาท มีเงื่อนไขถือครองไม่น้อยกว่า 5 ปี และขายคืนได้เมื่ออายุ 55 ปีบริบูรณ์ (ตามวันเกิด) โดยจะต้องซื้อต่อเนื่องทุกปี เว้นได้ไม่เกิน 1 ปี การนับต่อเนื่องจะนับเฉพาะปีที่ซื้อเท่านั้น
  • SSF ลดหย่อนได้สูงสุดไม่เกิน 30% ของเงินได้ แต่ไม่เกิน 200,000 บาท จะขายคืนได้เมื่อถือครองไม่น้อยกว่า 10 ปี ไม่มีเงื่อนไขการซื้อต่อเนื่อง
ทั้งนี้ สิทธิการลดหย่อนภาษี RMF และ SSF นั้น เมื่อรวมกับการออมเพื่อการเกษียณอื่น ๆ จะลดหย่อนได้ไม่เกิน 500,000 บาท (SSF+RMF+กอช.+PVD/กบข./กองทุนสงเคราะห์ครู+ประกันบำนาญ = ไม่เกิน 500,000 บาท)

ข้อควรระวัง ผู้ลงทุนไม่ควรลงทุนเกินสิทธิของตน เพราะอาจก่อให้เกิดการผิดเงื่อนไขในการลดหย่อนภาษี

*ที่สำคัญ* อย่าลืมแจ้งความประสงค์ใช้สิทธิลดหย่อนภาษี โดยตั้งแต่ปี 2565 เป็นต้นไป กรมสรรพากรได้กำหนดให้ผู้ลงทุนที่ซื้อ RMF และ SSF ที่จะใช้สิทธิลดหย่อนภาษี *ต้องแจ้งความประสงค์* ไปยัง บลจ. ที่ซื้อหน่วยลงทุนให้ครบทุกแห่ง ภายในวันทำการสุดท้ายของปี เพื่อให้ บลจ. นำส่งข้อมูลให้กรมสรรพากรโดยตรง แทนการที่ผู้ลงทุนยื่นเอกสารเอง โดยผู้ลงทุนแจ้งเพียงครั้งเดียวใช้ได้ตลอดไป ไม่ต้องแจ้งทุกปี หากไม่แจ้งความประสงค์อาจใช้สิทธิลดหย่อนภาษีไม่ได้



หมายเหตุ : ศึกษาข้อมูลเพิ่มเติมเกี่ยวกับหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขเพื่อการยกเว้นภาษีเงินได้ของ RMF และ SSF ได้ที่