กองทุนรวมทั่วไป กับ SRI Fund ต่างกันอย่างไร?

28 ธันวาคม 2565
อ่าน 4 นาที




กองทุนรวม หรือ “mutual fund” เป็นหลักทรัพย์ตามพระราชบัญญัติหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ พ.ศ. 2535 ที่มีบริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุน (บลจ.) นำเงินที่ได้จากการขายหน่วยลงทุนให้แก่ผู้ลงทุน ไปลงทุนในหลักทรัพย์หรือสินทรัพย์ประเภทต่าง ๆ ตามที่เปิดเผยไว้ในนโยบายการลงทุนที่ระบุไว้ในโครงการจัดการ และหนังสือชี้ชวน (fund fact sheet) โดยมีผู้จัดการกองทุนซึ่งเป็นผู้เชี่​ยวชาญทำหน้าที่บริหารจัดการลงทุนให้

ส่วน กองทุนรวมเพื่อความยั่งยืน หรือ “SRI Fund” ก็จัดเป็นกองทุนรวมประเภทหนึ่ง แต่มีความพิเศษตรงที่เป็นกองทุนรวมที่มีการลงทุนมุ่งเน้นความยั่งยืน (sustainability) ตามหลักสากล และ บลจ. ต้องเปิดเผยข้อมูลด้านการจัดการลงทุนที่เน้นความยั่งยืนดังกล่าว ให้เป็นไปตามเกณฑ์ที่สำนักงาน ก.ล.ต. กำหนด เพื่อให้ผู้ลงทุนได้รับทราบข้อมูลที่เป็นประโยชน์ต่อการตัดสินใจลงทุนด้วย
.

ความแตกต่างระหว่างกองทุนรวมทั่วไป กับ SRI Fund สรุปง่าย ๆ ดังนี้

  • วัตถุประสงค์ของกองทุน
กองทุนรวม เป็นเครื่องมือทางการเงินที่รวบรวมเงินของผู้ลงทุน ไปลงทุนในตราสารประเภทต่าง ๆ อาทิ ตราสารทุน (หุ้น) ตราสารหนี้ (หุ้นกู้ พันธบัตร) รวมถึงสินทรัพย์ทางเลือก เช่น ตราสารอนุพันธ์ ทองคำ หรือ น้ำมัน โดยมีวัตถุประสงค์ในการสร้างผลตอบแทนให้แก่ผู้ลงทุนตามระดับความเสี่ยงของสินทรัพย์แต่ละประเภท ตามนโยบายการลงทุนที่กำหนดไว้ในโครงการจัดการและหนังสือชี้ชวน

ส่วน SRI Fund นั้น มีวัตถุประสงค์ในการนำเงินไปลงทุนเพื่อสร้างผลตอบแทนอย่างยั่งยืนในระยะยาวให้แก่ผู้ถือหน่วยลงทุน โดยต้องเน้นการลงทุนในกิจการที่ดำเนินธุรกิจโดยให้ความสำคัญกับปัจจัยด้านสิ่งแวดล้อม สังคม และธรรมาภิบาล หรือ ESG (Environmental, Social, Governance) ซึ่งถือเป็นปัจจัยสำคัญจะช่วยให้กิจการนั้นเติบโตอย่างยั่งยืน

  • นโยบายการลงทุน
กองทุนรวม นั้น มีนโยบายในการลงทุนที่หลากหลาย ซึ่งผู้ลงทุนสามารถพิจารณาเลือกลงทุนได้ เช่น เป็นกองทุนรวมตราสารหนี้ที่มีนโยบายการลงทุนในตราสารหนี้ที่ออกโดยบริษัทเอกชนหรือรัฐวิสาหกิจ ไม่น้อยกว่าร้อยละ 80 ของมูลค่าทรัพย์สินสุทธิ หรือ กองทุนตราสารทุนที่มีนโยบายลงทุนในหุ้นของบริษัทขนาดใหญ่ที่จดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย โดยเฉลี่ยรอบปีบัญชีไม่น้อยกว่าร้อยละ 80 ของมูลค่าทรัพย์สินสุทธิ เป็นต้น

ในขณะที่ SRI Fund นั้น มีนโยบายการลงทุนที่หลากหลายได้เช่นเดียวกับกองทุนรวม เพียงแต่นโยบายการลงทุนนั้นต้องเน้นให้ความสำคัญกับความยั่งยืนเป็นหลัก เช่น หากเป็นกองทุนรวมตราสารหนี้ ผู้จัดการกองทุนอาจเน้นลงทุนในตราสารหนี้สีเขียว (green bond) ตราสารหนี้เพื่อสังคม (Social bond) หรือ ตราสารหนี้เพื่อส่งเสริมความยั่งยืน (sustainability bond) ที่ระดมทุนเพื่อใช้ในโครงการที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม สังคม และส่งเสริมความยั่งยืน ตามลำดับ เป็นต้น และถ้าหากเป็นกองทุนรวมตราสารทุน ผู้จัดการกองทุนก็อาจเน้นลงทุนในหุ้นยั่งยืน ตามรายชื่อของ Thailand Sustainability Investment (THSI) ซึ่งเป็นหุ้นของบริษัทจดทะเบียนที่ดำเนินธุรกิจอย่างยั่งยืนโดยคำนึงถึงสิ่งแวดล้อม มีความรับผิดชอบต่อสังคม และมีการบริหารงานตามหลัก ESG โดยวิธีการหรือกระบวนการคัดเลือกหลักทรัพย์เพื่อให้สามารถตอบโจทย์ด้านการลงทุนอย่างยั่งยืน เป็นไปตามดุลยพินิจของผู้จัดการกองทุน ซึ่ง บลจ. จะต้องเปิดเผยข้อมูลที่เกี่ยวข้องในมิติของความยั่งยืนไว้ให้ผู้ลงทุนได้ทราบอย่างละเอียดและครบถ้วน เพื่อสร้างความโปร่งใส และลดความเสี่ยงด้านการฟอกเขียว (greenwashing) ด้วยนั่นเอง

  • ตราสัญลักษณ์
“SRI Fund” จะต้องมีตราสัญลักษณ์ “SRI” ปรากฏอยู่บนหน้าแรกของหนังสือชี้ชวน (fund fact sheet) เพื่อให้ผู้ลงทุนสามารถสังเกตได้ง่าย ในขณะที่กองทุนรวมทั่วไปจะไม่มีตราสัญลักษณ์เฉพาะ เหมือนเช่น SRI Fund
.

สำหรับส่วนที่เหมือนกันของ กองทุนรวม และ SRI Fund ได้แก่

  • ​​ผู้ออกและเสนอขายกองทุน
ผู้ที่สามารถจัดตั้งและบริหารจัดการกองทุนรวม และ SRI Fund ได้แก่ บริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุน (บลจ.) ซึ่งถือเป็นผู้ประกอบธุรกิจด้านการจัดการกองทุนรวม ตามพระราชบัญญัติหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ 2535 โดย บลจ. ผู้บริหารจัดการกองทุนจะเสนอขายหน่วยลงทุนให้แก่ผู้ลงทุนเอง หรือผ่านตัวแทนขายหน่วยลงทุน (selling agent) ที่ได้รับการแต่งตั้งก็ได้ ทั้งนี้ ตัวแทนขายหน่วยลงทุนดังกล่าวนี้ จะต้องเป็นบริษัทหลักทรัพย์ที่ได้รับใบอนุญาตฯ จากสำนักงาน ก.ล.ต. ด้วยเช่นกัน

  • รูปแบบของผลตอบแทน
ผู้ที่ลงทุนในกองทุนรวม และ SRI Fund นั้นสามารถได้รับผลตอบแทนจากการลงทุนเป็นส่วนต่างกำไรจากราคาขายหน่วยลงทุนที่เพิ่มขึ้น (capital gain) และ/หรือ เงินปันผล (dividend) ในกรณีที่กองทุนรวมนั้นมีนโยบายจ่ายเงินปันผลด้วย ซึ่งผู้ลงทุนสามารถศึกษารายละเอียดได้จากหนังสือชี้ชวนกองทุนรวม (fund fact sheet)

  • ​ค่าธรรมเนียมกองทุน
ทั้งกองทุนรวม และ SRI Fund เรียกเก็บค่าธรรมเนียม 2 ส่วนเช่นเดียวกัน ได้แก่ 1) “ค่าธรรมเนียมที่เรียกเก็บจากกองทุน” ซึ่งถือเป็นค่าบริการจัดการกองทุน และ 2) “ค่าธรรมเนียมที่เก็บจากผู้ลงทุนโดยตรง” ซึ่งเกิดจากการทำธุรกรรมการซื้อ-ขาย-สับ-เปลี่ยน-โอน กองทุนของผู้ลงทุน โดยผู้ลงทุนสามารถศึกษารายละเอียดของค่าธรรมเนียมของกองทุนรวมได้จากหนังสือชี้ชวนกองทุนรวม (fund fact sheet)

  • ​ใครลงทุนได้บ้าง
ผู้ลงทุนในกองทุนรวมเพื่อความยั่งยืน หรือ “SRI Fund” นั้น สามารถเป็นได้ทั้งผู้ลงทุนทั่วไป หรือ ผู้ลงทุนสถาบันก็ได้ เช่นเดียวกันกับกองทุนรวมอื่น ๆ โดยขึ้นอยู่กับเงื่อนไขที่ บลจ. กำหนดตอนจัดตั้งกองทุนรวม และเปิดเผยให้ผู้ลงทุนทราบอย่างชัดเจนในหนังสือชี้ชวน 




                 __________________________________

อ่านเพิ่มเติม 
ตอนที่ 1  SRI Fund ทางเลือกของการลงทุนเพื่อความยั่งยืน
ตอนที่ 2  ทำไมต้อง SRI Fund  
ตอนที่ 3 SRI fund ลงทุนในหลักทรัพย์ใดได้บ้าง? 

​​ตอนที่ 4 รู้จักกลยุทธ์การลงทุนของ SRI Fund 
https://www.smarttoinvest.com/Pages/Investment%20Products/Investment%20knowledge/investment-strategy-of-SRI-Fund.aspx

​​