Ep.2 เจาะลึกตราสารหนี้แคร์โลก (Series รู้จักตราสารหนี้ "แคร์โลก โตแบบยั่งยืน")

03 มิถุนายน 2564
อ่าน 4 นาที
​​

หากพูดถึง “ตราสารหนี้แคร์โลก” ผู้ลงทุนอาจเคยได้ยิน “Green Bond” “Social Bond” “Sustainability Bond” หรือเรียกสั้น ๆ ว่า GSS Bond มาบ้างแล้ว เพราะกิจการในไทยมีการออกตราสารหนี้กลุ่มนี้ครั้งแรกเมื่อปี 2561  จึงอชวนมาเจาะลึกให้ทราบกันว่า GSS Bond คืออะไ? แล้วมีตราสารหนี้แคร์โลกประเภทอื่นที่นอกเหนือจาก GSS Bond หรือไม่?

GSS Bond คือ ตราสารหนี้ที่ผู้ออกนำเงินที่ระดมทุนได้ไปใช้ในโครงการหรือกิจกรรมภายใต้แนวคิดการเติบโตอย่างยั่งยืน ที่มุ่งพัฒนาสังคม อนุรักษ์สิ่งแวดล้อม หรือการมีธรรมาภิบาลที่ดี แบ่งออกเป็น 3 ประเภทหลัก ๆ ได้แก่

1. Green Bond เป็นตราสารหนี้ที่มุ่งเน้นระดมทุนเพื่อนำไปใช้ในโครงการเพื่อการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม เช่น โครงการเพิ่มประสิทธิภาพการใช้พลังงานทดแทน โครงการปลูกป่า โครงการพลังงานสะอาดและพลังงานทางเลือก โครงการลดโลกร้อน โครงการอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติ โครงการลด carbon footprint

2. Social Bond เป็นตราสารหนี้ที่มุ่งเน้นการระดมทุนเพื่อนำไปใช้ในโครงการพัฒนาสังคมและคุณภาพชีวิตของคนในชุมชนให้ดีขึ้น เช่น โครงการด้านสาธารณสุข โครงการน้ำดื่มสะอาด โครงการด้านสาธารณูปโภคหรือที่อยู่อาศัย โครงการสร้างความมั่นคงทางอาหาร โครงการส่งเสริมการศึกษา โครงการส่งเสริมกิจกรรมอาสาหรือบริจาคให้สังคม

3. Sustainability Bond เป็นตราสารหนี้ลูกผสมระหว่าง Green Bond และ Social Bond คือ มุ่งเน้นการระดมทุนเพื่อนำไปใช้ในการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมและพัฒนาสังคม

นอกจากนี้ ยังมีตราสารหนี้อีกประเภทหนึ่ง คือ ตราสารหนี้ส่งเสริมความยั่งยืน หรือ Sustainability- Linked Bond (หรือ SLB) เป็นตราสารหนี้ที่มีข้อตกลงและเงื่อนไขในการกำหนดอัตราดอกเบี้ยโดยอ้างอิง
กับความสำเร็จหรือผลการดำเนินงานตัวชี้วัดและเป้าหมายด้านความยั่งยืนของผู้ออก ไม่ว่าจะเพื่ออนุรักษ์สิ่งแวดล้อม และ/หรือ เพื่อพัฒนาสังคม โดยผู้ออกสามารถนำเงินที่ได้จากการระดมทุนไปใช้ในวัตถุประสงค์ทั่วไปได้ ทั้งนี้ ก.ล.ต. ได้ออกเกณฑ์รองรับการออกและเสนอขายได้ มีผลใช้บังคับตั้งแต่ 16 พ.ค. 2564 เป็นต้นไป

SLB มีข้อแตกต่างกับ “Green Bond” “Social Bond” “Sustainability Bond” (GSS Bond) ดังนี้

1. วัตถุประสงค์การใช้เงิน
     GSS Bond – เงินของผู้ลงทุนจะถูกนำไปใช้ในโครงการด้านสิ่งแวดล้อมหรือสังคมตามลักษณะของตราสารหนี้นั้นโดยตรง เช่น หากเป็น Green Bond เงินจะถูกนำใปใช้ในโครงการที่เป็นประโยชน์ต่อสิ่งแวดล้อม Social Bond จะถูกนำไปใช้ในโครงการที่เป็นประโยชน์ต่อสังคม และ Sustainability Bond ก็จะถูกนำไปใช้ในโครงการที่เป็นประโยชน์ต่อสิ่งแวดล้อมและสังคม

ดังนั้น ผู้ออกตราสารประเภทนี้ส่วนใหญ่ จะมีลักษณะธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับสิ่งแวดล้อม และ/หรือสังคมโดยตรง เช่น บริษัทผลิตไฟฟ้าจากพลังงานแสงอาทิตย์ ซึ่งเป็นพลังงานสะอาด ต้องการระดมทุนจากผู้ลงทุนไปใช้ในการขยายโรงไฟฟ้า โดยนอกจากจะลงทุนในโครงการใหม่แล้ว ผู้ออกตราสารยังนำเงินไปชำระคืนเงินทุนที่ผู้ออกได้จ่ายไปสำหรับโครงการที่เกี่ยวข้องกับการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมหรือการพัฒนาสังคมที่มีอยู่เดิม (Refinance) ได้ด้วย

     SLB – ผู้ออกตราสารต้องมีการกำหนดตัวชี้วัดและเป้าหมายด้านความยั่งยืนไว้ โดยไม่จำเป็น ต้องแบ่งแยกเงินที่ได้จากการระดมทุนออกมาเป็นการเฉพาะสำหรับการใช้ในโครงการด้านสิ่งแวดล้อมหรือสังคม ซึ่งจะช่วยให้ผู้ออกมีความยืดหยุ่นในการใช้เงินมากขึ้น นั่นแสดงว่าผู้ออกตราสารไม่จำเป็นต้องเป็นกิจการที่มีทรัพย์สินหรือโครงการเกี่ยวข้องกับการพัฒนาสิ่งแวดล้อมหรือสังคมเป็นการเฉพาะเจาะจงขนาดใหญ่ จึงเป็นตราสารที่สามารถออกโดยผู้ออกจากหลากหลายอุตสาหกรรม ผู้ลงทุนจึงมีโอกาสการลงทุนที่หลากหลายขึ้น 

ยกตัวอย่างเช่น บริษัทผลิตกระเป๋าหรือบริษัทผลิตกระดาษต้องการระดมทุนจากผู้ลงทุนเพื่อไปขยายกิจการ จากตัวอย่างจะเห็นได้ว่า บริษัทเหล่านี้ไม่ได้นำเงินระดมทุนไปใช้ในวัตถุประสงค์เพื่อสิ่งแวดล้อมและสังคมโดยตรง และลักษณะธุรกิจของทั้งสองบริษัทก็ไม่เกี่ยวข้องกับการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมและพัฒนาสังคมโดยตรง อย่างไรก็ดี บริษัททั้งสองแห่งต้องกำหนดตัวชี้วัดและเป้าหมายด้านความยั่งยืนที่ส่งผลต่อดอกเบี้ยที่ผู้ลงทุนจะได้รับจากการลงทุนใน SLB เช่น จะลดปริมาณการปล่อยก๊าซเรือนกระจกลง 10.9% ภายใน 5 ปี โดยหากทำไม่สำเร็จ บริษัทจะต้องจ่ายอัตราดอกเบี้ยตราสารให้ผู้ลงทุนเพิ่มขึ้นอีก 2%

ดังนั้น ผู้ลงทุนต้องดูว่าผู้ออกกำหนดตัวชี้วัดและเป้าหมายด้านความยั่งยืน รวมถึงเงื่อนไขที่ส่งผลต่อผลตอบแทนที่ผู้ลงทุนจะได้รับอย่างไร โดยดูรายละเอียดได้จากหนังสือชี้ชวน และรายงานประจำปี 56-1 (one report) หรือเว็บไซต์ของผู้ออก เมื่อมีการออกเสนอขายแล้ว



​2. ผลตอบแทนที่ผู้ลงทุนจะได้รับ
     GSS Bond– ผู้ลงทุนจะได้รับอัตราดอกเบี้ยคงที่ ไม่เปลี่ยนแปลงตลอดอายุตราสาร

     SLB – ผู้ลงทุนจะได้รับอัตราดอกเบี้ยคงที่ในระยะแรกที่ออก โดยผู้ออกตราสารจะมีแรงจูงใจในการทำให้สำเร็จ เพราะถ้าทำไม่สำเร็จก็จะต้องจ่ายดอกเบี้ยเพิ่มให้ผู้ลงทุน หรือถ้าทำสำเร็จ ก็จะลดการจ่ายดอกเบี้ย ขึ้นกับเงื่อนไขที่ผู้ออกกำหนดไว้ตั้งแต่แรก ดังนั้น ดอกเบี้ยที่ผู้ลงทุนจะได้รับอาจเปลี่ยนแปลงเมื่อถึงจุดที่ต้องประเมินความสำเร็จหรือผลการดำเนินงานตามตัวชี้วัดและเป้าหมายด้านความยั่งยืนของผู้ออก ที่สามารถเพิ่มขึ้นหรือลดลงตามเงื่อนไขที่ผู้ออกกำหนดได้

เงื่อนไขและลักษณะการเปลี่ยนแปลงอัตราดอกเบี้ย มีดังนี้ 1. แบบ step up 2. แบบ step down 3. แบบผสมระหว่าง step up และ step down ผู้ลงทุนจะได้รับดอกเบี้ยตามที่ระบุไว้ แต่อาจเปลี่ยนแปลงขึ้นหรือลงได้ ในกรณีต่อไปนี้

     (1) เงื่อนไข step up ผู้ลงทุนจะได้รับผลตอบแทนเพิ่มขึ้น หากผู้ออกทำตามเป้าหมายไม่สำเร็จเช่น บริษัทผลิตกระดาษออกหุ้นกู้ส่งเสริมความยั่งยืน อายุ 20 ปี จ่ายดอกเบี้ย 3% ต่อปี โดยกำหนดตัวชี้วัดและเป้าหมายด้านความยั่งยืนไว้ว่า จะลดก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ (CO2) จากกระบวนการผลิต 17.3% ภายในวันที่หุ้นกู้อายุครบ 15 ปี หากทำไม่สำเร็จ บริษัทจะปรับอัตราดอกเบี้ยหุ้นกู้เพิ่มให้ผู้ลงทุนอีก 0.75% ดังนั้น ในช่วงตั้งแต่วันที่ออกหุ้นกู้จนถึงวันที่หุ้นกู้ครบอายุ 15 ปี ผู้ลงทุนจะได้รับผลตอบแทน 3% และเมื่อถึงเวลาประเมินผลความสำเร็จหรือผลการดำเนินงานตามตัวชี้วัดและเป้าหมายในวันที่หุ้นกู้ครบอายุ 15 ปี หากบริษัทดำเนินการไม่สำเร็จ ผู้ลงทุนจะได้รับดอกเบี้ยเพิ่มขึ้น 0.75% หรือได้รับดอกเบี้ยเพิ่มเป็น 3.75% นั่นเอง และจะได้รับดอกเบี้ยในอัตราที่ปรับใหม่นี้ตั้งแต่วันที่หุ้นกู้ครบอายุ 15 ปี จนถึงวันครบกำหนดไถ่ถอนหุ้นกู้ (ปีที่ 20)

     (2)  เงื่อนไข step down ผู้ลงทุนจะได้รับผลตอบแทนลดลง หากผู้ออกทำตามเป้าหมายสำเร็จ เช่น บริษัทผลิตกระเป๋าออกหุ้นกู้ส่งเสริมความยั่งยืน อายุ 7 ปี จ่ายดอกเบี้ย 3% ต่อปี โดยกำหนดตัวชี้วัดและเป้าหมายด้านความยั่งยืนไว้ว่า จะเปลี่ยนไปใช้พลังงานทดแทนในการผลิตสินค้าทั้งหมดให้ได้ภายในวันที่หุ้นกู้ครบอายุ 5 ปี หากทำสำเร็จ บริษัทจะปรับอัตราดอกเบี้ยหุ้นกู้ลดลง 0.2% ดังนั้น ในช่วงตั้งแต่วันที่ออกหุ้นกู้จนถึงวันที่หุ้นกู้ครบอายุ 5 ปี ผู้ลงทุนจะได้รับผลตอบแทน 3% และเมื่อถึงเวลาประเมินผลความสำเร็จหรือผลการดำเนินงานในวันที่หุ้นกู้ครบอายุ 5 ปี หากบริษัททำสำเร็จ ผู้ลงทุนจะได้รับดอกเบี้ยลดลง 0.2% หรือได้รับดอกเบี้ยลดลงเป็น 2.8% นั่นเอง และจะได้รับดอกเบี้ยในอัตราที่ปรับใหม่นี้ตั้งแต่วันที่หุ้นกู้ครบอายุ 5 ปี จนถึงวันครบกำหนดไถ่ถอนหุ้นกู้ (ปีที่ 7)

     (3) เงื่อนไขแบบผสม ระหว่าง step up และ step down ผู้ออกจะกำหนดเงื่อนไขจ่ายผลตอบแทนทั้งสองแบบ เช่น ในระยะแรก ผู้ออกตั้งเงื่อนไขแบบ step up ในระยะต่อมา ผู้ออกตั้งเงื่อนไขจ่ายผลตอบแทนโดยอิงกับดัชนีตัวชี้วัดด้านความยั่งยืนแบบ step down ซึ่งเงื่อนไขนี้จะระบุชัดเจนในหนังสือชี้ชวน ก่อนที่ตราสารจะออกเสนอขาย

ผู้ที่ลงทุนใน SLB ได้แก่ ผู้ลงทุนสถาบัน (II) ผู้ลงทุนรายใหญ่ (HNW) และผู้ลงทุนรายย่อยทั่วไป ดูรายการตราสารหนี้แคร์โลกทั้งหมดได้ที่ http://www.thaibma.or.th/EN/BondInfo/ESG.aspx
​          _______________

คลิกดู Ep.1 ตอน รู้จักการลงทุนแบบแคร์โลก ได้ที่> SmartToInvest รู้จักตราสารหนี้ยั่งยืน