Ep.3 SLB มีความน่าสนใจอย่างไร?

09 มิถุนายน 2564
อ่าน 4 นาที



ตราสารหนี้ส่งเสริมความยั่งยืน หรือ SLB มีความน่าสนใจแตกต่างจากตราสารหนี้ทั่วไป ดังนี้ 

1. ผลตอบแทนของ SLB อาจเปลี่ยนแปลงได้ขึ้นอยู่กับการกำหนดตัวชี้วัดและเป้าหมายด้านความยั่งยืนและเงื่อนไขในการเปลี่ยนอัตราดอกเบี้ยตราสารของผู้ออก ตัวอย่างเช่น ในกรณี step up หากผู้ออกทำไม่สำเร็จอาจต้องจ่ายผลตอบแทนให้ผู้ลงทุนเพิ่มขึ้น ดังนั้น ผู้ออกตราสารประเภทนี้จึงมีแรงผลักดันเพื่อไปสู่ผลลัพธ์ (outcome) ด้านความยั่งยืนที่ตั้งไว้ได้มากกว่าการออกตราสารประเภทอื่นๆ (คลิกอ่านเงื่อนไขในการเปลี่ยนแปลงอัตราดอกเบี้ยแบบ step up และ step down ได้ ที่นี่ )   

ผู้ลงทุนจึงเป็นหนึ่งในกลไกที่ช่วยขับเคลื่อนให้กิจการมุ่งไปสู่ผลลัพธ์ด้านความยั่งยืนได้อย่างเป็นรูปธรรม สมกับเจตนารมณ์ที่ต้องการจะลงทุนแบบแคร์โลก

2. ผู้ลงทุนมีธุรกิจให้เลือกลงทุนหลากหลาย เนื่องจากผู้ออกตราสาร SLB ไม่จำเป็นต้องเป็นกิจการที่มีทรัพย์สินหรือโครงการเกี่ยวข้องกับการพัฒนาสิ่งแวดล้อมหรือสังคมเป็นการเฉพาะเจาะจงขนาดใหญ่ จึงเป็นตราสารที่สามารถออกโดยผู้ออกที่มาจากหลากหลายอุตสาหกรรม และส่งผลให้ผู้ลงทุนมีโอกาสลงทุนในธุรกิจที่หลากหลายขึ้น นอกจากนี้ ความน่าสนใจของตราสารหนี้ SLB ยังเหมือนกับหุ้นกู้รักษ์โลกทั่วไป คือ

3. นอกจากผู้ลงทุนจะได้ผลตอบแทนตามที่กำหนดแล้ว ยังได้ตอบแทนกลับคืนสู่โลกและสังคมอีกด้วย เพราะเป็นการสนับสนุนกิจการที่คำนึงเรื่องสิ่งแวดล้อม และสังคม

4. ลงทุนในกิจการที่โตแบบยั่งยืน การที่ผู้ออก SLB ต้องคำนึงถึงเป้าหมายด้านความยั่งยืน ทำให้ผู้ลงทุนมั่นใจได้ระดับหนึ่งว่า เงินที่ลงทุนไปนั้น เป็นการลงทุนในกิจการที่มีความยั่งยืน เพราะการดำเนินงานด้าน ESG มักจะเชื่อมโยงกับผลการดำเนินงานของธุรกิจ ทั้งในมิติของความเสี่ยง ศักยภาพในการแข่งขัน และการได้รับการยอมรับจากผู้มีส่วนได้เสีย ซึ่งเกี่ยวข้องโดยตรงกับความอยู่รอดและความสามารถในการเติบโตอย่างยั่งยืนของธุรกิจในระยะยาว

อย่างไรก็ดี ผู้ลงทุนก็ควรวิเคราะห์ปัจจัยด้าน ESG ควบคู่ไปกับปัจจัยที่สำคัญด้านอื่น ๆ ด้วย เช่น แนวโน้ม
ของธุรกิจ ปัจจัยความเสี่ยงอื่น ๆ ไม่ว่าจะเป็นความเสี่ยงในการประกอบธุรกิจ ความเสี่ยงทางการเงิน เป็นต้น​




​​3 สิ่งที่ผู้ลงทุนควรให้ความสำคัญ

1. ควรพิจารณาว่า ผลตอบแทนหรือดอกเบี้ยที่ได้รับอิงกับตัวชี้วัดและเป้าหมายด้านความยั่งยืนใดบ้าง มีรายละเอียดเป็นอย่างไร สมเหตุสมผลหรือไม่ รวมถึงพิจารณาแนวโน้มของความสำเร็จประกอบด้วย โดยผู้ลงทุนมีผู้ช่วยตรวจสอบประเด็นเหล่านี้ผ่านกลไกของการมีผู้ประเมินภายนอกที่เป็นอิสระ หรือ “external review provider” ซึ่งมีบทบาทในการให้ความเห็นหรือรับรอความเหมาะสมและความสอดคล้องกับมาตรฐานสากลของตัวชี้วัดและเป้าหมายด้านความยั่งยืนที่ผู้ออกตราสารกำหนด ตลอดจนผลความสำเร็จตามตัวชี้วัดหรือเป้าหมายดังกล่าว

โดยปกติ external review provider จะให้ความเห็นและพิจารณาความเหมาะสมของตัวชี้วัดและเป้าหมายด้านความยั่งยืนของผู้ออกตราสาร SLB ก่อนเริ่มเสนอขาย และจะประเมินอีกครั้งอย่างน้อยเมื่อครบรอบประเมิน (trigger point) ซึ่งขึ้นอยู่กับเงื่อนไขตัวชี้วัดและเป้าหมายที่ผู้ออกกำหนด เช่น ผู้ออกมีเป้าหมายลดก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ภายใน 2 ปี external review provider ก็จะให้ความเห็นเกี่ยวกับเป้าหมายที่ผู้ออกกำหนดก่อนเริ่มเสนอขาย และรับรองผลความสำเร็จตามตัวชี้วัดหรือเป้าหมายดังกล่าวอีกครั้งเมื่อกำหนดครบ 2 ปี

ผู้ลงทุนสามารถติดตามรายงานความเห็นของ external review provider ก่อนเสนอขายได้จากหนังสือชี้ชวน หรือดูที่  https://market.sec.or.th/public/idisc/th/Product/Filing​ หรือในเว็บไซต์ของผู้ออก หลังเสนอขาย จะมีการรายงานผลความคืบหน้าทุกปี และรายงานจาก external review provider อย่างน้อยในรอบประเมิน (trigger point) ซึ่งผู้ลงทุนสามารถติดตามได้จากเว็บไซต์ของผู้ออก

ทั้งนี้ ผู้ลงทุนควรศึกษาความเห็นของ external review provider ว่า ตัวชี้วัดและเป้าหมายด้านความยั่งยืนของผู้ออกเป็นไปตามมาตรฐานสากลที่เกี่ยวข้องและสมเหตุสมผลหรือไม่ และรอบประเมินคือเมื่อไหร่ เพื่อติดตามความคืบหน้าและผลการดำเนินงานตามตัวชี้วัดและเป้าหมายด้านความยั่งยืนต่อไป

2. ดูเงื่อนไขและลักษณะการเปลี่ยนแปลงอัตราดอกเบี้ยเป็นแบบ step up, step down หรือแบบผสม การลงทุนใน SLB ผู้ลงทุนต้องพึงระวังว่า กรณีเงื่อนไขแบบ step up ไม่ได้การันตีว่าผู้ลงทุนจะได้ผลตอบแทนเพิ่มเสมอไป เพราะจะได้ผลตอบแทนเพิ่มเมื่อผู้ออกทำตามเป้าหมายไม่สำเร็จเท่านั้น และในกรณีเงื่อนไขแบบ step down ผู้ลงทุนมีโอกาสที่จะได้รับดอกเบี้ยลดลง หากผู้ออกทำตามเป้าหมายสำเร็จ

3. ควรพิจารณาว่า ความเสี่ยงที่สำคัญในการลงทุนมีอะไรบ้าง เช่น SLB มีอันดับความน่าเชื่อหรือเครดิตเรตติ้งเป็นอย่างไร มีสภาพคล่องหรือไม่ คล้ายกับปัจจัยในการพิจารณาลงทุนในตราสารหนี้ทั่วไป

ผู้ลงทุนสามารถดูข้อมูลเพิ่มเติมก่อนตัดสินใจลงทุนได้จากหนังสือชี้ชวน และตรวจสอบรายละเอียดเรื่องความยั่งยืนแบบเจาะลึกได้จากรายงานประจำปี 56-1 หรือ one report ในส่วนที่ 1 การประกอบธุรกิจและผลการดำเนินงานหัวข้อการขับเคลื่อนธุรกิจเพื่อความยั่งยืน (สืบค้น one report ได้ที่นี่ )

อย่างไรก็ตาม หลังจากหุ้นกู้ออกจำหน่ายหรือเมื่อผู้ลงทุนลงทุนไปแล้วก็ควรติดตามข้อมูลอย่างสม่ำเสมอ เพราะอาจมีปัจจัยที่ส่งผลต่อผลประกอบการของบริษัท ความคืบหน้าการบรรลุเป้าหมายด้านความยั่งยืนของผู้ออก และการเปลี่ยนแปลงเครดิตเรตติ้งได้ สำหรับผลประกอบการและความคืบหน้าด้านความยั่งยืนของผู้ออก ผู้ลงทุนสามารถดูได้จากเว็บไซต์หรือช่องทางต่าง ๆ ของผู้ออกตราสาร ส่วนเรื่องเครดิตเรตติ้งสามารถหาข้อมูลได้จากเว็บไซต์สถาบันจัดอันดับความน่าเชื่อถือ หรือสมาคมตลาดตราสารหนี้ไทย (ThaiBMA)

สำหรับเกณฑ์รองรับการออกและเสนอขาย SLB เริ่มมีผลใช้บังคับแล้วตั้งแต่วันที่ 16 พฤษภาคม 2564 เป็นต้นไป ผู้ที่สนใจและผู้ลงทุนสามารถติดตามข้อมูลตราสารหนี้ยั่งยืนที่ออกเสนอขายได้ที่ http://www.thaibma.or.th/EN/BondInfo/ESG.aspx