ก่อนตัดสินใจซื้อหุ้น IPO ต้องดูอะไรบ้าง ตอนที่ 1

22 กันยายน 2564
อ่าน 4 นาที



ช่วงนี้กระแสหุ้น IPO มาแรง หลายคนเริ่มสนใจอยากเริ่มลงทุนในหุ้น แต่ก็ไม่รู้จะเริ่มอย่างไร หากคุณเป็นคนหนึ่งที่กำลังสนใจอยากจะซื้อหุ้น IPO ก่อนอื่นคุณต้องเข้าใจ “ธุรกิจ” ของหุ้นตัวนั้น ๆ เพราะการลงทุนที่ดี คือ “การลงทุนในสิ่งที่เข้าใจ” แล้ว ก่อนซื้อหุ้น IPO ต้องดูอะไรบ้างล่ะ ?

ในปี 2564 มีบริษัทที่ออกหุ้นระดมทุนจากประชาชนเป็นครั้งแรก (IPO) ทั้งหมด 15 บริษัท โดยเข้าซื้อขายใน SET 6 บริษัท และ mai 9 บริษัท (ข้อมูล ณ วันที่ 18 มิ.ย. 64) สำหรับผู้ที่ต้องการรู้ว่า มีบริษัทใดบ้างที่กำลังจะออกหุ้น IPO ดูได้ที่ เว็บไซต์ของ ก.ล.ต. ในหัวข้อ ทางลัดการใช้งาน >> หนังสือชี้ชวนตราสารออกใหม่. https://market.sec.or.th/public/idisc/th/Product/NewProduct

เมื่อสนใจบริษัทใดสามารถเริ่มจากการอ่านบทสรุปผู้บริหาร เพราะจะเห็นภาพรวมของบริษัท ก่อนที่จะเข้าไปศึกษาหนังสือชี้ชวนที่ให้ข้อมูลสำคัญ 3 ด้าน คือ การประกอบธุรกิจของบริษัท การจัดการและการกำกับดูแลกิจการ และฐานะการเงินและผลการดำเนินงาน โดยศึกษาในเรื่องต่อไปนี้

1. ลักษณะและประเภทธุรกิจ ควรดูก่อนว่าบริษัทที่เราสนใจนั้นทำธุรกิจอะไร อยู่ในหมวดอุตสาหกรรมอะไร เช่น หมวดพลังงาน ขนส่ง เป็นต้น

2. นโยบายจ่ายปันผล บริษัทจะระบุนโยบายการจ่ายปันผล รวมถึงเงื่อนไขการจ่ายเงินปันผล ซึ่งแต่ละบริษัทจะมีนโยบายที่แตกต่างกัน ผู้ลงทุนควรดูว่า บริษัทมีนโยบายจ่ายเงินปันผล ในอัตราส่วนเท่าไหร่ของกำไรสุทธิ ทั้งนี้ อัตราเงินปันผลอาจเปลี่ยนแปลงได้ โดยบริษัทอาจกำหนดเป็นเงื่อนไขเพิ่มเติม เช่น หากปีใดบริษัทขาดทุน ผู้ลงทุนจะไม่ได้รับเงินปันผล เป็นต้น

3. โครงสร้างรายได้ และสัดส่วนรายได้ ควรดูว่าสัดส่วนรายได้หลักของธุรกิจคืออะไร มาจากสินค้าหรือบริการอะไร ดูว่าสอดคล้องกับลักษณะธุรกิจหรือไม่ รายได้หลักพึ่งพิงปัจจัยใดเป็นพิเศษหรือไม่

4. ปัจจัยความเสี่ยง ข้อนี้เป็นข้อที่สำคัญ เพราะความเสี่ยงเหล่านี้อาจส่งผลต่อการดำเนินงานของบริษัทในอนาคตได้ ความเสี่ยงที่สำคัญ ได้แก่ ความเสี่ยงในการประกอบธุรกิจ เช่น ความเสี่ยงจากการที่มีลูกค้าน้อย ความเสี่ยงจากความผันผวนของราคาวัตถุดิบที่เป็นต้นทุนหลัก เป็นต้น 

นอกจากนี้ ควรเข้าไปดูรายละเอียดแบบเจาะลึกในหัวข้อ “ข้อมูลปัจจัยความเสี่ยง” ด้วย เพราะจะบอกรายละเอียดความเสี่ยงอย่างละเอียดและวิธีป้องกันหรือลดความเสี่ยงของธุรกิจ ยกตัวอย่าง หากบริษัทระบุว่ามีความเสี่ยงจากการที่มีลูกค้าน้อย บริษัทจะอธิบายเพิ่มเติม เช่น ระดับการพึ่งพิง ผลกระทบที่อาจเกิดขึ้น บางบริษัทที่มีการพึ่งพิงลูกค้ารายใหญ่ ก็อาจจะบอกวิธีป้องกันความเสี่ยง อาทิ วิธีรักษาความสัมพันธ์อันดีกับลูกค้ารายใหญ่ หรือในกรณีธุรกิจขนส่งที่มีความเสี่ยงจากความผันผวนของราคาน้ำมัน ซึ่งเป็นต้นทุนหลักของธุรกิจ จะมีแนวทางการลดความเสี่ยง เช่น การลดการกำหนดอัตราสิ้นเปลืองของน้ำมันของแต่ละรุ่น เป็นต้น นอกจากนี้ ควรดูความเสี่ยงทางการเงิน หรือความเสี่ยงอื่น ๆ ของบริษัท (หากมี) ด้วย

5. โครงสร้างการจัดการ และการกำกับดูแลกิจการ ผู้ลงทุนควรดูว่าใครเป็นผู้ถือหุ้นรายใหญ่ คณะกรรมการบริษัท คณะกรรมการตรวจสอบ และผู้บริหาร รวมถึงโครงสร้างการจัดการขององค์กร เพื่อจะได้รู้ว่าผู้ที่กำหนดทิศทางบริษัทเป็นใคร มีความชำนาญ หรือประสบการณ์ด้านใด และมีโครงสร้างการบริหารงานอย่างไร มีการสอบทานระหว่างหน่วยงานเพื่อให้เกิดความโปร่งใสหรือไม่ หรือมีการทำรายการกับบุคคลที่เกี่ยวข้องมากน้อยเพียงใด มีมาตรการป้องกันความขัดแย้งทางผลประโยชน์อย่างไร นอกจากนี้ ยังมีข้อมูลด้านความรับผิดชอบต่อสังคมในด้านต่าง ๆ เช่น การต่อต้านคอร์รัปชันการดูแลผู้ถือหุ้น พนักงาน และผู้ที่เกี่ยวข้อง สิ่งแวดล้อม สังคม

6. ฐานะการเงินของธุรกิจ และอัตราส่วนการเงินที่สำคัญ ควรดูฐานะทางการเงิน เพื่อดูรายการสำคัญ เช่น สินทรัพย์หลักของบริษัท ภาระหนี้สิน และผลการดำเนินงาน ซึ่งมักจะดูรายได้ ค่าใช้จ่าย และกำไร อาจสังเกตว่ามีรายการพิเศษที่เกิดขึ้นในปีนี้หรือไม่ มาจากสาเหตุใด นอกจากนี้ ควรดูอัตราส่วนทางการเงินที่สำคัญ เช่น อัตราส่วนหนี้สินต่อทุน (D/E ratio ) ยิ่งมีค่ามาก แสดงว่ามีความเสี่ยงในการก่อหนี้มาก ซึ่งอาจทำให้ธุรกิจนั้นมีภาระในการจ่ายดอกเบี้ยจ่ายสูง ส่งผลต่อความเสี่ยงเรื่องสภาพคล่องได้ อัตราส่วนกำไรสุทธิต่อผู้ถือหุ้น (ROE) ยิ่งมีค่ามากจะสะท้อนความมีประสิทธิภาพในการทำกำไรของบริษัท เป็นต้น

นอกจากนี้ ยังมีการวิเคราะห์และคำอธิบายของฝ่ายจัดการในหัวข้อ “รายงานการวิเคราะห์และคำอธิบายของฝ่ายจัดการ” จะวิเคราะห์ถึงสาเหตุการขึ้นลงของตัวเลขในงบการเงินที่สำคัญ ทำให้อ่านงบการเงินเข้าใจมากขึ้น และวิเคราะห์ต่อได้ว่า เป็นเหตุการณ์ที่เกิดจากการทำธุรกิจปกติ หรือผลกระทบจากเหตุการณ์พิเศษ เช่น สาเหตุที่ลูกหนี้การค้าเพิ่มหรือลดลง โดยต้องดูต่อว่ากระทบกับอัตราการหมุนเวียนของลูกหนี้การค้าอย่างไร เพราะจะสะท้อนถึงสภาพคล่องของกิจการ ส่วนหนี้สิน หากมีเงินกู้ยืมจำนวนมากเกิดขึ้นในปีนี้ ก็จะทราบว่าเป็นการกู้เพื่อใช้ในโครงการไหน ซึ่งสามารถดูต่อว่า จะถึงกำหนดชำระเมื่อไหร่ เพราะกิจการจะมีภาระจ่ายดอกเบี้ย และชำระเงินคืนในอนาคตซึ่งอาจส่งผลต่อสภาพคล่องของกิจการในอนาคตได้

ในคำอธิบายของฝ่ายจัดการ จะวิเคราะห์งบกำไรขาดทุนว่า สัดส่วนของรายได้และต้นทุนหลักว่ามาจากไหน อธิบายสาเหตุที่รายได้/ต้นทุน เพิ่มขึ้นหรือลดลงของแต่ละสินค้า/บริการคืออะไร เมื่อเรารู้ว่ารายได้และต้นทุนหลักคืออะไร จะทำให้เราพอเห็นภาพว่าความเสี่ยงที่อาจจะกระทบกับรายได้หรือต้นทุนหลักของกิจการมีอะไรบ้าง ข้อมูลในหัวข้อนี้ยังมีความพิเศษตรงที่ บางครั้งจะบอกปัจจัยหลักที่อาจมีผลต่อการดำเนินงานหรือฐานะทางการเงินในอนาคตของธุรกิจด้วย




สุดท้ายและสำคัญมาก คือ เมื่อเราเข้าใจลักษณะธุรกิจแล้ว ต้องมาดูต่อว่าธุรกิจที่เราจะเลือกลงทุนนี้ มีความยั่งยืนหรือไม่ เพราะหากผลประกอบการจะดีแค่ไหน หากไม่ยั่งยืนอาจส่งผลลบต่อผลประกอบการในอนาคตของบริษัทได้ ซึ่งอาจส่งผลต่อราคาหุ้นและอาจทำให้เราไม่บรรลุเป้าหมายการลงทุนได้
.
ดังนั้น ผู้ลงทุนควรศึกษาข้อมูลบริษัทที่กำลังเสนอขายหุ้น IPO ให้ดีก่อนตัดสินใจลงทุน โดยต้องรู้ลึก รู้จริงก่อนลงทุนทุกครั้ง เมื่อเราเข้าใจธุรกิจแล้ว ก็ถึงเวลาไปดูรายละเอียดการจองซื้อหุ้น IPO ซึ่งสามารถติดตามได้ที่ลิงก์นี้ >> ก่อนตัดสินใจซื้อหุ้น IPO ต้องดูอะไรบ้าง ตอนที่ 2​