ก่อนตัดสินใจซื้อหุ้น IPO ต้องดูอะไรบ้าง ตอนที่ 2

23 กันยายน 2564
อ่าน 4 นาที



จากตอนที่แล้ว ได้แนะนำข้อควรรู้ ก่อนตัดสินใจซื้อหุ้น IPO ต้องดูอะไรบ้าง ซึ่งก่อนอื่นต้องรู้จักบริษัทที่กำลังจะออกหุ้นนั้น และเมื่อเรารู้จักบริษัทแล้ว 

ก็ถึงเวลาทำความเข้าใจ “วิธีการจองซื้อหุ้น IPO” ว่าต้องทำอย่างไรบ้าง

1. วัตถุประสงค์การระดมทุนของผู้ออกเสนอขายหุ้น IPO

ผู้ซื้อหุ้น IPO ควรรู้วัตถุประสงค์ของผู้ออกเสนอขายหุ้น IPO ว่าจะนำเงินที่ระดมทุนได้ไปใช้ทำอะไร เช่น เพื่อสำหรับจ่ายคืนหนี้สินเงินกู้ยืมจากสถาบันการเงิน หรือเพื่อลงทุนในโครงการใหม่ โดยสามารถดูรายละเอียดในหนังสือชี้ชวน ในหัวข้อ “วัตถุประสงค์การใช้เงิน” โดยส่วนนี้จะบอกถึงรายละเอียดของวัตถุประสงค์การระดมทุน เช่น บริษัท A ต้องการระดมทุนเพื่อปรับปรุงสาขาและขยายสาขาทั้งหมด 500 สาขา ใช้เงินลงทุนจำนวน 300 ล้านบาท ภายในระยะเวลา 3 ปี เป็นต้น หากอยากดูรายละเอียดเพิ่มเติมเกี่ยวกับโครงการในอนาคต เข้าไปดูได้ที่หัวข้อ “โครงการในอนาคต” ซึ่งทำให้เราสามารถติดตามผลการใช้เงินของบริษัทในอนาคตได้อีกด้วย ว่าบริษัทใช้เงินเป็นไปตามวัตถุประสงค์ที่ได้กำหนดไว้หรือไม่ โดยทุก 6 เดือนบริษัทจะรายงานผลการใช้เงินเพิ่มทุนให้กับตลาดหลักทรัพย์

2. สัดส่วนจำนวนหุ้นที่ออกเสนอขายให้ประชาชนทั่วไป

จำนวนหุ้น IPO ที่ออกเสนอขายนั้นควรตรวจดูว่าเสนอขายให้ใครบ้าง มีส่วนที่ขายให้ผู้ลงทุนรายย่อยหรือไม่และสัดส่วนเท่าไหร่ ซึ่งการเสนอขายหุ้น IPO ส่วนใหญ่ ผู้จัดจำหน่ายหลักทรัพย์* มักจัดสรรให้แก่ผู้ลงทุนทั้งที่เป็นผู้ลงทุนสถาบัน กรรมการ ผู้บริหารและบุคคลตามดุลยพินิจของผู้จัดจำหน่ายหลักทรัพย์ ผู้มีอุปการะคุณของบริษัทซึ่งอาจเป็นบุคคลธรรมดาหรือนิติบุคคลก็ได้ และผู้ลงทุนรายย่อย

การจัดสรรหุ้น IPO นี้จะขึ้นอยู่กับเงื่อนไขของบริษัทหรือข้อตกลงระหว่างบริษัทและผู้จัดจำหน่ายหลักทรัพย์ของบริษัทนั้น ๆ โดยผู้จัดจำหน่ายหลักทรัพย์จะมีหน้าที่ในการรับจองหุ้น IPO และจัดสรรให้กับผู้ลงทุนตามเงื่อนไขที่ระบุไว้ในหนังสือชี้ชวน

ในช่วงที่ผ่านมา เพื่อน ๆ อาจได้ยินเรื่องการจัดสรรหุ้น IPO ให้กับผู้ลงทุนรายย่อยแบบ Small Lot First ซึ่งจะช่วยให้ผู้ลงทุนรายย่อยมีโอกาสได้จองหุ้น IPO โดยเป็นการจัดสรรหุ้น IPO ให้กับผู้จองซื้อหุ้นด้วยจำนวนขั้นต่ำเท่า ๆ กันก่อน ต่อจากนั้นหากหุ้น IPO ยังมีเหลือ ก็จะจัดสรรส่วนที่เหลือให้กับคนที่จองมากกว่าจำนวนขั้นต่ำ ตามจำนวนที่บริษัทกำหนด (เช่น เงื่อนไขให้เพิ่มครั้งละ 100 หุ้น ผู้ลงทุนที่จองเกินจำนวนขั้นต่ำ ก็จะได้เพิ่มทีละ 100 หุ้น) วนไปเรื่อย ๆ พอถึงรอบสุดท้าย หากจำนวนหุ้น IPO เหลือไม่พอ ผู้จัดจำหน่ายจะจัดสรรหุ้นแบบสุ่มด้วยระบบคอมพิวเตอร์ให้กับผู้ลงทุนต่อไป แต่หากหุ้น IPO จัดสรรไม่เพียงพอตั้งแต่รอบแรก ผู้จัดจำหน่ายก็จะจัดสรรแบบสุ่มด้วยระบบคอมพิวเตอร์ตั้งแต่แรก ทำให้บางคนได้หุ้น IPO บางคนไม่ได้หุ้น IPO นั่นเอง อย่างไรก็ดี การจัดสรรหุ้นแบบ Small Lot First จะดำเนินการ ตามแนวทางที่ระบุไว้ในหนังสือชี้ชวน

3. ราคาที่เสนอขายต่อประชาชนทั่วไปและจำนวนจองซื้อขั้นต่ำ

เมื่อเรารู้จำนวนหุ้น IPO ที่จะขายให้ประชาชนทั่วไปแล้ว ก็มาดูกันว่าราคาที่เสนอขายต่อหุ้นและจำนวนจองซื้อขั้นต่ำเป็นเท่าไร ใช้วิธีการกำหนดราคาอย่างไร โดยวิธีกำหนดราคาหุ้นทำได้หลายวิธี เช่น Discounted Cash Flow (DCF) หรือวิธีคิดลดด้วยกระแสเงินสด วิธี Price/Earning (P/E) หรือวิธีเทียบอัตราส่วนราคาหุ้นต่อกำไรสุทธิ แต่วิธีที่นิยมคือ การกำหนดราคาจาก P/E โดยจะพิจารณาเทียบกับ P/E อุตสาหกรรม ซึ่งดูรายละเอียดการกำหนดราคาได้ในหัวข้อ “ที่มาของการกำหนดราคาหลักทรัพย์ที่เสนอขาย” (P/E เป็นเพียงปัจจัยหนึ่งเท่านั้นในการตัดสินใจลงทุน เพื่อน ๆ ควรดูปัจจัยอื่น ๆ ประกอบด้วย เช่น แนวโน้มการเติบโตของธุรกิจ)

4. จองหุ้น IPO ได้ที่ไหนและช่องทางใดบ้าง

ควรดูรายชื่อผู้จัดจำหน่ายหลักทรัพย์ ซึ่งปกติมักเป็นบริษัทหลักทรัพย์ หรือบางครั้งอาจเปิดให้เราสามารถจองหุ้น IPO กับธนาคารได้ จากนั้นเลือกช่องทางการจองหุ้น โดยทั่วไปจะมี 3 วิธี ได้แก่ 1. กรอกรายละเอียดในเอกสารใบจองซื้อ (hard copy) และส่งให้แก่ผู้จัดจำหน่ายหลักทรัพย์ 2. กรอกข้อมูลผ่านระบบออนไลน์ และ 3. การจองซื้อผ่านทางโทรศัพท์บันทึกเทป ทั้งนี้ ขึ้นอยู่กับเงื่อนไขของผู้จัดจำหน่ายหลักทรัพย์นั้น ๆ

5. กำหนดวันจองซื้อและวิธีการชำระค่าซื้อหุ้น IPO

หากเลือกหุ้น IPO ได้แล้ว เพื่อน ๆ อย่าลืมดูวันจองซื้อด้วย เพื่อลงตารางในปฏิทินไม่ให้พลาดโอกาส
ในการจองซื้อ รวมถึงวิธีการชำระค่าซื้อและเตรียมเงินในบัญชีให้เพียงพอกับค่าหุ้นที่จองไว้ต่อไปได้เลย



​เมื่อมีข้อมูลพร้อมแล้ว ก็ถึงขั้นตอนสำคัญต่อไปคือ “ลงมือจองซื้อหุ้น IPO ในวันที่กำหนด” โดยดูข้อมูลหุ้น IPO ที่กำลังจะออกเสนอขาย ได้ที่ : https://market.sec.or.th/public/idisc/th/Product/NewProduct​

เมื่อจองซื้อหุ้นแล้ว จะเลือกรับหุ้น IPO แบบมีใบหุ้น หรือไม่มีใบหุ้น แบบไหนดี ดูได้จากลิงก์นี้เลย >> 
ทำอย่างไร? เมื่อได้รับจัดสรรหุ้น IPO

โดยข้อมูลข้อที่ 2-5 สามารถดูรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่หัวข้อ “การจอง การจำหน่าย และการจัดสรร”
ทั้งนี้ ควรพิจารณาให้รอบคอบก่อนตัดสินใจลงทุนทุกครั้ง ศึกษาข้อมูลจากหนังสือชี้ชวน และที่สำคัญควรรู้จักสิ่งที่ตนเองตัดสินใจลงทุนเสมอ
          ______________________________

*ผู้จัดจำหน่ายหลักทรัพย์ หรือ Underwriter คือ บริษัทหลักทรัพย์ที่ทำหน้าที่รับจองและจัดสรรหุ้นให้ประชาชนที่มาจองซื้อหุ้น IPO

ย้อนดู EP1. เข้าใจบริษัทก่อนซื้อหุ้น IPO >  ก่อนตัดสินใจซื้อหุ้น IPO ต้องดูอะไรบ้าง ตอนที่ 1

​​​