ความต่าง Credit Rating

03 ตุลาคม 2562
อ่าน 3 นาที

​​

ความต่าง Credit Rating ระหว่าง Investment Grade กับ Non-Investment Grade
ระดับความน่าลงทุน ซึ่งแบ่งเป็น Investment Grade และ Non-Investment Grade

Investment Grade (อินเวสต์เมนต์ เกรด) หมายถึง “กลุ่มระดับลงทุน" เรตติ้งตั้งแต่ AAA จนถึง BBB- เป็นหุ้นกู้ที่ออกโดยบริษัทที่มั่นคง ผลประกอบการดี อยู่ในกลุ่มที่น่าลงทุน ผลตอบแทนไม่สูงมาก

Non-Investment Grade (นัน-อินเวสต์เมนต์ เกรด) หมายถึง “กลุ่มต่ำกว่าระดับลงทุน" เรตติ้ง ตั้งแต่ BB+ ลงมา จนถึง D เป็นหุ้นกู้คุณภาพปานกลางถึงคุณภาพต่ำ จึงให้ผลตอบแทนสูงกว่า
สำหรับผู้ลงทุนรายบุคคลจะมีสิทธิลงทุนในหุ้นกู้ที่มีเรตติ้งเท่านั้น ไม่เปิดให้ลงในหุ้นกู้ที่ไม่มีเรตติ้ง หรืออันเรท (Unrated) เพราะความเสี่ยงสูงปรี๊ดปรอทแตก มีโอกาสสูญเงินต้นมาก
ทีนี้ ลองมาดูตัวอย่างหุ้นกู้ของ 2 บริษัทนี้กัน

  • หุ้นกู้บริษัท ฃ. อายุ 3 ปี มีหลักประกัน จ่ายดอกเบี้ย 4% ต่อปี จ่ายดอกเบี้ยทุก 3 เดือน มีเครดิตเรตติ้ง BBB+​
  • หุ้นกู้บริษัท ฅ.  อายุ 3 ปี ผู้ออกมีสิทธิไถ่ถอนก่อนกำหนด จ่ายดอกเบี้ย 6.5% ต่อปี จ่ายดอกเบี้ยทุก 3 เดือน มีเครดิตเรตติ้ง BB 

จุดแรก ดูดอกเบี้ย : หุ้นกู้ ฃ. ดอกเบี้ย 4% ขณะที่ หุ้นกู้ ฅ. ให้ดอกเบี้ยสูงถึง 6.5% อายุเท่ากัน 3 ปี ดูแล้ว หุ้นกู้ ฅ. น่าซื้อกว่าเห็นๆ แต่! ดอกเบี้ยสูงต้องแลกกับความเสี่ยงสูงนะ (HighRiskHighReturn)

จุดที่สอง เครดิตเรตติ้ง : ระหว่าง “BBB+" กับ “BB" แน่นอนตัวที่ดีกว่า คือ หุ้นกู้ ฃ. เรตติ้ง BBB+ ซึ่งเป็นระดับ Investment Grade


จุดที่สาม ดูเงื่อนไขอื่น : เช่น หลักประกัน การไถ่ถอนก่อนกำหนด ซึ่งมีผลต่อเรตติ้งและดอกเบี้ย

มาถึงบรรทัดนี้ ต้องมาวัดใจกันแล้วว่า หัวใจเราเสริมใยเหล็กแค่ไหน

ถ้าชอบเล่นชิงช้าสวรรค์ ไม่หวือหวา ยอมได้ดอกเบี้ยน้อย เพื่อความเสี่ยงน้อยลง ก็เลือกหุ้นกู้ ฃ.

ถ้าชอบเล่นรถไฟเหาะตีลังกา ได้ลุ้น 2 เด้ง เด้งแรก จะชำระหนี้ให้เราได้ไหม เด้งที่สอง ดอกเบี้ย 6.5% จะได้นานแค่ไหน เพราะผู้ออกอาจคืนเงินต้นให้เร็วกว่ากำหนด ถ้ารับได้ เชิญที่ หุ้นกู้ ฅ.


และนอกจากการให้เรตติ้งผู้ออกหุ้นกู้แล้ว ในบางกรณียังมีการให้เรตติ้งของหุ้นกู้แต่ละตัวอีกด้วย โดยสามารถดูได้ว่าเป็นเรตติ้งผู้ออกหรือหุ้นกู้จากหนังสือชี้ชวน​

อ่านเพิ่มเติม

เรื่องที่เกี่ยวข้อง