หุ้นกู้ที่มี rate กับหุ้นกู้ unrated

03 ตุลาคม 2562
อ่าน 3 นาที

​​​​​

หุ้นกู้ที่มี rate กับหุ้นกู้ unrated

หุ้นกู้ที่ได้รับเครดิตเรตติ้ง ไม่ว่าจะเป็นเรตติ้งระดับลงทุน (Investment Grade) หรือต่ำกว่าระดับลงทุน (Non-Investment Grade) ก็ถือว่าเป็นหุ้นกู้ที่มีเ​รตติ้ง สามารถนำเสนอขายต่อผู้ลงทุนทั่วไปได้ (Public Offering) หากบริษัทได้รับอนุญาตจาก ก.ล.ต.  

หลายคนอาจเคยได้ยินคำว่า “จังก์บอนด์ (Junk Bond)" กันมาบ้าง มันคือหุ้นกู้ระดับระดับ Non-Investment Grade หรือเรตติ้งต่ำกว่า BBB- นั่นเอง

ในตลาดตราสารหนี้ นอกจากเราจะคุ้นกับหุ้นกู้ที่มีเรตติ้ง (Rated Bond) แล้ว ยังมีหุ้นกู้อีกประเภท คือ หุ้นกู้ที่ไม่มีเรตติ้ง หรือ Unrated Bond แล้วเมื่อหุ้นกู้ไม่มีเรตติ้ง จะน่าลงทุนเหรอ ใครควรลงทุนได้บ้าง มาดูกันต่อครับ

ทำไมหุ้นกู้ถึงไม่มีเรตติ้ง ถ้าซูมภาพกลับไป Unrated Bond มีได้ 2 กรณี คือ (1) เป็นหุ้นกู้ที่ไม่ได้ส่งไปจัดอันดับ กับ (2) เป็นหุ้นกู้ที่ขอให้จัดอันดับแล้วแต่ไม่ได้รับการพิจารณา 

เมื่อไม่มีเรตติ้งแปะป้ายให้เห็น และผู้ลงทุนก็ไม่รู้หรอกว่าเป็น Unrated Bond ประเภทหุ้นดีแต่ไม่เข้าประกวด หรือหุ้นกู้ที่เข้าประกวดแล้วไม่ได้ไปต่อ ดังนั้น ผู้ลงทุนต้องคิดไว้เลยว่า หุ้นกู้ประเภทนี้มีความเสี่ยงสูง และแน่นอนว่า มันจะให้ผลตอบแทนสูงในคราวเดียวกัน ตามกฎธรรมชาติของ HighRiskHighReturn

แล้วทำไม ก.ล.ต. ไม่ห้ามออก Unrated Bond เลย ถ้ารู้ว่าของแบบนี้เสี่ยงสูง เรื่องนี้ต้องตอบว่า เพราะผู้ลงทุนแต่ละคนมีความชอบความเสี่ยง (risk appetite) ไม่เหมือนกัน การการเปิดกว้างให้ให้ผู้กู้ออก Unrated Bond ได้ เพื่อให้เขามีช่องทางระดมทุน จากผู้ลงทุนที่ยอมรับความเสี่ยงในระดับสูงได้ เพื่อแลกกับผลตอบแทนที่สูงขึ้น

สิ่งที่ ก.ล.ต. เข้ามาช่วยในเรื่องนี้คือ นอกจากการบอกให้ผู้ลงทุนรู้ว่า หุ้นกู้นี้ไม่มีเรตติ้งแล้ว ก็ยังให้หุ้นกู้ประเภทนี้ขายให้กับกลุ่มผู้ลงทุนที่มีความรู้ มีเวลาศึกษาข้อมูล รู้จักลักษณะ Unrated Bond จริงๆ ได้แก่ ผู้ลงทุนสถาบัน บุคคลที่มีสินทรัพย์ 50 ล้านบาทขึ้นไป (ไฮเน็ตเวิร์ธ) และการเสนอขายให้เฉพาะเจาะจง (Private Placement : PP) ส่วนผู้ลงทุนทั่วไป ถ้าอยากจะซื้อ Unrated Bond ก็สามารถลงทุนผ่านกองทุนรวมที่มีนโยบายลงทุนใน Unrated Bond  เพื่อให้มีการกระจายความเสี่ยง และมีผู้จัดการกองทุนรวมที่เป็นมืออาชีพช่วยดูแล

สำหรับวิธีลงทุน Unrated Bond ผ่านกองทุนรวม ก็อยากให้อ่านใน Fund Factsheet หลักๆ 3 จุด คือ
(1) ข้อมูลบอกว่ากองทุนนั้นลงทุนในหุ้นกู้ที่มีเรตติ้งแต่ละประเภทกี่เปอร์เซ็นต์ กลุ่มที่มีการกระจุกตัวเกิน 20% ก็ต้อง highlight ขึ้นมา
(2) ดูชื่อหุ้นกู้ที่กองทุนรวมไปลงทุน ซึ่งจะมีรายชื่อ 5 อันดับแรก ดูซิว่าพอคุ้น พอรู้จัก และได้ rating เท่าใด และ
(3) ถ้ากองทุนรวมนั้นลงในหุ้นกู้ที่เสี่ยงมากๆ ระดับความเสี่ยงของกองทุนรวม (risk spectrum) ก็จะสูงกว่าระดับ 4 (เป็นระดับปกติของกองทุนที่ลงทุนในหุ้นกู้) ซึ่งอาจะสูงไปถึงระดับ 5 - 6 เทียบเท่ากับการลงทุนในกองทุนรวมหุ้นได้เลยนะครับ  

ฉะนั้น ไม่ว่าจะเป็นผู้ลงทุนประเภทใด หากจะลงทุนสินทรัพย์ที่เกี่ยวข้องกับ Unrated Bond ขอให้ดูที่อัตราส่วนทางการเงินเพื่อดูสภาพคล่องและความสามารถในการชำระหนี้ของบริษัทด้วยนะครับ

อ่านเพิ่มเติม

เรื่องที่เกี่ยวข้อง