รู้จักรูปแบบและนโยบายการลงทุน

04 ตุลาคม 2562
อ่าน 3 นาที

​​ในปัจจุบันกองทุนรวม FIF ของไทยมีรูปแบบการบริหารแบ่งได้เป็น 2 แบบหลักๆ คือ

1. แบบที่ บลจ. ไทยบริหารกองทุนด้วยตนเอง โดยนำเงินไปลงทุนในหลักทรัพย์หรือสินค้าทางการเงินต่างๆ ในต่างประเทศ ไม่ว่าจะเป็นหุ้น ตราสารหนี้ สัญญาซื้อขายล่วงหน้าที่มีผลตอบแทนอ้างอิงกับตัวแปรต่างๆ เช่น อ้างอิงกับราคาหลักทรัพย์หรือดัชนีราคาหลักทรัพย์ ราคาสินค้าหรือดัชนีราคาสินค้าโภคภัณฑ์ เช่น ราคาทองคำหรือราคาน้ำมันดิบ เป็นต้น แต่ยังไม่ครอบคลุมไปถึงการลงทุนโดยตรงในสินค้าอื่นอีกหลายประเภท เช่น สินค้าโภคภัณฑ์ประเภททองคำและน้ำมัน เป็นต้น ตัวอย่างของกองทุนรวม FIF แบบนี้ที่ออกมาเสนอขายและเป็นที่นิยมกัน ก็เช่น กองทุนรวม FIF ที่ไปลงทุนในพันธบัตรเกาหลีใต้
 
2. แบบที่ บลจ. ไทยไปซื้อกองทุนรวมที่บริหารจัดการโดยผู้จัดการกองทุน ในต่างประเทศอีกทอดหนึ่ง หรือเป็นการลงทุนทางอ้อมผ่านกองทุนรวมในต่างประเทศนั่นเอง โดยสามารถลงทุนได้ 2 วิธี คือ
  • กองทุนรวมประเภท fund of funds เป็นการนำเงินไปซื้อกองทุนรวมในต่างประเทศหลายๆ กอง ซึ่งอาจจะมีนโยบายการลงทุนที่คล้ายกันหรือมีนโยบายต่างกันก็ได้ โดย บลจ. ไทยจะเป็นผู้กำหนดว่าจะนำเงินไปลงทุนในกองทุนรวมต่างประเทศกองใดบ้าง ในสัดส่วนเท่าใด และจะมีการปรับเปลี่ยนการลงทุนได้ตามความเหมาะสมภายใต้เกณฑ์ที่ ก.ล.ต. กำหนด 
  • กองทุนรวมประเภท feeder fund เป็นการนำเงินไปลงทุนในกองทุนรวมในต่างประเทศเพียงกองเดียว ซึ่งเรียกว่า master fund เช่น กองทุนรวม FIF X ไปลงทุนในกองทุนรวม Y ที่จัดตั้งในต่างประเทศเพียงกองเดียว ซึ่งกองทุนรวม Y จะมีผู้จัดการกองทุนที่อยู่ต่างประเทศเป็นผู้ดูแลและบริหารเงิน โดยอาจจะเข้าไปลงทุนในกองทุนรวมอื่นหรือสินค้าทางการเงินต่างๆ ตามนโยบายการลงทุนที่กำหนดไว้ ตัวอย่างของกองทุนรวมแบบ feeder fund ของไทยที่มีออกมาเสนอขายกันในช่วงนี้ ก็เช่น กองทุนรวม FIF ที่ไปลงทุนในกองทุนรวมในต่างประเทศที่มีนโยบายลงทุนในทองคำแท่ง หรือกองทุนรวม FIF ที่ไปลงทุนในกองทุนรวมอีทีเอฟที่ลงทุนในสัญญาซื้อขายล่วงหน้าน้ำมันดิบ เป็นต้น

 

อ่านเพิ่มเติม

เรื่องที่เกี่ยวข้อง