ผลตอบแทนและความเสี่ยงที่ควรรู้

04 ตุลาคม 2562
อ่าน 3 นาที

​​​​ผู้ลงทุนมีโอกาสได้ผลตอบแทนที่หลากหลายขึ้นกับนโยบายของกองทุนรวม FIF เช่น หากเป็นกองทุนรวม FIF ที่ลงทุนในตราสารหนี้ต่างประเทศ แม้ว่าอาจได้ผลตอบแทนต่ำกว่าที่ลงทุนในหุ้น แต่อาจได้ผลตอบแทนที่สูงกว่าหรือต่ำกว่าผลตอบแทนของของกองทุนรวมที่ลงทุนในประเทศก็ได้

สำหรับความเสี่ยงของกองทุนรวม FIF เป็นสิ่งที่ผู้ลงทุนต้องศึกษาให้เข้าใจ เพราะจะมีความเสี่ยงที่เกี่ยวข้องนอกเหนือไปจากความเสี่ยงของกองทุนรวมที่ลงทุนในประเทศทั่วไป โดยความเสี่ยงของกองทุนรวม FIF มีดังนี้
  • ​ความเสี่ยงของหลักทรัพย์ที่ลงทุน เช่น กรณีของกองทุนรวมหุ้น ก็มีความเสี่ยงหลัก ๆ จากภาวะราคาหุ้นในตลาดผันผวน หากเป็นกองทุนรวมตราสารหนี้ ก็มีความเสี่ยงหลัก ๆ เรื่องความสามารถในการชำระหนี้ของผู้ออกตราสารหรือเรื่องสภาพคล่องเป็นต้น ในกรณีของตราสารหนี้ ผู้ลงทุนควรดูว่าไปลงทุนในตราสารหนี้ภาครัฐหรือเอกชน อันดับเครดิตของตราสารและหลักทรัพย์เป็นอย่างไรด้วย
  • ความเสี่ยงของสภาพเศรษฐกิจและการเมืองของประเทศที่กองทุนรวมเข้าไปลงทุน (country risk)  ซึ่งจะเกิดได้จากการเปลี่ยนแปลงด้านนโยบาย การเมือง หรือความผันผวนของภาวะเศรษฐกิจของประเทศนั้นๆ รวมถึงบางประเทศยังอาจมีความเสี่ยงในเรื่องข้อจำกัดในการนำเงินลงทุนกลับประเทศ หรือ Repatriation Risk ที่อาจทำให้กองทุนรวมไม่สามารถนำเงินลงทุนและผลตอบแทนกลับประเทศได้ครบถ้วนตามที่คาดไว้ได้ เป็นต้น ความเสี่ยงนี้จะส่งผลกระทบต่อการคาดการณ์ผลตอบแทนการลงทุนของกองทุนรวม FIF ได้ อย่างไรก็ดี ถ้าเป็นกองทุนรวมที่ลงทุนในตราสารหนี้ของรัฐบาลประเทศนั้นโดยกำหนดอายุกองไว้แน่นอน เช่น 6 เดือน หรือ 1 ปี หากภาวะเศรษฐกิจไม่ได้มีปัญหากระทบถึงขั้นที่ทำให้ประเทศต้องล้มละลายความเสี่ยงประเภทนี้ก็มีน้อยมาก ๆ 
  • ความเสี่ยงจากอัตราแลกเปลี่ยน (foreign exchange rate risk) ซึ่งเกิดจากการที่กองทุนรวม FIF ต้องมีการแลกเปลี่ยนเงินบาทให้เป็นเงินสกุลต่างประเทศก่อนเพื่อนำเงินออกไปลงทุน เมื่อได้รับผลตอบแทนและเงินต้นในรูปเงินสกุลต่างประเทศก็ต้องแลกเปลี่ยนกลับมาเป็นเงินบาทเพื่อจ่ายคืนให้กับผู้ลงทุนที่ต้องการไถ่ถอนหน่วยลงทุน หรือจ่ายคืนให้ผู้ลงทุนเมื่อกองทุนรวม FIF ครบกำหนดไถ่ถอน 
     แต่ด้วยความผันผวนอัตราแลกเปลี่ยน อาจทำให้เกิดขาดทุนจากอัตราแลกเปลี่ยน แล้วมากินส่วนที่เป็นเงินต้นและผลตอบแทนได้ โดยทั่วไปความเสี่ยงด้านนี้สามารถลดลงได้โดยการป้องกันความเสี่ยงจากอัตราแลกเปลี่ยนหรือที่เรียกว่า hedging เช่น การทำสัญญาซื้อขายล่วงหน้า เพื่อล็อคค่าเงินบาทไว้ในอัตราที่ผู้จัดการกองทุนคิดว่าจะเป็นประโยชน์กับกองทุนรวมในอนาคต เป็นต้น แต่การทำ hedging จะทำให้มีค่าใช้จ่ายเพิ่มขึ้น ซึ่งอาจมีผลให้ผลตอบแทนที่ผู้ลงทุนจะได้รับลดลง บลจ. จึงอาจเลือกทำ hedging ค่าเงินทั้งหมด/เกือบทั้งหมด ทำ hedging ค่าเงินไว้แค่บางส่วน หรือไม่ทำ hedging เลยก็ได้ 
      โดย ก.ล.ต. ได้กำหนดให้ บลจ. ต้องบอกให้ผู้ลงทุนทราบอย่างชัดเจนถึงความเสี่ยงจากอัตราแลกเปลี่ยนในสกุลเงินของหลักทรัพย์ที่กองทุนรวมไปลงทุน (currency of underlying investment) และนโยบายที่ใช้เพื่อบริหารความเสี่ยงนั้นในหนังสือชี้ชวน"เสนอขายหน่วยลงทุนนั้นๆ และยังต้องเปิดเผยไว้ในเอกสารทุกประเภทที่ใช้ประกอบการเสนอขายกองทุนรวม เช่น เอกสารโฆษณาประชาสัมพันธ์และเอกสารที่ใช้แจกในงานสัมมนาของกองทุนรวมอีกด้วย และต้องระบุด้วยว่าได้ป้องกันความเสี่ยงแบบใดไว้ใน 4 แบบเหล่านี้ ได้แก่ 
          1.  ป้องกันความเสี่ยงทั้งจำนวน/ เกือบทั้งจำนวน (อนุโลมให้ป้องกันความเสี่ยงไว้ ไม่ต่ำกว่า 90% ของจำนวนเงินลงทุนสำหรับกองทุนรวมที่มีลักษณะพอร์ตการลงทุนที่เคลื่อนไหว)
          2. ป้องกันความเสี่ยงเพียงบางส่วน ซึ่งจะต้องระบุสัดส่วนให้ชัดเจน
          3. ป้องกันความเสี่ยงตามดุลยพินิจของผู้จัดการกองทุน
          4. ไม่ได้ป้องกันความเสี่ยงไว้เลย
โดยหากไม่ได้ป้องกันความเสี่ยงไว้ทั้งจำนวนหรือเกือบทั้งจำนวน (ใช้วิธีตามข้อ 2-4) ก็ต้องเขียนคำเตือนผู้ลงทุนไว้ด้วยว่าอาจได้รับกำไรน้อยลงหรือได้รับเงินต้นคืนไม่ครบตามที่ได้ลงทุนไปแสดงไว้ในหนังสือชี้ชวนส่วนสรุปข้อมูลสำคัญ เพื่อให้เห็นกันอย่างชัดเจนด้วย


อ่านเพิ่มเติม

เรื่องที่เกี่ยวข้อง