รู้จักกลยุทธ์การลงทุนของ SRI Fund

22 พฤศจิกายน 2565
อ่าน 4 นาที

​​

1. ผลิตภัณฑ์การลงทุนประเภทกองทุนรวมนั้น นอกจาก “นโยบายการลงทุน” ที่บอกให้เราทราบว่าเรากำลังลงทุนในอะไร ใช่สิ่งที่เราต้องการจะลงทุนหรือไม่ อีกสิ่งหนึ่งที่สำคัญไม่แพ้กันก็คือ “กลยุทธ์การลงทุน” ที่จะทำให้การลงทุนนั้นบรรลุวัตถุประสงค์และตรงตามเป้าหมายที่วางไว้อย่างมีประสิทธิภาพ

SRI Fund นั้นมีนโยบายการลงทุนที่สะท้อนถึงการมุ่งเน้นการลงทุนที่เกี่ยวกับความยั่งยืนที่เป็นที่ยอมรับตามหลักสากล ดังนั้นผู้จัดการกองทุน SRI Fund จึงต้องมีกลยุทธ์ที่สามารถนำพาให้การลงทุนนั้นบรรลุสู่ความยั่งยืนได้ตามนโยบายที่วางไว้ด้วยนั่นเอง

.


2. การลงทุนที่มาพร้อมกลยุทธ์ที่ดีนั้น ย่อมสร้างโอกาสในการบรรลุเป้าหมายทางการลงทุนได้สูง ยิ่งไปกว่านั้นการเลือกกลยุทธ์ที่เหมาะสมกับตนเองถือเป็นสิ่งสำคัญไม่แพ้กัน

เรามาทำความรู้จักกับ 4 ตัวอย่างกลยุทธ์การลงทุนของ SRI Fund กันเลยว่ามีกลยุทธ์ไหนที่ตรงใจเราบ้าง ดังนี้

  1. Screening Strategy เน้นการคัดสรรหลักทรัพย์ที่ผ่านเกณฑ์ มาตรฐานด้านความยั่งยืนเข้าพอร์ตลงทุน
  2. ESG Integration พิจารณาข้อมูลด้านการเงินและด้านความยั่งยืนประกอบกัน
  3. Thematic Investment ลงทุนกับ Mega trend ที่สร้างความเปลี่ยนแปลงต่อโลก
  4. Impact Investing การลงทุนแบบมีเป้าหมายเฉพาะเพื่อสร้างความเปลี่ยนแปลงต่อบางสิ่งให้ดีขึ้นในด้าน ESG 
.


3. กลยุทธ์ “Screening Strategy” ที่เน้นการวิเคราะห์และคัดเลือกหลักทรัพย์ โดยแบ่งออกเป็น 3 ประเภท ดังนี้

ส่วนที่ 1 Negative Screening เป็นการคัดเลือกหลักทรัพย์ของกิจการที่ไม่ตรงตามเกณฑ์การคัดเลือกที่ได้กำหนดไว้ออกจากขอบเขตลงทุน กล่าวง่าย ๆ คือ หากพบว่าหลักทรัพย์ของกิจการไหนที่ไม่ได้เป็นไปตามนโยบายการลงทุนอย่างยั่งยืนของ SRI Fund ที่เน้นความยั่งยืน เช่น ปล่อยมลภาวะเกินกว่าที่กำหนด หรือ มีการจ้างงานโดยเลือกปฏิบัติต่อเชื้อชาติ ผู้จัดการกองทุนจะทำการคัดหลักทรัพย์ของกิจการนั้นออกไปจากกรอบการลงทุน SRI Fund นั่นเอง

ส่วนที่ 2 Positive Screening เป็นการคัดเลือกหลักทรัพย์ของกิจการที่เป็นไปตามเกณฑ์การคัดเลือกที่ได้กำหนดไว้อย่างครบถ้วน หรือมีมาตรฐานด้านความยั่งยืนที่ดีกว่าที่กำหนดไว้ ให้เข้ามาอยู่ในขอบเขตการลงทุน ซึ่งหากผู้จัดการกองทุน SRI Fund พบว่ามีกิจการที่มีคุณสมบัติในการดำเนินกิจการเป็นไปตามที่วางไว้หรือทำได้ดีกว่า ก็จะทำการคัดเลือกกิจการนั้น ๆ มาเป็นหนึ่งในหลักทรัพย์ที่เตรียมสำหรับพิจารณานำเงินไปลงทุนต่อไป

ส่วนที่ 3 Norm-based เป็นการคัดเลือกหลักทรัพย์ของกิจการที่มีการดำเนินตาม “มาตรฐานขั้นต่ำ” ในด้านความยั่งยืนที่กิจการพึงมี เช่น กิจการที่ปฏิบัติตามข้อกำหนดเกี่ยวกับการใช้แรงงาน สภาพการจ้าง และสภาพการทำงาน (Labor Standard) หรือคำนึงถึงหลักสิทธิมนุษยชน (Human Rights) ซึ่งสิ่งเหล่านี้ล้วนแต่เป็น “บรรทัดฐาน” หรือ “Norm” ของหลักสากลที่พึงปฏิบัติเพื่อที่จะนำพาไปสู่ความยั่งยืนอยู่แล้ว โดยผู้จัดการกองทุนอาจพิจารณาจากเกณฑ์เหล่านี้ เพื่อคัดเลือกหลักทรัพย์เข้าสู่ตะกร้าของการลงทุนเพื่อความยั่งยืนต่อไปนั่นเอง

.


4. กลยุทธ์ “ESG Integration” เป็นการนำข้อมูลมา “บูรณาการ” เพื่อหาหลักทรัพย์ที่ตรงตามเกณฑ์และมีแนวโน้มที่น่าสนใจลงทุน ซึ่งข้อมูลที่ผู้จัดการกองทุนจะนำมาพิจารณาประกอบกันนั้น ได้แก่

“ข้อมูลด้านการเงิน” อาทิ ผลประกอบการ ฐานะทางการเงิน หรือแนวโน้มความสามารถในการทำกำไรจากการดำเนินกิจการ .. และ

“ข้อมูลด้านความยั่งยืน” ที่เกิดขึ้นจากการดำเนินกิจการโดยมีนโยบายที่คำนึงถึงหลัก ESG อันเป็นส่วนสำคัญในการขับเคลื่อนธุรกิจของกิจการนั้น ๆ

ซึ่งผู้จัดการกองทุนจะนำทั้ง 2 ส่วนนี้มาพิจารณาร่วมกัน โดยกิจการใดที่มีคุณสมบัติครบถ้วนทั้งการดำเนินกิจการที่คำนึงถึงหลัก ESG มีฐานะทางการเงินที่แข็งแกร่ง และมีแนวโน้มในการสร้างผลกำไรได้อย่างยั่งยืน ล้วนแล้วแต่เป็นกิจการที่มีความน่าสนใจ สามารถนำมาวิเคราะห์เพื่อคัดเลือกลงทุนต่อไปได้ 

.
​​

5. กลยุทธ์ “Thematic Investment” หรือ ธีมการลงทุนโดยเฉพาะ ที่เป็นการลงทุนในหลักทรัพย์ที่ดำเนินการสอดคล้องกับแบบแผนความยั่งยืนที่อาจกำลังได้รับความนิยมหรือเป็นกระแส (Mega trend) ที่กำลังจะสร้างการเปลี่ยนแปลงต่อโลก รวมถึงเป็นเรื่องที่ต้องการส่งเสริมเป็นการเฉพาะ อาทิ เทรนด์การลงทุนในกลุ่มที่เกี่ยวกับสภาพภูมิอากาศ หรือพลังงานทดแทน เป็นต้น

SRI Fund นี้สามารถกำหนดกลยุทธ์การลงทุนในหลักทรัพย์ที่เป็นกลุ่มธุรกิจหรือกลุ่มอุตสาหกรรมที่มีความโดดเด่นได้เช่นเดียวกันกับกองทุนรวมอื่น ๆ เพียงแต่ต้องไม่ลืมว่าสาระสำคัญของ SRI Fund นั้นคือ “การสร้างความยั่งยืน” ซึ่งหากเทรนด์การลงทุนที่เกิดขึ้นนั้นสามารถตอบโจทย์ด้านความยั่งยืนได้อย่างเป็นรูปธรรมแล้ว ก็สามารถลงทุนได้เช่นเดียวกัน 

.


6. กลยุทธ์ “Impact Investing” หรือการลงทุนที่มีเป้าประสงค์ให้เกิดผลกระทบเชิงบวกต่อสังคมหรือสิ่งแวดล้อม ซึ่งโดยภาพรวมแล้วถือเป็นกลยุทธ์การลงทุนที่มีจุดมุ่งหมายหรือเจตนาที่ชัดเจนที่จะสร้างการเปลี่ยนแปลงที่ดีขึ้นทั้งในด้านสิ่งแวดล้อม และสังคม

ตัวอย่างบริษัทที่มีการใช้กลยุทธ์ impact investing fund ในบางกองทุน เช่น Blackrock, Wellington หรือ UBS Global เป็นต้น

ส่วนกรณีที่ บลจ. เลือกใช้กลยุทธ์แบบ Impact Investing บลจ. จะต้องกำหนดและเปิดเผยเป้าหมายที่สามารถประเมินผลลัพธ์และวัดผลได้ไว้อย่างชัดเจน ตลอดจนต้องมีผู้ตรวจสอบที่เรียกว่า “Impact verifier” เพื่อเป็นผู้ทำหน้าที่ตรวจสอบว่าการลงทุนตามกลยุทธ์ดังกล่าวนั้น ให้ผลลัพธ์เป็นไปตามเป้าหมายที่เปิดเผยไว้กับผู้ลงทุนได้หรือไม่ อย่างไรด้วย
                 __________________________________

อ่านเพิ่มเติม 
ตอนที่ 1  SRI Fund ทางเลือกของการลงทุนเพื่อความยั่งยืน  https://www.smarttoinvest.com/Pages/Investment%20Products/Investment%20knowledge/SRI-Fund-alternative-sustainable-investment.aspx
ตอนที่ 3 SRI fund ลงทุนในหลักทรัพย์ใดได้บ้าง?  https://www.smarttoinvest.com/Pages/Investment%20Products/Investment%20knowledge/SRI-Fund-What-securities-can-invest.aspx

​​