การดำเนินการทางปกครอง

02 ตุลาคม 2562
อ่าน 5 นาที

​​​
​​​

การดำเนินการทางปกครอง (Administrative Actions) เป็นกระบวนการบังคับใช้กฎหมายด้วยการออกคำสั่งทางปกครองกับบุคคลที่อยู่ภายใต้การกำกับดูแลของ ก.ล.ต. ได้แก่ ผู้ที่ได้รับอนุญาต ได้รับความเห็นชอบ หรือได้ขึ้นทะเบียนตามกฎหมายที่ ก.ล.ต. กำกับดูแล เช่น ผู้ประกอบธุรกิจหลักทรัพย์ ผู้ประกอบธุรกิจสัญญาซื้อขายล่วงหน้า ที่ปรึกษาทางการเงิน ผู้สอบบัญชี บริษัทประเมินมูลค่าทรัพย์สิน สถาบันจัดอันดับความน่าเชื่อถือ ผู้แทนผู้ถือหุ้นกู้ และบุคลากรในธุรกิจตลาดทุน เป็นต้น

การดำเนินการทางปกครองของ ก.ล.ต. แยกได้เป็น 2 ลักษณะ ได้แก่

1. การออกคำสั่งทางปกครอง จะอาศัยอำนาจในการกำกับดูแลตามที่กฎหมายแต่ละฉบับกำหนด ซึ่งจะใช้ดำเนินการในกรณีที่พบว่าบุคคลที่อยู่ภายใต้การกำกับดูแลนั้นขาดคุณสมบัติ มีลักษณะต้องห้าม บกพร่องในการปฏิบัติหน้าที่ หรือมีการปฏิบัติงานไม่เป็นไปตามหลักเกณฑ์ มาตรฐาน หรือจรรยาบรรณที่กำหนดสำหรับการปฏิบัติงานของบุคคลประเภทนั้น
ตัวอย่างการสั่งการของ ก.ล.ต. หรือผู้ที่มีอำนาจในการกำกับดูแล อาทิ สั่งให้แก้ไขการดำเนินการให้เป็นไปตามหลักเกณฑ์ จำกัดการประกอบธุรกิจที่บกพร่อง และพักหรือเพิกถอนการให้ความเห็นชอบ เป็นต้น

2. การลงโทษทางปกครอง เป็นบทลงโทษที่กำหนดไว้ใน พ.ร.บ. สัญญาซื้อขายล่วงหน้าฯ และ พ.ร.บ. ทรัสต์เพื่อธุรกรรมในตลาดทุนฯ ซึ่งเป็นบทลงโทษกับผู้ประกอบธุรกิจสัญญาซื้อขายล่วงหน้า ศูนย์ซื้อขายสัญญาซื้อขายล่วงหน้า สำนักหักบัญชีสัญญาซื้อขายล่วงหน้า สมาคมกำกับผู้ประกอบธุรกิจสัญญาซื้อขายล่วงหน้า ผู้ไม่ชำระค่าธรรมเนียมที่กำหนดตาม พ.ร.บ. สัญญาซื้อขายล่วงหน้าฯ กรรมการและผู้บริหารของนิติบุคคลข้างต้น (ตามมาตรา 114 – 119 แห่งพ.ร.บ. สัญญาซื้อขายล่วงหน้าฯ) และลงโทษกับทรัสตีและกรรมการและผู้บริหารของทรัสตีนั้น (ตามมาตรา 70 – 71 แห่งพ.ร.บ. ทรัสต์เพื่อธุรกรรมในตลาดทุนฯ)

ผู้มีอำนาจลงโทษทางปกครองมีหลายระดับ ได้แก่ ก.ล.ต. คณะกรรมการพิจารณาโทษทางปกครอง หรือคณะกรรมการ ก.ล.ต. และการสั่งการก็มีได้หลายลักษณะ เช่น ภาคทัณฑ์ ตำหนิโดยเปิดเผยต่อสาธารณชน ปรับทางปกครอง จำกัดการประกอบการ พักการประกอบการ และเพิกถอนใบอนุญาต ทั้งนี้ อำนาจในการสั่งการของผู้มีอำนาจลงโทษทางปกครองในแต่ละระดับนั้นขึ้นอยู่กับระดับโทษที่จะลงแก่ผู้ถูกลงโทษทางปกครอง

การอุทธรณ์

เมื่อผู้ถูกลงโทษทางปกครองได้รับคำสั่งทางปกครองแล้วไม่เห็นด้วยกับการสั่งการทางปกครอง ผู้นั้นมีสิทธิอุทธรณ์คำสั่งดังกล่าวได้ โดยวิธีปฏิบัติในการอุทธรณ์กำหนดตามระเบียบคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ว่าด้วยการยื่นการพิจารณา การวินิจฉัยอุทธรณ์คำสั่งทางปกครองของสำนักงาน พ.ศ. 2542 และประกาศคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ ที่ กค. 12/2551 เรื่อง การพิจารณาทางปกครองตามพระราชบัญญัติสัญญาซื้อขายล่วงหน้า พ.ศ. 2546 และพระราชบัญญัติทรัสต์เพื่อธุรกรรมในตลาดทุน พ.ศ. 2550 และสามารถศึกษาได้จากแผนผังขั้นตอนการดำเนินการทางปกครอง และขั้นตอนการใช้สิทธิอุทธรณ์หรือโต้แย้งคำสั่งลงโทษทางปกครอง​​


 

อ่านเพิ่มเติม

เรื่องที่เกี่ยวข้อง