การดำเนินการทางอาญา

02 ตุลาคม 2562
อ่าน 3 นาที


การดำเนินการทางอาญา (Criminal Actions) เป็นกระบวนการบังคับใช้กฎหมายกับบุคคลซึ่งกระทำการหรือละเว้นกระทำการอันเป็นการฝ่าฝืนกฎหมายที่ ก.ล.ต. กำกับดูแล สามารถดำเนินการได้ 2 ลักษณะ คือ (ก) การเปรียบเทียบความผิดอาญาโดยคณะกรรมการเปรียบเทียบ หรือ (ข) การดำเนินคดีอาญาตามกระบวนการยุติธรรมทางอาญา

ทั้งนี้ กระบวนการทางอาญาเป็นกระบวนการที่ใช้กับข้อหาความผิดส่วนใหญ่ตามกฎหมายที่อยู่ในความรับผิดชอบของสำนักงาน ก.ล.ต.

1. การเปรียบเทียบความผิดอาญา
กฎหมายที่ ก.ล.ต. กำกับดูแล ทั้ง 6 ฉบับ มีบทบัญญัติที่กำหนดให้ความผิดบางลักษณะเป็นความผิดที่สามารถเปรียบเทียบและกำหนดค่าปรับโดยคณะกรรมการเปรียบเทียบที่ได้รับการแต่งตั้งตามกฎหมายดังกล่าว และเมื่อผู้กระทำความผิดยินยอมเข้ารับการเปรียบเทียบ และชำระค่าปรับตามคำสั่งคณะกรรมการเปรียบเทียบแล้ว สิทธิในการดำเนินคดีอาญากับผู้กระทำความผิดดังกล่าวจะสิ้นสุดลง

ความผิดที่สามารถยุติด้วยการเปรียบเทียบความผิดได้ เป็นไปตามที่บัญญัติในมาตรา 317 แห่ง พ.ร.บ. หลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ฯ  มาตรา 155 แห่ง พ.ร.บ. สัญญาซื้อขายล่วงหน้าฯ  มาตรา 94 แห่ง พ.ร.บ. ทรัสต์เพื่อธุรกรรมในตลาดทุนฯ  มาตรา 42 แห่ง พ.ร.บ. กองทุนสำรองเลี้ยงชีพฯ  มาตรา 43 แห่ง พ.ร.ก. นิติบุคคลเฉพาะกิจฯ และมาตรา 95 แห่ง พ.ร.ก. การประกอบธุรกิจสินทรัพย์ดิจิทัลฯ
องค์คณะของคณะกรรมการเปรียบเทียบประกอบด้วยบุคคลภายนอกที่เป็นอิสระจากสำนักงาน ก.ล.ต. จำนวน 3 ท่าน ซึ่งแต่งตั้งโดยรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ดังนี้
     (ก) ผู้แทนสำนักงานตำรวจแห่งชาติ
     (ข) ผู้แทนธนาคารแห่งประเทศไทย และ
     (ค) ผู้แทนสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง กระทรวงการคลัง

2. การดำเนินคดีอาญาตามกระบวนการยุติธรรมทางอาญา         
สำหรับความผิดอื่น ๆ ที่กฎหมายไม่ได้กำหนดให้เป็นความผิดที่สามารถเปรียบเทียบได้ หรือในกรณีที่ผู้กระทำความผิดไม่ยินยอมเข้ารับการเปรียบเทียบ หรือไม่ชำระค่าปรับตามคำสั่งของคณะกรรมการเปรียบเทียบ หรือชำระไม่ครบถ้วน ก.ล.ต. จะกล่าวโทษต่อพนักงานสอบสวน (สำนักงานตำรวจแห่งชาติหรือกรมสอบสวนคดีพิเศษ) เพื่อให้สอบสวนการกระทำความผิดของบุคคลดังกล่าว  ทั้งนี้ ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญาที่เกี่ยวข้อง

ตามกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา พนักงานสอบสวนจะทำหน้าที่สอบสวน รวบรวมข้อเท็จจริงและพยานหลักฐาน และเสนอความเห็นเกี่ยวกับคดีไปยังพนักงานอัยการ และพนักงานอัยการจะมีอำนาจพิจารณาความสมบูรณ์ครบถ้วนของสำนวนการสอบสวนของพนักงานสอบสวน ก่อนมีความเห็นสั่งฟ้องหรือสั่งไม่ฟ้องผู้ต้องหาตามสำนวนการสอบสวนดังกล่าว  ทั้งนี้ ในคดีที่พนักงานอัยการได้ยื่นฟ้องผู้ต้องหาเป็นจำเลยแล้ว ศาลยุติธรรมจะเป็นผู้พิจารณาตัดสินต่อไป

อนึ่ง ศาลยุติธรรมมี 3 ชั้น คือ ศาลชั้นต้น ศาลอุทธรณ์ และศาลฎีกา ซึ่งสิทธิในการอุทธรณ์และฎีกาเป็นไปตามเงื่อนไขที่กำหนดในประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา

นอกจากนั้น ศาลที่พิจารณาข้อหาความผิดตามมาตรา 278 มาตรา 281/2 วรรคหนึ่ง มาตรา 281/10 มาตรา 296 มาตรา 296/1 หรือมาตรา 297 แห่ง พ.ร.บ. หลักทรัพย์ฯ และตามมาตรา 70 มาตรา 71 หรือมาตรา 73 แห่ง พ.ร.ก. การประกอบธุรกิจสินทรัพย์ดิจิทัลฯ มีอำนาจใช้มาตรการต่อไปนี้กับผู้กระทำความผิดได้
     (1)  ชดใช้เงินเท่ากับผลประโยชน์ที่ได้รับหรือพึงได้รับจากการกระทำผิด
     (2)  ห้ามเข้าซื้อขายหลักทรัพย์หรือสัญญาซื้อขายล่วงหน้าเป็นเวลาไม่เกิน 5 ปี
     (3)  ห้ามเป็นกรรมการหรือผู้บริหารของบริษัทจดทะเบียนหรือบริษัทหลักทรัพย์เป็นเวลาไม่เกิน 10 ปี
     (4)  ชดใช้ค่าใช้จ่ายในการตรวจสอบให้กับ ก.ล.ต.​

อ่านเพิ่มเติม

เรื่องที่เกี่ยวข้อง