ประเภทกองทุนรวมตามความเสี่ยงแต่ละระดับ

02 ตุลาคม 2562
อ่าน 3 นาที
​​​​​​นโยบายการลงทุนที่แตกต่างกันของแต่ละกองทุนรวมก็ทำให้เกิดความเสี่ยงมากน้อยแตกต่างกัน โดยตัวอย่างประเภทกองทุนรวมตามความเสี่ยงแต่ละระดับ มีดังนี้​
เสี่ยงต่ำเสี่ยงปานกลางค่อนข้างต่ำเสี่ยงปานกลางค่อนข้างสูงเสี่ยงสูงเสี่ยงสูงมาก​
 


 

กองทุนรวมที่มีความเสี่ยงต่ำ
กองทุนรวมตลาดเงิน มีนโยบายการลงทุนในเงินฝากและตราสารหนี้ระยะสั้นที่มีอายุคงเหลือของตราสารไม่เกิน 397 วัน โดยอายุเฉลี่ยของตราสารหนี้ในกองทุนรวมไม่เกิน 92 วัน  และโดยส่วนใหญ่กองทุนรวมประเภทนี้มักจะมีสภาพคล่องสูง ผู้ลงทุนสามารถขายคืนหน่วยลงทุนได้ทุกวันทำการ

กองทุนรวมที่มีความเสี่ยงปานกลางค่อนข้างต่ำ
กองทุนรวมมุ่งรักษาเงินต้น เป็นกองทุนรวมที่ บลจ.วางแผนการลงทุนเพื่อมุ่งรักษาเงินลงทุนของผู้ถือหน่วยลงทุน(ไม่รวมถึงค่าธรรมเนียมการซื้อหน่วยลงทุน) โดยเลือกใช้กลยุทธ์การลงทุนในตราสารที่มีความเสี่ยงต่ำ เช่น ตราสารภาครัฐไทยและต่างประเทศ เงินฝาก บัตรเงินฝาก (certificate of deposit: CD) เป็นต้น ทั้งนี้ เพื่อพยายามทำให้โอกาสสูญเสียเงินลงทุนเริ่มแรกของผู้ลงทุนมีน้อยที่สุด

กองทุนรวมตราสารหนี้ระยะสั้น (Short term bond fund) มีนโยบายเน้นการลงทุนในตราสารหนี้ระยะสั้นเป็นหลัก โดยกำหนดกรอบการลงทุนไว้ว่าอายุตราสารหนี้ในพอร์ต (portfolio duration) ของกองทุนรวมต้องไม่เกิน 1 ปี ซึ่งโดยทั่วไปแล้วมูลค่าหน่วยลงทุนของกองทุนรวมตราสารหนี้ระยะสั้นจะไม่ผันผวนมากเนื่องจากเป็นการลงทุนในระยะสั้น

กองทุนรวมพันธบัตรรัฐบาล มีนโยบายการลงทุนในตราสารหนี้ เน้นลงทุนในพันธบัตรรัฐบาล ( ≥ 80% ของ NAV)

กองทุนรวมตราสารหนี้ทั่วไป มีนโยบายการลงทุนในตราสารหนี้ทั่วไป เช่น หุ้นกู้ภาคเอกชน ทั้งนี้ รวมถึงกองทุนที่ลงทุนในตราสารที่มีลักษณะของสัญญาซื้อขายล่วงหน้าแฝง เช่น หุ้นกู้อนุพันธ์ ที่คุ้มครองเงินต้นด้วย โดยมีการลงทุนในตราสาร non-investment grade / unrate ไม่เกิน 20% ของ NAV

กองทุนรวมที่มีความเสี่ยงปานกลางค่อนข้างสูง
กองทุนรวมผสม ลงทุนได้ทั้งในตราสารทุนตราสารหนี้ และทรัพย์สินทางเลือก โดยบางกองอาจเน้นลงทุนในตราสารหนี้ หรือบางกองอาจเน้นลงทุนในตราสารทุนมากกว่าก็ได้
 
กองทุนรวมที่มีความเสี่ยงสูง
 กองทุนรวมหุ้นหรือกองทุนรวมตราสารทุน มีนโยบายลงทุน (net exposure) ในตราสารทุนเป็นหลัก ≥ 80% ของ NAV ทั้งนี้ กองทุนรวมตราสารทุนที่มีนโยบายการลงทุนแบบเน้นสร้างผลตอบแทนเป็นไปในทิศทางเดียวกับดัชนีอ้างอิงหรือใช้กลยุทธ์การลงทุนเชิงอนุรักษ์ (passive) เช่น กองทุนรวมดัชนีราคาหุ้น กองทุนรวม ETF หุ้น จะมีความเสี่ยงต่ำกว่ากองทุนรวมตราสารทุนที่มีนโยบายการลงทุนที่เน้นสร้างผลตอบแทนให้สูงกว่าดัชนีอ้างอิง (active)
กองทุนรวมหุ้นของบริษัทที่มีธุรกิจหลักประเภทเดียวกัน หรือ กองทุนรวมตราสารทุนแบบ sector fund มีนโยบายลงทุนในตราสารทุนของบริษัทที่มีธุรกิจหลักประเภทเดียวกัน เช่น ในธุรกิจด้านพลังงาน ฯลฯ หรือตราสารทุน ในประเทศหรือกลุ่มประเทศใดประเทศหนึ่ง ≥ 80% ของ NAV​
 
กองทุนรวมที่มีความเสี่ยงสูงมาก
กองทุนรวมที่มีนโยบายลงทุนในทรัพย์สินทางเลือ เช่น REITS/ infrastructure fund / property fund กองทุนรวมสินค้าโภคภัณฑ์ กองทุนรวมทองคำ กองทุนรวมน้ำมัน (commodity fund/ gold fund/ oil fund) เป็นต้น

สำหรับกองทุนรวมที่ลงทุนในต่างประเทศ หรือ  foreign investment fund (FIF) ระดับความเสี่ยงของกองทุนรวมจะแตกต่างไปจากกองทุนรวมที่ลงทุนในประเทศ เนื่องจากมีความเสี่ยงจากอัตราแลกเปลี่ยนเข้ามาเกี่ยวข้อง ซึ่งถือว่าเป็นตัวแปรสำคัญที่อาจส่งผลกระทบต่อผลตอบแทนที่ผู้ลงทุนจะได้รับจากการแปลงเงินบาทเป็นเงินสกุลอื่นเมื่อนำเงินไปลงทุนและแปลงกลับมาเป็นเงินบาทเมื่อนำผลตอบแทนมาคืนให้ผู้ลงทุน โดยหากเป็นกองทุนรวม FIF ที่ไม่มีนโยบายป้องกันความเสี่ยงจากอัตราแลกเปลี่ยน(hedging) หรือป้องกันไว้เพียงแค่บางส่วน ระดับความเสี่ยงของกองทุนรวมจะอยู่ในระดับสูง-สูงมาก 

ตัวอย่างเช่น กองทุนรวม FIF ที่มีนโยบายลงทุนในตราสารที่มีความเสี่ยงต่ำมาก เช่น พันธบัตรรัฐบาลต่างประเทศ แต่ไม่มีนโยบายป้องกันความเสี่ยงจากอัตราแลกเปลี่ยนไว้เลยจะถือว่าเป็นกองทุนรวมที่มีความเสี่ยงสูง หรือหากเป็นกองทุนรวม FIF ที่มีนโยบายลงทุนในกองทุนรวม ETF หุ้น แต่ไม่มีนโยบายป้องกันความเสี่ยงจากอัตราแลกเปลี่ยนเลย ก็จะถือว่าเป็นกองทุนรวมที่มีความเสี่ยงสูงมาก เป็นต้น อย่างไรก็ดี หากเป็นกองทุนรวม FIF ที่มีนโยบายป้องกันความเสี่ยงจากอัตราแลกเปลี่ยนไว้ทั้งหมดหรือเกือบทั้งหมด (hedging 90% ของเงินลงทุน) ระดับความเสี่ยงของกองทุนรวมจะอยู่ในระดับต่ำ-สูง โดยขึ้นอยู่กับหลักทรัพย์หรือทรัพย์สินที่กองทุนรวม FIF เลือกลงทุน

อ่านเพิ่มเติม

เรื่องที่เกี่ยวข้อง