เทคนิคบริหารรายจ่ายรับปีฉลู

24 มีนาคม 2564
อ่าน 4 นาที



จากตอนที่แล้วเราได้เช็กสุขภาพการเงินและรู้วิธีการตั้งเป้าหมายการเงินที่ดีแล้ว ต่อไปก็ถึงเวลา เริ่มลงมือ เพื่อไปสู่เป้าหมายที่ตั้งใจไว้! สำหรับคนที่มีสุขภาพการเงินที่แข็งแรงอยู่แล้วก็เริ่มลงมือทำตามแผนได้เลย แต่สำหรับคนที่สุขภาพการเงินไม่ค่อยดีนัก คงสงสัยว่า “เงินยังไม่พอใช้เลย จะเอาเงินที่ไหนเก็บล่ะ” 

วันนี้มีเทคนิคการบริหารรายจ่ายที่ทุกคนทำได้แบบง่าย ๆ และช่วยให้สุขภาพการเงินดีขึ้นมาฝาก นั่นก็คือ การใช้จ่ายแบบ 4 รู้ ได้แก่

  • รู้จัก NEED vs WANT
ก่อนใช้จ่ายให้คิดเสมอว่าสิ่งนั้น จำเป็น หรือ ไม่จำเป็น มีหลักง่าย ๆ คือ สิ่งที่จำเป็น ต้องเป็นสิ่งที่เราขาดไม่ได้ ขาดแล้วเราจะมีชีวิตอยู่ไม่ได้เลย เช่น พวกปัจจัยสี่ อาหาร ยารักษาโรค เสื้อผ้าและที่อยู่อาศัย แล้วค่อยมาคิดต่อว่า สิ่งเหล่านี้เรามีเพียงพอแล้วหรือไม่ หากไม่ซื้อเพิ่มจะมีผลอย่างไร ถ้าคำตอบคือ เราก็อยู่ได้ นั่นคือเรามีเพียงพอแล้ว การซื้อเพิ่ม คือ สิ่งที่เกินความจำเป็น

ตัวช่วยควบคุมใช้จ่ายได้อย่างดีคือ “การจดบัญชีรายรับ-รายจ่าย” เพราะจะทำให้เราเห็นรูรั่วของเงิน ลดค่าใช้จ่ายที่ไม่จำเป็นได้ และช่วยให้เราคิดให้รอบคอบก่อนใช้จ่ายเสมอ  

  • ​ รู้พฤติกรรม “ลดแค่นี้ save ได้แค่ไหน”
รู้หรือไม่ว่า การปรับพฤติกรรมในชีวิตประจำวันเพียงเล็กน้อย ช่วยให้เรามีเงินเก็บเพิ่มขึ้นได้แบบไม่รู้ตัว เช่น  หากเรากินน้ำดื่มที่ทำงานจัดไว้ให้แทนการซื้อ ประหยัดได้วันละ 20 บาท  1 ปีมีจะเงินออมเพิ่มขึ้น 7,300 บาท  
หากเราลดกาแฟหรือชานมไข่มุกลงวันละ 1 แก้ว (40บาท) ประหยัดได้อาทิตย์ละ 280 บาท  1 ปีจะมีเงินออมเพิ่มขึ้น 14,600 บาท

ลองคิดดูว่า เราใช้จ่ายอะไรไปในชีวิตประจำวันบ้าง แล้วอะไรที่ลดแล้ว ความสุขไม่ได้หายไป แถมช่วยให้ประหยัดขึ้นและมีเงินเก็บเพิ่มอีกด้วย 

  • รู้ทันความคุ้มค่า 
จากการเปรียบเทียบราคาสินค้าก่อนตัดสินใจซื้อ จะช่วยให้เราใช้จ่ายแบบคุ้มค่าที่สุด ความคุ้มค่าคือ การเทียบคุณภาพหรือปริมาณของที่เราซื้อ กับ เงินที่เราจ่าย มีความสมเหตุสมผลหรือไม่ ซึ่งทำได้โดยเปรียบเทียบกับสินค้าประเภทเดียวกัน ที่คุณภาพใกล้เคียงกัน

เช่นากต้องการซื้อน้ำยาล้างจน 1 ขวด ก็ไปเทียบน้ำยาล้างจานที่คุณภาพพอ ๆ กัน
ยี่ห้อ A ราคา 50 บาท มีปริมาณ 550 มล. มีราคา 0.09 บาทต่อหน่วย
ยี่ห้อ B มีราคา 45 บาท มีปริมาณ 450 มล. ดังนั้น มีราคา 0.1 บาทต่อหน่วย
จะเห็นว่า หากดูผิวเผิน ยี่ห้อ B ราคาถูกกว่า แต่แท้จริงแล้ว ยี่ห้อ A มีราคาต่อหน่วยถูกกว่า คุ้มค่ากว่า
ดังนั้น ก่อนตัดสินใจซื้อ เราควรเทียบปริมาณต่อหน่วยก่อน เพื่อให้แน่ใจว่าการซื้อของเราคุ้มค่าที่สุดแล้ว

  • รู้ทันการตลาด 
ระวังตกเป็นเหยื่อการตลาด! แผนการตลาดเป็นอะไรที่ล่อใจได้เป็นอย่างดีและยิ่งปัจจุบันที่ซื้อของออนไลน์ได้แค่ปลายนิ้ว  ทำให้เราตัดสินใจซื้อสิ่งที่ไม่จำเป็นได้อย่างง่าย มารู้ตัวอีกทีก็เสียเงินไปเรียบร้อย 

ตัวอย่างการตลาดยอดฮิตที่มักพบบ่อย ๆ : หากซื้อครบ 500 บาท รับส่วนลดเพิ่ม 50 บาท ทั้ง ๆ ที่เราต้องการซื้อเพียง 100 บาท พอเห็นแบบนี้ล่ะก็.. เอาให้ครบ 500 บาท ไปเลยดีกว่า ทำให้เราเผลอซื้อของเกินความจำเป็น
เพราะคิดว่าคุ้มจากการได้ส่วนลด  รืโปรโมชั่น 11.11 / 12.12  / 1. สินค้าต่างลดกระหน่ำในวันนี้ เราก็ต้องจัดสิครัช.. ทั้งที่ตอนแรกก็ไม่ได้อยากได้อะไร แต่พอเข้าไปดูเห็นว่าลดราคา เลยซื้อดีกว่าเพราะ… คุ้ม! 

หลายคน ตกเป็นเหยื่อการตลาดแบบนี้อยู่หลายครั้ง พอมาคิดดี ๆ จริง ๆ แล้ว เราไม่จำเป็นต้องซื้อ และเมื่อเราไม่ซื้อ เราก็จะมีเงินเก็บเพิ่มขึ้น วิธีแก้ไขที่ดีที่สุดคือ อย่าเข้าไปดูเลยดีกว่าครับ ยกว้น ได้ลิสต์แล้วว่าเราต้องการอะไร แล้วเราค่อยไปซื้อในช่วงที่ลดราคา แบบนี้ถึงเรียกว่า "รู้ทันการตลาด"



เทคนิคการบริหารรายจ่าย เป็นวิธีที่เราเริ่มได้ทันที เป็นวิธีง่าย ๆ ที่เห็นผลลัพธ์ไว ขอเพียงมีวินัยก็รับรองได้ว่าสุขภาพการเงินจะแข็งแรงขึ้นอย่างแน่นอน สำหรับคนที่สุขภาพการเงินแข็งแรงอยู่แล้ว ก็สามารถนำเทคนิคนี้ไปใช้ได้ เพราะจะช่วยเร่งสปีดให้เพื่อนๆถึงเป้าหมายการเงินได้เร็วขึ้น เมื่อเรารู้เทคนิคการบริหารรายจ่ายให้มีเงินเก็บเพิ่มขึ้นแล้ว แล้วเราจะเก็บเงินอย่างไร? เก็บไว้ที่ไหนดี? ในครั้งหน้าจะมาไขข้อข้องใจเหล่านี้กัน

​​